เมื่อ : 10 พ.ย. 2566 , 184 Views
แม่ทัพใหม่ กาตาร์ แอร์เวย์ส ประกาศยุทธศาสตร์พลิกโฉมสายการบิน

วิศวกรบาดร์ อัล เมียร์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของสนามบินนานาชาติฮาหมัด ประกาศนำสายการบินไปสู่ยุคแห่งการเติบโตอย่างยั่งยืน

 

 

(กรุงเทพฯ – 9 พฤศจิกายน 2566) – กาตาร์ แอร์เวย์ส มีความภูมิใจที่จะประกาศให้วิศวกรบาดร์ อัล เมียร์ เข้ารับตําแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มสายการบินกาตาร์ แอร์เวย์ส ภายหลังการเกษียณอายุของ ฯพณฯ อัคบาร์ อัล เบเกอร์ ผู้นำที่มีความโดดเด่นมาเป็นเวลา 27 ปี

 

วิศวกรบาดร์ อัล เมียร์ มีผลงานที่โดดเด่นมากว่าสองทศวรรษ ซึ่งได้ขับเคลื่อนโครงการด้านการบิน การก่อสร้าง และการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ โดยสิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงนโยบายของกาตาร์ แอร์เวย์สในการส่งเสริมผู้นำรุ่นใหม่ ตั้งแต่ปี 2557 วิศวกรบาดร์ อัล เมียร์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของสนามบินนานาชาติฮาหมัด โดยเป็นผู้นําหน่วยงานหลักอย่าง MATAR – บริษัทของกาตาร์ที่ดูแลการดําเนินงานและจัดการสนามบิน กาตาร์ดิวตี้ฟรี บริการการบินกาตาร์ ฝ่ายครัวการบินกาตาร์ ศูนย์กระจายสินค้ากาตาร์ โรงแรมดีอาฟาตินา และอสังหาริมทรัพย์ระดับโลกของกาตาร์ แอร์เวย์ส

 

อัล เมียร์ กล่าวว่า “ฯพณฯ อัคบาร์ อัล เบเกอร์ เป็นผู้ที่มีความสามารถอย่างยิ่ง และได้สร้างชื่อเสียงให้กับกาตาร์ แอร์เวย์สอย่างมั่นคง ตั้งแต่เริ่มต้นจนกลายเป็นสายการบินระดับโลกอย่างทุกวันนี้ ด้วยฝูงบิน 241 ลำ พนักงานกว่า 43000 คน และเส้นทางบินที่ครอบคลุมกว่า 160 ปลายทางทั่วโลก ผมภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้ทำหน้าที่ภายใต้คำแนะนำจากท่าน และขอแสดงความยินดีในการเริ่มต้นบทบาทใหม่ของท่าน"

 

"ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ผมทุ่มเททั้งอาชีพและพลังงานเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของกลุ่มสายการบินกาตาร์ แอร์เวย์ส และผมมีความตื่นเต้นอย่างยิ่งที่จะนำพาสายการบินแห่งชาติของเราเข้าสู่ยุคใหม่ที่ประกอบไปด้วยวัฒนธรรมแห่งความไว้วางใจ และการส่งเสริมซึ่งกันและกันที่เป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จร่วมกันของเราในอนาคต"

 

"ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ผมวางแผนที่จะเน้นการลงทุนตามลำดับความสำคัญและความต้องการของรุ่นต่อไป โดยมุ่งเน้นที่การบูรณาการเทคโนโลยีใหม่ ๆ และการพัฒนาโซลูชันการบินที่ยั่งยืน และปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เรามุ่งมั่นที่จะขยายขอบเขตการให้บริการทั่วโลก ผมภูมิใจในบทบาทของเราในฐานะประตูสู่การต้อนรับที่อบอุ่น และหวังว่าจะได้ยกระดับตำแหน่งของเราเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวยอดนิยมต่อไป"

 

ตลอดระยะเวลาที่วิศวกรบาดร์ อัล เมียร์ ทำงานอยู่ที่สนามบินนานาชาติฮาหมัด เขาได้นำสนามบินผ่านเหตุการณ์สำคัญและความท้าทายที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน รวมถึงวิกฤตโควิด-19 โครงการขยายสนามบินที่มีมูลค่า 1 หมื่นล้านริยาลกาตาร์ (ประมาณ 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก FIFA 2022 ซึ่งส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางผ่านสนามบินมากกว่าหนึ่งล้านคน

 

การเป็นผู้นำของอัล เมียร์มีส่วนสำคัญในการทำให้สนามบินนานาชาติฮาหมัดได้รับการยอมรับว่าเป็น“สนามบินที่ดีที่สุดในโลก” จาก SKYTRAX World Airport Awards ในปี 2564 และ 2565 นอกจากนี้ยังได้รับรางวัล “สนามบินที่ดีที่สุดในตะวันออกกลาง” ต่อเนื่องเป็นเวลา 9 ปีจาก SKYTRAX ซึ่งเป็นผลมาจากการสำรวจความพึงพอใจของผู้โดยสารสนามบินระดับโลกที่ใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรม

 

ก่อนที่จะเข้าร่วมกับสนามบินนานาชาติฮาหมัด วิศวกรบาดร์ อัล เมียร์ ได้ทำงานมานานกว่าทศวรรษกับ United Development Company (UDC) ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กาตาร์ และเป็นหนึ่งในบริษัทก่อสร้างชั้นนำของภูมิภาคอ่าวไทย โดยต่อมาได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ในช่วงเวลานั้น เขาได้ดูแลโครงการหลักของ UDC อย่างโครงการ The Pearl ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาเมืองที่โดดเด่นและมีชื่อเสียงในด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมในกาตาร์

 

ด้วยปริญญาจากสาขาวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยอเมริกันแห่งเบรุต และ มหาวิทยาลัยโคโลราโด วิศวกรบาดร์ อัล เมียร์ ได้นำพื้นฐานทางการศึกษาที่แข็งแกร่งและความรู้เชิงลึกทางธุรกิจ รวมถึงความเชี่ยวชาญทางเทคนิคด้านวิศวกรรมการก่อสร้างและการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่

 

บทบาทใหม่ของเขาในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม ประสบการณ์ของวิศวกรบาดร์ อัล เมียร์ ในการนำโครงการสู่ความสำเร็จ ความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมการบินและการบริหารโครงการ ทำให้เขาเป็นผู้นำในอุดมคติที่จะนำกลุ่มสายการบินกาตาร์ แอร์เวย์สเข้าสู่ยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยความตื่นเต้นและความท้าทาย

 

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มสายการบินกาตาร์ แอร์เวย์ส รายงานผลกำไรที่เพิ่มขึ้น 1.026 พันล้านดอลลาร์ในครึ่งแรกของปีงบประมาณ ซึ่งมีอัตราการเติบโตกว่า 100% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว พร้อมจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 22% เป็น 19 ล้านคน เนื่องจากความสามารถในการบรรทุกสัมภาระที่สูงขึ้น การกลับมาให้บริการของฝูงบินแอร์บัส A350 ความร่วมมือกับพันธมิตรในเครือ oneworld และพันธมิตรเชิงกลยุทธ์อื่น ๆ ในประเทศจีน ยุโรป และออสตราเลเซีย

 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ