เมื่อ : 19 พ.ย. 2566 , 230 Views
GISTDA ดันนวัตกรรมตรวจสอบการสะสมคาร์บอนเพื่อเฝ้าระวังโลกร้อน

17 พฤศจิกายน 2566 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดงานสัมมนา Carbon Atlas 2023 ภายใต้ธีมงาน “Satellite – Powered Carbon MRV for Climate Action นวัตกรรมการติดตามตรวจสอบและรายงานการเปลี่ยนแปลงปริมาณคาร์บอน” โดยการจัดงานในครั้งนี้มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยเข้าร่วมการสัมมนา อาทิ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ และภาคเอกชน ณ ห้องลาเวนเดอร์ 2-3 โรงแรม ทีเค. พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ

 

ดร.สยาม ลววิโรจน์วงศ์ โฆษก GISTDA และผู้อำนวยการสำนักประยุกต์และบริหารภูมิสารสนเทศ กล่าวว่า งานในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนข้อมูล และการเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน ตอบสนองต่อความต้องการใช้บริการนวัตกรรมภูมิสารสนเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจาก GISTDA ได้พัฒนานวัตกรรมที่เกิดจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ มาใช้ในการตรวจสอบ ติดตาม และรายงานผลการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งปกคลุมดิน ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งที่ผ่านมาเราได้ดำเนินโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยข้อมูลภูมิสารสนเทศสำหรับประเทศไทย โดยภายใต้โครงการนี้จะมีการจัดตั้ง ศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ หรือ Centre for Climate Change Information (CCCI) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาข้อมูลโดยสร้างแบบจำลองเพื่อตรวจสอบและติดตามการสะสมคาร์บอนในพื้นที่สีเขียวทั้งประเทศ ทั้งในพื้นที่ป่าบก ป่าชายเลน การสะสมคาร์บอนในดิน และการสะสมคาร์บอนในแหล่งต่างๆ (Carbon pool) ที่ครบถ้วน นอกจากนั้น ยังมีการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเนื่องจากการเผาไหม้ทั้งในพื้นที่ป่า และพื้นที่เกษตรกรรม เช่น นาข้าว อ้อย และข้าวโพด เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญให้กับหน่วยงานอื่น ๆ ไว้ใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมถึงการจัดการไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าว

 

สามารถนำไปใช้ในการกำหนดมาตรการนโยบาย ทั้งในภาพรวมระดับประเทศ และในระดับพื้นที่ เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังเป็นปัญหาที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันแก้ไขปัญหา


โฆษก GISTDA กล่าวต่ออีกว่า การสัมมนาครั้งนี้เราต้องการให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงระบบฐานข้อมูลเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยข้อมูลภูมิสารสนเทศในด้านต่างๆ อาทิหน่วยงานระดับกระทรวง คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีข้อมูลภาพรวมที่ใช้ติดตามสถานะภาพของพื้นที่สีเขียว และการสะสมคาร์บอนทั้งประเทศ และสามารถใช้ข้อมูลสำหรับกำหนดนโยบายสำหรับประเทศไทยเพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ “Carbon Neutrality” ภายในปี ค.ศ. 2050 และ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ “Net Zero Emission” ภายในปี ค.ศ. 2065 นอกจากนั้น หน่วยงานระดับกรมอย่างเช่น กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลแลชายฝั่ง ได้มีการนำข้อมูลไปใช้บริหารจัดการด้วยการเพิ่มศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนในรูปของเนื้อไม้ในพื้นที่รับผิดชอบ เช่น การเพิ่มพื้นที่ปลูกป่าในพื้นที่ป่าชุมชน หรือในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ต่างๆ การป้องกันรักษาป่า การป้องกันไฟป่า ฯลฯ และทั้ง 3 หน่วยงานดังกล่าวนี้ ก็ยังมีความร่วมมือกันในการพัฒนาแบบจำลองที่เกี่ยวข้องกับการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ร่วมกันในอนาคตกับ GISTDA อีกด้วย หรือแม้แต่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์มีความร่วมมือกับ GISTDA เป็นระยะเวลายาวนาน และเป็นหน่วยงานที่ส่งเสริมให้ชุมชนสามารถมีรายได้จากการรักษาป่าในพื้นที่ของป่าชุมชน ก็จะร่วมกันดำเนินการพัฒนาแนวทาง วิธีการที่เหมาะสม สำหรับชุมชน เพื่อลดภาระการวางแปลงสุ่มตัวอย่าง ซึ่งต้องใช้ทั้งแรงงาน งบประมาณ และระยะเวลา จำนวนมาก เพื่อให้สามารถขึ้นทะเบียน การ ซื้อ-ขาย คาร์บอนเครดิต ภายใต้ โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (TVER) ของ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก อบก. ต่อไป หรือกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ก็สามารถนำข้อมูลที่มีความแม่นยำนี้ไปใช้เพื่อจัดทำรายงานแห่งชาติ (National Communication : NC) และรายงานความก้าวหน้ารายสองปี (Biennial Update Report : BUR) เสนอต่อ สำนักงานเลขธิการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ในภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่งข้อมูลที่ได้นี้เป็นที่ยอมรับถึงความโปร่งใสของข้อมูล สามารถตรวจสอบถึงแหล่งข้อมูล และการได้มาซึ่งข้อมูลสำหรับจัดทำรายงาน เป็นต้น


ดังนั้น จะเห็นได้ว่าทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันบูรณาการข้อมูลการพัฒนาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ละลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต