เมื่อ : 12 พ.ย. 2566 , 256 Views
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สร้างชื่อเสียง ได้รับรางวัล WIPO Prize และเหรียญรางวัลจากผลงานวิจัยเชิงนวัตกรรมในการเข้าร่วมแสดงและประกวดสิ่งประดิษฐ์ในเวทีนานาชาติ Seoul International Invention Fair 2023 (SIIF2023) ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดย งานพัฒนานวัตกรรมที่สร้างคุณค่า ถ่ายทอดเทคโนโลยี และจัดการทรัพย์สินทางปัญญา สำนักงานผู้อำนวยการและฝ่ายบริหารกลางวิจัย  ศูนย์การเรียนรู้และวิจัยเฉลิมพระเกียรติ 60 ปีเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นำทีมนักประดิษฐ์ส่งผลงานวิจัยเชิงนวัตกรรมเข้าร่วมประกวดสิ่งประดิษฐ์ในเวทีนานาชาติ  Seoul International Invention Fair 2023 (SIIF2023) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 - 4 พฤศจิกายน 2566  ณ ศูนย์การประชุมและนิทรรศการ COEX Convention & Exhibition Center กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี จำนวน 3 ผลงาน โดยได้รับรางวัลสำคัญและเหรียญรางวัลทั้ง 3 ผลงาน 

 

โดยผลงานเรื่อง  “ไอเซดาร์ ลิเวอร์ :  การยกระดับการดูแลสุขภาพในชนบทด้วยการคัดกรองมะเร็งตับด้วยการเรียนรู้เชิงลึกระยะไกล” ทีมนักประดิษฐ์ ได้แก่ ผศ.นพ.ธีรภัทร อึ้งตระกูล ดร.ทศพร เฟื่องรอด และ พญ.ธนิตา ลิ้มศิริ สังกัดวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน คว้ารางวัล WIPO Prize ซึ่งเป็นรางวัลสำคัญจาก World Intellectual Property Organization (WIPO) (National Award for Creativity) และได้รับรางวัล Gold Prize  ผลงานนวัตกรรมดังกล่าว มีเป้าหมายสำคัญในการยกระดับการให้บริการการดูแลสุขภาพในพื้นที่ห่างไกล โดยอาศัยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในการคัดกรองมะเร็งตับและท่อน้ำดี ผ่านการสร้างโมเดลปัญญาประดิษฐ์จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้วยเทคนิคการเรียนรู้เชิงลึก เพื่อตรวจจับรอยโรคมะเร็งตับและท่อน้ำดีบนภาพอัลตราซาวด์สองมิติโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะช่วยให้การคัดกรองมะเร็งตับในพื้นที่ชนบทมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาโรคได้อย่างรวดเร็ว ระบบฯ ถูกออกแบบให้สามารถใช้งานร่วมกับการปฏิบัติทางคลินิก สามารถกระจายการใช้งานระบบฯ ไปในหลายพื้นที่ผ่านเทคโนโลยี Cloud สามารถยกระดับการให้บริการในพื้นที่ห่างไกล โดยยังคงประสิทธิภาพและความแม่นยำสูงสุด

 

ผลงานเรื่อง “ฟิงเกอร์พรินท์ ระบบทำนายเพศจากลายนิ้วมือด้วยเทคนิคอินไลน์ดิจิตอลโฮโลกราฟีและปัญญาประดิษฐ์” ทีมนักประดิษฐ์ ได้แก่ นายพชร ทองลิ้ม สังกัดศูนย์การเรียนรู้และวิจัยเฉลิมพระเกียรติ 60 ปีเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ พว.สาวิตรี สุราทะโก สังกัดโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และ ผศ.ดร.ประธาน บุรณศิริ สังกัดสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้รับรางวัล  Gold Prize โดยผลงานนวัตกรรมดังกล่าว เป็นเทคโนโลยีและกระบวนการใช้ระบบทำนายเพศจากลายนิ้วมือด้วยเทคนิคอินไลน์ดิจิตอลโฮโลกราฟีและปัญญาประดิษฐ์ ถูกออกแบบเพื่อให้ทำนายเพศจากลายนิ้วมือด้วยการถ่ายภาพโฮโลกราฟี ซึ่งเป็นภาพที่มีความคมชัดและความลึกของภาพ จากนั้นนำมาวิเคราะห์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ที่มีความแม่นยำ 99 เปอร์เซนต์ 

 

และสุดท้ายผลงานเรื่อง “อุปกรณ์จำลองการตรวจด้วยเครื่อง MRI เพื่อลดการเคลื่อนไหวบริเวณศีรษะของอาสาสมัครเด็กขณะตรวจ” ทีมนักประดิษฐ์ ได้แก่ อาจารย์ ดร.ฤดีรัตน์  กีรติวิทยายุต อาจารย์ ดร.อุดมชัย เตชะวิภู อาจารย์ ชญานนท์ ภมะราภา สังกัดโรงเรียนรังสีเทคนิค คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ ได้รับรางวัล Silver Prize ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาอุปกรณ์จำลองการตรวจด้วยเครื่อง MRI ที่มีต้นทุนต่ำ จากการวิจัยพบว่า MRI mock-scanner นี้ช่วยให้อาสาสมัครเด็กไม่ตื่นกลัวต่อการเข้ารับการตรวจ MRI และมีการเคลื่อนไหวศีรษะขณะทดสอบน้อยลง 

 

โดยผลงานทั้งหมดได้จัดแสดง ระหว่างวันที่ 1 - 4 พฤศจิกายน 2566 ณ ศูนย์ประชุม COEX Convention & Exhibition Center กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี 

 

ทั้งนี้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีหน้าที่หลักในการส่งเสริมการทำวิจัยและการคิดค้นนวัตกรรมตลอดจนสิ่งประดิษฐ์ ซึ่งสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลและทิศทางการวิจัยของโลก และเพื่อเป็นการเผยแพร่ผลงานการสร้างสรรค์งานของนักวิจัย และนักประดิษฐ์ภายในราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ การนำผลงานไปประกวดในเวทีระดับนานาชาติ อันเป็นเวทีอันทรงเกียรติและได้รับความเชื่อถือจากนักวิจัยและนักประดิษฐ์ทั่วโลกนั้น จึงมีความสำคัญทั้งในแง่ของการได้รับการยอมรับของผลงานในเวทีสาธารณะระดับโลก และเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลงานวิจัยจากนานาประเทศ อันจะเป็นแรงผลักดันให้นักวิจัยขอสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพสูงต่อไป นอกจากนี้ เวทีการประกวดสิ่งประดิษฐ์ในระดับนานาชาตินี้ยังจะเป็นเวทีในการแสวงหาความร่วมมือสำหรับการวิจัยเชิงนวัตกรรมต่อไปด้วย สำหรับการพัฒนาและการเดินทางไปเข้าร่วมแสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์ในเวทีนานาชาติ  Seoul International Invention Fair 2023 (SIIF2023)  การที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้รับรางวัลดังกล่าว นำมาซึ่งความภาคภูมิใจและสร้างชื่อเสียงทั้งทีมนักประดิษฐ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และประเทศไทย ในเวทีระดับสากล

 

ท้ายสุดพันธกิจหลักประการหนึ่งที่สำคัญของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ คือการมุ่งพัฒนาผลงานวิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานวิจัยเชิงนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อการมุ่งสู่การเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นเลิศด้านการวิจัย อันจะนำมาสู่ความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนชาวไทย

 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ