เมื่อ : 06 ต.ค. 2566 , 125 Views
งานวิจัยเผยกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ Airbnb ก่อรายได้-สร้างงาน  3.1 หมื่นล้านบาท ดันเศรษฐกิจไทยในปี’65

รายงานวิจัยล่าสุดจากอ็อกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ (Oxford Economics) สำนักงานวิจัยชั้นนำของโลก เปิดเผยว่า Airbnb เป็นหนึ่งในเสาหลักสำคัญของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย โดยในปี 2565 กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ Airbnb สร้างรายได้ 31000 ล้านบาท ให้กับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ประเทศไทย รวมถึงช่วยส่งเสริมการจ้างงานในประเทศไทยเกือบ 56500 ตำแหน่ง* ซึ่งคิดเป็น 1.7% ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต่อจีดีพี

 

นอกจากนี้ ในปี 2565* นักเดินทาง Airbnb มีการใช้จ่ายในประเทศไทย เกือบ 41000 ล้านบาท โดยสร้างรายได้กระจายไปในธุรกิจร้านอาหาร ร้านค้าปลีก การเดินทาง และที่พัก เป็นอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้น 500 % จากปี 2564 และเพิ่มขึ้น 72 % จากปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 โดยค่าใช้จ่ายระหว่างการเดินทางของผู้เข้าพัก Airbnb เฉลี่ยที่ 34000 บาท ต่อทริป

 

นายเจมส์ แลมเบิร์ต ผู้อำนวยการด้านที่ปรึกษาเศรษฐกิจในเอเชีย อ็อกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ กล่าวว่า “หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 Airbnb มีบทบาทที่สำคัญในการรับมือและฟื้นฟูการเดินทางและการท่องเที่ยวของประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม Airbnb กลายเป็นหัวใจสำคัญในการปรับเปลี่ยนกระแสการเดินทางรูปแบบใหม่ซึ่งรวมถึงการท่องเที่ยวกระจายตัวออกสู่ชุมชนต่าง ๆ ในชนบทมากขึ้น ตลอดจนการเดินทางเข้าพักระยะยาวเพิ่มขึ้น เช่น ปรากฏการณ์ที่ผู้คนใช้ชีวิตและทำงานได้จากทุกที่ หรือ Live and Work Anywhere”

 

“นักเดินทางท้องถิ่นเป็นปัจจัยสำคัญในการฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา โดยนักเดินทางไทยเห็นว่าการท่องเที่ยวในประเทศสามารถทดแทนการท่องเที่ยวระหว่างประเทศในวันหยุดได้ การเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวและการเดินทางภูมิภาคต่างๆ จึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวมีการกระจายตัวมากขึ้นในพื้นที่อื่นๆ ที่อยู่นอกจุดหมายปลายทางยอดนิยม”

 

นางมิช โกห์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย ฮ่องกง และไต้หวันของ Airbnb กล่าวว่า “การมีส่วนร่วมในการสร้างรายได้ต่อจีดีพีและการจ้างงานที่ขับเคลื่อนโดยการเดินทางกับ Airbnb ในประเทศไทย ได้สร้างผลทวีคูณต่อเศรษฐกิจ โดยช่วยสนับสนุนธุรกิจท้องถิ่นให้เติบโตขึ้น อาทิ ร้านค้า ร้านอาหาร บาร์ และคาเฟ่ ซึ่งเป็นศูนย์กลางที่สำคัญในการทำให้นักเดินทางเชื่อมต่อกับชุมชน และช่วยให้เกิดการสร้างงานให้กับชุมชนอีกด้วย”

 

นอกจากนี้ รายงานวิจัยพบการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการเดินทาง 2 ประการ ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 คือ การพำนักระยะยาวที่ได้รับการสนับสนุนจากการทำงานที่ยืดหยุ่น  และการท่องเที่ยวที่กระจายตัวออกนอกเขตเมืองมากขึ้น

 

ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดนักเดินทางขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ซึ่งคิดเป็น 14% ของผู้เข้าพักต่างชาติทั้งหมดของ Airbnb โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าพักระยะยาว (การเข้าพัก 28 คืนขึ้นไป) คิดเป็น 35.6% ของจำนวนคืนของการจองที่พักทั้งหมดในประเทศไทยปี 2565* โดยเพิ่มขึ้น 13.9% จากปี 2562

 

“การเข้าพักระยะยาวมีการเติบโตตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา เนื่องจากรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น อีกทั้งจากโครงการ Live and Work Anywhere ของ Airbnb ที่ร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ส่งผลให้จุดหมายปลายทางต่างๆ อย่างประเทศไทยดึงดูดให้นักเดินทางเข้าพักระยะยาวและใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นต่อหนึ่งการเดินทาง ในขณะที่จุดหมายปลายทางทั่วประเทศไทยต่างฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง เรามุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับรัฐบาลและชุมชนเพื่อสร้างเศรษฐกิจการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่เท่าเทียม ครอบคลุม และยั่งยืน” นางมิช โกห์ กล่าวเสริม

 

จากรายงานยังระบุว่า Airbnb ช่วยกระจายผลประโยชน์จากการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวไปยังพื้นที่นอกจังหวัดหลักๆ อย่างกรุงเทพฯ และภูเก็ต เนื่องจากนักเดินทาง Airbnb มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในแหล่งท่องเที่ยวตามภูมิภาคต่างๆ เช่น เกาะสมุย พัทยา และกระบี่ ในช่วงระหว่างปี 2563-2565  ทั้งนี้พบว่า นักท่องเที่ยว Airbnb บนเกาะสมุยมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 12% ในปี 2565* เมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งมากกว่าช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19

 

หมายเหตุ รายงานนี้แสดงผลลัพธ์ในช่วง 12 เดือน อ้างอิงเป็นข้อมูลของปี 2565* โดยรวมเดือนมีนาคม 2566 เป็นการนำเสนอข้อมูลหนึ่งปีแรกหลังจากเปิดการเดินทางระหว่างประเทศอีกครั้ง และมีการใช้อัตราแลกเปลี่ยน ณ เวลาที่ศึกษา โดยใช้ข้อมูลที่เป็นกรรมสิทธิ์จาก Oxford Economics