เมื่อ : 17 พ.ย. 2566 , 217 Views
วธ.ร่วมมือภาครัฐ-เอกชน สนับสนุนจังหวัดทั่วประเทศ จัดงานสืบสานประเพณีลอยกระทง พุทธศักราช 2566

เน้นสาระคุณค่า เพื่อเตรียมเสนอขึ้นทะเบียนรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ต่อยูเนสโก
ส่วนกลางชวนเที่ยวงาน “ลอยกระทง สายน้ำแห่งวัฒนธรรม Loy Krathong : River of Culture” ณ วัดอรุณฯ 
รณรงค์ลดขยะมาด้วยกันลอยกระทงร่วมกัน ชวนแต่งไทยเผยแพร่ soft power หนุนท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

วันอังคารที่ 14 พฤศจิกายน 2566 เวลา 17.00 น. กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้จัดงานแถลงข่าวการจัดงานประเพณีลอยกระทง พุทธศักราช 2566 “ลอยกระทง สายน้ำแห่งวัฒนธรรม Loy Krathong : River of Culture” โดยมีนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธาน นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม พร้อมผู้บริหารวธ. และหน่วยงานร่วมจัดได้แก่ พลเรือโท พาสุกรี วิลัยรักษ์ เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารเรือ นายสุรพล  เศวตเศรนี ประธานการจัดงาน Bangkok River Festival 2566  นางอาทินันท์  พีชานนท์ รองประธานกรรมการ บริหารบริษัทไทยกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ร่วมแถลงข่าว จากนั้นประธานพร้อมคณะผู้ร่วมแถลงข่าว ได้ชมกิจกรรมการสาธิตการทำกระทงสวยงามและกระทงสร้างสรรค์ ชมสาธิตการจัดงานประเพณีลอยกระทงตามอัตลักษณ์พื้นถิ่นจากจังหวัดสุโขทัย ตาก เชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม นครพนม นครศรีธรรมราช และลพบุรี จากนั้นได้ร่วมกันลอยกระทง ณ บริเวณศาลาไทย ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

 

นายเสริมศักดิ์ กล่าวว่า ประเพณีลอยกระทงเป็นประเพณีที่สำคัญของคนไทยในฤดูน้ำหลาก ซึ่งแก่นแท้ของประเพณีเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ การรู้คุณค่าของน้ำที่ใช้ในการดำรงชีวิตอันมีต้นกำเนิดจากแม่น้ำลำคลอง เป็นประเพณีที่สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญา วิถีชีวิตและวัฒนธรรมไทยอันงดงาม ปรากฏในรูปแบบของพิธีกรรม การประดิษฐ์กระทง การประดับประทีปโคมไฟในยามค่ำคืน การแสดงมหรสพ และการละเล่นรื่นเริงต่าง ๆ โดยในปี พุทธศักราช 2566 นี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้จัดทำแนวทางขอความร่วมมือหน่วยงานและประชาชนร่วมกันปฏิบัติในเทศกาลประเพณีลอยกระทง พุทธศักราช 2566 ดังนี้
1. ส่งเสริมกิจกรรมที่สร้างสรรค์สามารถพัฒนาต่อยอดจากคุณค่าสาระของประเพณีลอยกระทงเพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจของชุมชนและประเทศ โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในชุมชน และยังคงอัตลักษณ์ของท้องถิ่น
2. จัดกิจกรรมตามประเพณีนิยมของแต่ละท้องถิ่น ใช้กระทงที่ทำจากวัสดุย่อยสลายได้ง่าย ไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 
3. ขอความร่วมมือการจัดสถานที่จัดงานให้มีพื้นที่เหมาะสม กว้างขวาง ไม่แออัด พร้อมให้มีการรณรงค์เรื่องความปลอดภัยทางการจราจรทางบกและทางน้ำ ตลอดจนบริเวณท่าน้ำให้มีความมั่นคง สะดวก และปลอดภัย 
4 ควรงดการจำหน่ายสุรา และเครื่องดื่มมึนเมา และห้ามดื่มกินในบริเวณงานหรือใกล้เคียง งดการเล่นดอกไม้ไฟ พลุ หรือวัสดุที่ก่อให้เกิดอันตรายในที่สาธารณะหรือชุมชน
5. การจัดการแสดงต่าง ๆ สามารถทำได้ตามความเหมาะสม โดยเฉพาะการจัดแสดงวัฒนธรรมของท้องถิ่นที่จะทำให้เด็ก เยาวชน ประชาชนได้เห็นถึงมรดกภูมิปัญญาของไทย เพื่อสร้างรายได้สู่ชุมชน
6. ขอเชิญชวนให้ประชาชน “แต่งไทย ไปลอยกระทง” เพื่อร่วมกันส่งเสริมการใช้ผ้าไทย แสดงถึงเอกลักษณ์การแต่งกายของแต่ละท้องถิ่น เพื่อช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

 


นายเสริมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในปีนี้ กระทรวงวัฒนธรรม ได้กำหนดจัดงาน “ลอยกระทง สายน้ำแห่งวัฒนธรรม Loy Krathong : River of Culture” ในวันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ณ วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การประกวดกระทงสวยงาม-สร้างสรรค์ การแสดงทางวัฒนธรรม นิทรรศการให้ความรู้คุณค่าสาระของประเพณีลอยกระทง การจัดแสดงผลงานของเด็กและเยาวชนที่ได้รับรางวัลจากการประกวดสื่อแนวคิดสร้างสรรค์ ยกระดับวันลอยกระทงท้องถิ่น จาก Local สู่เลอค่า การแสดงจากวงดุริยางค์กรมศิลปากร การแสดงดนตรีลูกทุ่งจากศิลปินที่มีชื่อเสียง การแสดงพื้นบ้าน ตลอดจนการสาธิตอาหารไทย ขนมโบราณ การสาธิตมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชุมชนต่าง ๆ ในโอกาสนี้ ผมขอเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมงานประเพณีลอยกระทง ร่วมกันรักษา สืบสาน ประเพณีลอยกระทง ให้คงคุณค่าความเป็นไทย ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาประเพณีอันเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมให้เป็น Soft Power เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศและขอให้พี่น้องชาวไทยทั้งหลายร่วมงานประเพณีลอยกระทงอย่างมีความสุข ร่วมเป็นเจ้าบ้านที่ดีในการต้อนรับชาวต่างชาติ ที่มาร่วมงานลอยกระทง ให้เกิดความประทับใจในประเพณีไทย และเห็นคุณค่าที่แท้จริงของประเพณีไทย ต่อไป

 

ด้าน นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า ปี 2566 นี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมเพื่อสืบสานคุณค่าสาระของประเพณีลอยกระทง ภายใต้แนวคิดการรณรงค์ให้แต่ละท้องถิ่นรักษาอัตลักษณ์ความเป็นไทยและวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ เน้นเผยแพร่คุณค่าสาระของวัฒนธรรมอันดีงาม ร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม ให้แต่ละครอบครัวใช้กระทงร่วมกัน 1 กระทง สร้างจิตสำนึกรักษาความสะอาดให้แหล่งน้ำหลังจากจัดกิจกรรม โดยกิจกรรมที่จะจัดให้คำนึงถึงความสอดคล้องต่อการที่ประเทศไทยเตรียมเสนอประเพณีลอยกระทง เป็นรายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อองค์การยูเนสโก ซึ่งจะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2567 เนื่องด้วยประเพณีลอยกระทงเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของคนไทยมายาวนาน สะท้อนวิถีชีวิตของคนไทยที่มีความผูกพันกับน้ำอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่การตั้งถิ่นฐานริมน้ำ การใช้น้ำในการทำเกษตรและอุปโภคบริโภคประจำวัน ใช้เป็นเส้นทางสัญจรและเป็นพื้นที่เพื่อการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชน 
นายโกวิท กล่าวต่อว่า จากการศึกษาประเพณีลอยกระทงในเชิงลึกพบว่า เป็นประเพณีที่บ่งบอกวิถีชีวิตคนไทยในหลายมิติ ได้แก่ -ด้านการเกษตร โดยในเดือน 12 ของทุกปีเป็นช่วงเวลาน้ำมาก ชาวนารอเก็บเกี่ยวผลผลิต ลอยกระทงจึงเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้  

-ด้านสังคม ประเพณีลอยกระทงทำให้มีการรวมตัวของผู้คน ร่วมแรงร่วมใจทำกิจกรรมตามความเชื่อและศาสนา ก่อให้เกิดความสมัครสมานสามัคคี  

-ด้านศาสนา เป็นการสร้างจิตสำนึกในการแทนคุณ บำเพ็ญกุศลทำความดีให้จิตใจเบิกบาน  

-ด้านวัฒนธรรม สะท้อนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย ขนบธรรมเนียมประเพณี คติความเชื่อ และนิทานเรื่องเล่า  

-ด้านศิลปกรรม เกิดการคิดค้นประดิษฐ์กระทงในรูปแบบต่าง ๆ ด้วยภูมิปัญญางานดอกไม้ ใบตอง เครื่องหอม และเกิดงานสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ เช่น กระทงรักษาสิ่งแวดล้อมย่อยสลายง่าย อีกด้วย

 

ในด้านความปลอดภัย พลเรือโท พาสุกรี วิลัยรักษ์ เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารเรือ กล่าวว่า กองทัพเรือ เป็นพันธมิตรที่สำคัญของกระทรวงวัฒนธรรมโดยร่วมกันยกระดับประเพณีลอยกระทงให้เป็นประเพณีที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง กองทัพเรือได้สร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน โดยเฉพาะด้านความสงบเรียบร้อยของชาติทางน้ำและทางทะเลงาน “ลอยกระทง สายน้ำแห่งวัฒนธรรม Loy Krathong : River of Culture” ณ วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร ในวันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2566 นี้ กองทัพเรือพร้อมสนับสนุนการจัดงานให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และบรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดงานทุกประการ จึงขอเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมงานได้อย่างมั่นใจ
 

นอกจากนี้ นายสุรพล เศวตเศรนี ประธานการจัดงาน River Festival 2o23 สายน้ำแห่งวัฒนธรรมไทย กล่าวว่า งาน Bangkok River Festival 2o23 จัดขึ้นเป็นปีที่ 9 แล้ว มีกำหนดการจัดงานในระหว่างวันที่ 25 - 27 พฤศจิกายน 2566 ภายใต้แนวคิด “ลำนำ วันเพ็ญ” เน้นหลัก ESG รักษาสิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม และการบริหารจัดการอย่างยั่งยืนในทุกมิติ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนใกล้เคียงพื้นที่จัดงาน จัด ณ 1o ท่าน้ำสำคัญทางประวัติศาสตร์ในกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร / วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร / วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร / วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร / วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร /  ท่ามหาราช / ท่ายอดพิมาน / เอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟร้อนท์ / สุขสยาม ณ ไอคอนสยาม และ ล้ง 1919 และต่างจังหวัดจัด ณ บริเวณถนนรถแก้ว จังหวัดลำพูน ในชื่องาน “Lamphun River Festival 2023” ที่นักท่องเที่ยวจะได้ไหว้พระ ทำบุญ ร่วมกิจกรรมลอยกระทงรักษ์โลก ชมการแสดงทางวัฒนธรรม และดนตรีหลากหลาย ในบรรยากาศความงดงามของสายน้ำยามค่ำคืน ร่วมอุดหนุนสินค้าและเมนูอาหารอันเลื่องชื่อของชุมชน ถือเป็นการสนับสนุนนโยบายรัฐบาล ในการผลักดัน Soft Power ความเป็นไทยและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม อีกด้วย

 

ในส่วนผู้สนับสนุนการจัดงาน Bangkok River Festival 2023 สายน้ำแห่งวัฒนธรรมไทย นางอาทินันท์  
พีชานนท์ รองประธานกรรมการบริหารบริษัท ไทยกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า งาน “ลอยกระทง สายน้ำแห่งวัฒนธรรม” ในครั้งนี้ เป็นการบูรณาการความร่วมมือกับวัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร กระทรวงวัฒนธรรม และบริษัท ไทยเบฟฯ จัดงานเพื่อสืบสานประเพณีทรงคุณค่าที่เป็นอัตลักษณ์ของไทย ให้อยู่คู่สังคมไทย พร้อมสร้างการตระหนักรู้ให้เป็นที่ประจักษ์แก่สังคมโลก ปีนี้ได้สร้างสรรค์พื้นที่บริเวณ “ลานอรุณ” เป็นลานแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย ในรูปแบบของจิตรกรรม การแสดงดนตรีไทย และนาฏศิลป์ไทย  โดยได้เชิญ อาจารย์สมเถา สุจริตกุล ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ประจำปี 2565 มานำเสนอผลงานเพลงที่รังสรรค์ขึ้นเป็นพิเศษเพื่องานลอยกระทงครั้งนี้ บรรเลงโดยวงออเคสตร้า 35 ชิ้นดนตรี ในแบบเพลงร่วมสมัย นอกจากนี้ ยังพร้อมให้การสนับสนุนและงานเทศกาลและประเพณีต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ เทศกาลปีใหม่ และสงกรานต์ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมไทยอันเป็นเอกลักษณ์ และผลักดันให้เป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ในการส่งเสริมวัฒนธรรมไทย Soft Power ไทยให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกและยั่งยืนสืบไป


ทั้งนี้ จึงขอเชิญชวนประชาชนและนักท่องเที่ยว เข้าร่วมกิจกรรมประเพณีลอยกระทง ประจำปี 2566 ในงาน “ลอยกระทง สายน้ำแห่งวัฒนธรรม Loy Krathong : River of Culture” วันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ณ 
วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร และในจังหวัดต่าง ๆ ที่จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริม สืบสานประเพณีวัฒนธรรมไทยให้ยั่งยืน สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.culture.go.th หรือ เฟสบุ๊กกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และ สายด่วนวัฒนธรรม 1765

 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ