เมื่อ : 02 ธ.ค. 2566 , 102 Views
ไบโอเทคและวินร็อค ร่วมติดอาวุธเกษตรกรสู้โรคระบาดมันสำปะหลัง

29 พฤศจิกายน 2566 ที่ จ.ชัยภูมิ : ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ องค์การวินร็อค อินเตอร์เนชั่นแนล และสภาเกษตรกรจังหวัดชัยภูมิ รวมพลังแก้ปัญหาโรคมันสำปะหลังที่มีการระบาดครั้งใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน

 

ด้วยเหตุนี้ จึงร่วมกันจัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “การตรวจโรคใบด่างมันสำปะหลังด้วยชุดตรวจ แบบง่าย ทำได้ด้วยตัวเอง” เพื่อเสริมสร้างความรู้และทักษะในการใช้เทคโนโลยีชุดตรวจสอบแบบรวดเร็วในการตรวจโรคใบด่างมันสำปะหลัง โดยจัดขึ้นตามการร้องขอจากสภาเกษตรกรจังหวัดชัยภูมิ และมีเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในจังหวัดชัยภูมิเข้าร่วมทั้งสิ้น 50 คน 

 

นายถาวร คัดวงษ์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดชัยภูมิ ระบุว่า “สภาเกษตรกรจังหวัดชัยภูมิ ได้รับประเด็นปัญหาร้องเรียนจากเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในหลายอำเภอว่ากำลังประสบปัญหาการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง เกษตรกรบางส่วนได้มีการเก็บผลผลิตออกจากแปลงและพบการระบาดในช่วงอายุไม่เกินสามเดือน ซึ่งเกษตรกรได้มีการทำลายมันสำปะหลังที่เกิดโรคแล้วทั้งแปลง” 

 

จังหวัดชัยภูมิจัดเป็นจังหวัดที่มีการผลิตมันสำปะหลังมากเป็นอันดับที่ 4 ของประเทศไทย จากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา พบพื้นที่ที่มีการระบาดจำนวน 6714 ไร่ ในจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งอาจประเมินเป็นมูลค่าความเสียหายได้กว่า 134 ล้านบาท รายงานสถานการณ์ศัตรูพืชไร่ โดยกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร ฉบับวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ระบุพบการระบาดในพื้นที่ 34 จังหวัด รวมจำนวน 173301 ไร่ ทั้งนี้ ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคใบด่างมันสำปะหลัง เกษตรกรได้รับคำแนะนำให้เผาทำลายมันสำปะหลังที่ติดเชื้อเพื่อยับยั้งการระบาด

 

ไบโอเทค สวทช. ได้พัฒนานวัตกรรมชุดตรวจแบบรวดเร็วในรูปแบบ strip test ที่มีหลักการทำงานคล้ายชุดตรวจโควิด-19 ซึ่งมีคุณสมบัติที่ใช้งานง่าย รู้ผลภายใน 15 นาที เพื่อคัดกรองโรคใบด่างมันสำปะหลัง และท่อนพันธุ์มันสำปะหลังปลอดโรค โดย ดร.เกื้อกูล ปิยะจอมขวัญ รองผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) กล่าวว่า “เราคาดหวังให้เกษตรกรและผู้เกี่ยวข้อง สามารถใช้ชุดตรวจคัดกรองโรคใบด่างมันสำปะหลังได้ด้วยตัวเอง เพราะนับเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงในการนำท่อนพันธุ์ติดเชื้อไปเพาะปลูกต่อ ช่วยลดความเสียหายรุนแรงของโรคใบด่างต่อห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมมันสำปะหลังของประเทศ”

 

ด้านนักวิจัยไบโอเทค ดร.อรประไพ คชนันทน์ หัวหน้าทีมวิจัยการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดีและการประยุกต์ใช้ กล่าวเสริมว่า สาเหตุสำคัญของการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว เกิดจากการนำท่อนพันธุ์ที่เป็นโรคใบด่างมันสำปะหลังมาปลูก ในกรณีที่ระบาดรุนแรงสร้างความเสียหายต่อผลผลิตได้ถึง 30-80 เปอร์เซ็นต์ ทีมนักวิจัยฯ จึงได้พัฒนาชุดตรวจแบบรวดเร็วในรูปแบบ strip test สามารถพกพาไปใช้ในภาคสนาม โดยไม่ต้องเก็บตัวอย่างส่งมาตรวจยังห้องปฏิบัติการ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการตรวจคัดกรองและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังในประเทศไทย รวมถึงการตรวจหาเชื้อในขั้นตอนต่าง ๆ ของกระบวนการผลิตต้นพันธุ์มันสำปะหลังปลอดเชื้อ

 

ชุดตรวจโรคใบด่างมันสำปะหลังแบบภาคสนาม เป็นหนึ่งใน 30 เทคโนโลยีที่ได้รับการสนับสนุนในการขยายผลภายใต้โครงการเครือข่ายนวัตกรรมด้านการเกษตรระดับภูมิภาค โดยกระทรวงเกษตร ประเทศสหรัฐอเมริกา โดย นายวิลเลี่ยม สปาร์คส์ ผู้อำนวยการโครงการเรน ยืนยันว่า “ชุดตรวจโรคใบด่างมันสำปะหลัง เป็นนวัตกรรมที่ช่วยรักษาความสม่ำเสมอของปริมาณอุปทานมันสำปะหลัง และมีความสำคัญต่อทั้งโรงงานผลิตแป้งมันและหน่วยงานภายรัฐ ในการที่จะร่วมมือกันให้ประเทศไทยดำรงสถานะประเทศผู้ส่งออกมันสำปะหลังอันดับหนึ่งของโลกไว้ต่อไป”

 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ