มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย และเอ็มเอ็มทีเอช เอ็นจิ้น คว้า 6 รางวัลอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับที่ 4
จากซ้ายไปขวา) นายอลงกรณ์ คณาญาติ ผู้อำนวยการใหญ่สายงานผลิตบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด นายจารึก ศรีภา ผู้อำนวยการใหญ่สายงานผลิต ฝ่ายควบคุมการผลิต บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด นายธีรุตม์ บุตรเลิศเจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายกฎหมายและฝ่ายกลยุทธ์สิ่งแวดล้อม บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด มร. มาซาฮิโระ อะวาโนะ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานวิจัยและพัฒนา บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด นางรัฐทยา วิทยารัตน์ ผู้อำนวยการใหญ่สายงานผลิต บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด นายอุเทน พรหมสนธิ์ ผู้ชำนาญการฝ่ายสายงานผลิต บริษัท เอ็มเอ็มทีเอช เอ็นจิ้น จำกัด ถ่ายภาพร่วมกันที่พิธีมอบรางวัลอุตสาหกรรมวิถีใหม่ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อยู่คู่ชุมชนอย่างยั่งยืน
***********
กรุงเทพฯ – 3 พฤศจิกายน 2566: บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เอ็มเอ็มทีเอช เอ็นจิ้น จำกัด ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับที่ 4 ประจำปี 2565 จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ด้วยความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่และไม่หยุดยั้งในการปรับปรุงกระบวนการผลิตและ การดำเนินงานเพื่อสิ่งแวดล้อมที่โรงงานแหลมฉบัง รางวัลนี้แสดงถึงความสำเร็จครั้งสำคัญเนื่องจากโรงงานดังกล่าวเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส สำหรับจำหน่ายทั้งในประเทศไทยและส่งออกทั่วโลก โดยพิธีมอบรางวัลอุตสาหกรรมวิถีใหม่ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อยู่คู่ชุมชนอย่างยั่งยืน จัดขึ้น ณ ห้องมัฆวานรังสรรค์ สโมสรทหารบก (วิภาวดีรังสิต) กรุงเทพมหานคร
โรงงานของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย และเอ็มเอ็มทีเอช เอ็นจิ้น ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมสีเขียวทั้งหมด 6 รางวัล ได้แก่ 1) โรงงาน 1 และ 2 2) โรงงาน 3 3) สนามทดสอบรถยนต์ 4) โรงงานผลิตเครื่องยนต์ 5) โรงงานปั๊มขึ้นรูป 1 และ 6) โรงงานปั๊มขึ้นรูป 2 และพลาสติก โดยมี มร. มาซาฮิโระ อะวาโนะ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานวิจัยและพัฒนา และนายธีรุตม์ บุตรเลิศเจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายกฎหมายและกลยุทธ์สิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยผู้บริหารฝ่ายการผลิตเป็นผู้แทนรับรางวัลจากนางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย และเอ็มเอ็มทีเอช เอ็นจิ้น ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับที่ 4 ซึ่งมอบให้แก่สถานประกอบการที่ให้ความสำคัญกับความร่วมมือของพนักงานในทุกระดับภายในองค์กรเพื่อส่งเสริมการดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในทุกมิติของการดำเนินธุรกิจจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร นอกจากนี้ยังมุ่งส่งเสริมให้บริษัทฯ มุ่งมั่นสนับสนุนการปฏิบัติงานที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบต่อสังคม มีความโปร่งใส และสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
ด้วยแนวคิดเพื่อสิ่งแวดล้อมและความสำเร็จในการสร้างความยั่งยืนตลอดหลายปีที่ผ่านมา มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ได้รับรองมาตรฐาน IS014001 ตั้งแต่ปี 2544 บริษัทฯ ยังได้รับรางวัลอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับที่ 4 ในปี 2564 และรางวัลการจัดการของเสียที่ดีตามหลัก 3R จากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในปี 2558 และ 2563
มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย และเอ็มเอ็มทีเอช เอ็นจิ้น มีการดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในโรงงานผลิตทุกแห่ง โดยมีเป้าหมายลดของเสีย ลดการใช้พลังงาน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อย่างการนำเทคโนโลยีการพ่นสีฐานน้ำมาใช้ เพื่อช่วยลดปริมาณการปล่อยสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่ายสู่สิ่งแวดล้อม และสร้างระบบการบำบัดน้ำเสียที่สอดคล้องกับการจัดการของเสียที่ดี ด้วยการลดการใช้ (Reduce) การนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) เพื่อลดการใช้น้ำดิบให้น้อยลงและลดการปล่อยน้ำเสียอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาโรงงานด้วยเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้มากกว่า 6100 ตันต่อปี นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังดำเนินโครงการ “Solar for Lives : พลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อชีวิตที่ดีกว่า” โดยจะติดตั้งแผงโซลาร์ในโรงพยาบาลชุมชน 40 แห่งภายใน 10 ปีข้างหน้า
โครงการอุตสาหกรรมสีเขียวของกระทรวงอุตสาหกรรมช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและน่าเชื่อถือให้แก่ภาคอุตสาหกรรมนับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการในปี 2554 ช่วยส่งเสริมความเชื่อมั่นของประชาชนและสร้างเศรษฐกิจสีเขียว กระทรวงอุตสาหกรรมเล็งเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องพัฒนา ปรับปรุง และสร้างความตระหนักถึงผลกระทบของภาคอุตสาหกรรมที่มีต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน
โครงการอุตสาหกรรมสีเขียวโดยกระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการบนพื้นฐานของความสมัครใจของสถานประกอบการที่ต้องการดำเนินธุรกิจให้เป็นมิตรกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนโดยดำเนินการอย่างเป็นระบบใน 5 ระดับ
เพื่อให้แนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียวในกลุ่มสถานประกอบการมีความสอดคล้องกับองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Industrial Development Organization หรือ UNIDO) กระทรวงอุตสาหกรรมได้นำหลักการบริหารจัดการคุณภาพทั่วทั้งองค์กร (Total Quality Management หรือ TQM) ผนวกกับหลักการสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม พัฒนาและปรับปรุงเป็นหลักการของ “อุตสาหกรรมสีเขียว” บนพื้นฐานสำคัญของ 2 เสาหลักคือ การปรับปรุงอย่างต่อเนื่องและการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์กร เพื่อยกย่องความมุ่งมั่นของสถานประกอบการในภาคอุตสาหกรรม รัฐบาลไทยได้มอบรางวัลอุตสาหกรรมสีเขียวให้แก่สถานประกอบการที่มีการปฏิบัติงานด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและมุ่งสู่ความยั่งยืน