เมื่อ : 23 ก.ย. 2566 , 147 Views
แดสสอลท์ ซิสเต็มส์ ร่วมมือกับ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เติมเต็มช่องว่างทักษะในห่วงโซ่อุปทานและอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทย
  • ความร่วมมือกันทั่วทั้งระบบนิเวศยานยนต์ คือ กุญแจสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงด้านแรงงานที่สำคัญในภาคการผลิตยานยนต์ของประเทศไทย จากเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ไปสู่นวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV)
  • แพลตฟอร์ม 3DEXPERIENCE และประสบการณ์ Virtual Twin ของแดสสอลท์ ซิสเต็มส์ คือ Game-Changer สำคัญ เพิ่มประสิทธิภาพการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
  • ความร่วมมือระหว่าง แดสสอลท์ ซิสเต็มส์ และ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย มีเป้าหมายร่วมกันจัดการความท้าทายและเพิ่มโอกาสด้านแรงงานภายในระบบนิเวศยานยนต์ พร้อมกำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม

แดสสอลท์ ซิสเต็มส์ (Euronext Paris: FR0014003TT8 DSY.PA) ร่วมมือกับสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) ภาคธุรกิจ ภาควิชาการและภาครัฐบาล ร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางยานยนต์ระดับภูมิภาคที่แข็งแกร่ง

 

หัวใจสำคัญในเป้าหมายการเปลี่ยนจากฐานการผลิตของประเทศไทยไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม การวิจัยและพัฒนาที่เข้มข้นยิ่งขึ้น คือ บุคลากรที่มีทักษะสูงในด้าน R&D และเทคโนโลยีดิจิทัล ที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดในการเป็นผู้นำความก้าวหน้าของเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า ด้วยความร่วมมือกับสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย แดสสอลท์ ซิสเต็มส์ ได้สานต่อความร่วมมือไปยังสถาบันการศึกษาระดับสูง (Institutions of Higher Learning หรือ IHL) และศูนย์ฝึกอาชีพ (Vocational Training Centre) เพื่อหารือถึงวิธีการในการร่วมกันพัฒนาโปรแกรม "ทักษะแห่งอนาคต หรือ Skills of the Future" อย่างเป็นระบบ โดยมีเป้าหมายเพื่อเปิดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ได้รับการพัฒนาโดยเน้นโครงการเป็นศูนย์กลาง (Project Centric) ให้แก่นักวิชาการในสถาบันเหล่านี้ได้ใช้ศักยภาพจากแพลตฟอร์ม 3DEXPERIENCE ที่อุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกต่างใช้แพลตฟอร์มนี้พัฒนาผลิตภัณฑ์ผ่านการจำลองเสมือนจริง (Virtual Twin) และใช้บริหารจัดการวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์

 

อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยมีความได้เปรียบด้านการแข่งขันในการเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่โดดเด่น และอยู่บนเป้าหมายนโยบาย 30@30 ของประเทศ ซึ่งเป็นแผนการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของประเทศไทย โดยตั้งเป้าผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero-Emission EVs) ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในประเทศ ภายในปี ค.ศ. 2030

 

บุคลากรที่เป็นรากฐานสำคัญผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นฐานการผลิตรถยนต์รายใหญ่ของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งสามารถสร้างความได้เปรียบให้แก่ประเทศไทยและสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงของภาคการผลิตยานยนต์ของประเทศไทยจากเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ไปสู่ศูนย์กลางนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEVs) 

 

แม้ว่าอาจเกิดความท้าทายในด้านช่องว่างทักษะ แต่ก็มีโอกาสในการเร่งให้ประเทศไทยเป็น EV Hub ที่โดดเด่นระดับภูมิภาค ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการทำงานและการร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา สถาบันอาชีวศึกษา ผู้นำในอุตสาหกรรม และพันธมิตรด้านเทคโนโลยี

 

แพลตฟอร์ม 3DEXPERIENCE และประสบการณ์ Virtual Twin ของ แดสสอลท์ ซิสเต็มส์ มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาศักยภาพให้แก่บุคลากรในภาคยานยนต์ ด้วยโซลูชั่นการวิจัยและพัฒนา แนวคิดในการออกแบบและด้านวิศวกรรม การผลิต ไปจนถึงบริการหลังการขาย จะช่วยเพิ่มทักษะความสามารถใหม่ ๆ แก่บุคลากร อาทิ การจัดการโครงการ การใช้คอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการออกแบบ (Computer-Aided Design หรือ CAD) การใช้คอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในกระบวนการผลิต (Computer-Aided Manufacturing หรือ CAM) การทำวิศวกรรมระบบและการคำนวณโครงสร้างโดยละเอียด นอกจากนี้ยังรวมถึงเทคโนโลยี Immersive และการจำลองระบบที่ซับซ้อน ระบบมัลติฟิสิกส์สำหรับสร้างแบบจำลอง และกระบวนการในการผลิตต่าง ๆ  โดยยังมีประสิทธิภาพใช้วางแผนสายการผลิตและการประกอบ (Assembly Line) ไปจนถึงการพัฒนาเป็นโรงงานยุค Industry 4.0

 

นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) กล่าวว่า “ความพยายามในการ Upskill และ Reskill ทักษะต่าง ๆ ให้แก่บุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ เมื่ออุตสาหกรรมกำลังเปลี่ยนจากเครื่องยนต์สันดาปแบบเดิมไปเป็นระบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าถือเป็นภารกิจสำคัญของสมาคมฯ เราเชื่อว่าประโยชน์จากแพลตฟอร์มและเทคโนโลยีดิจิทัลที่ล้ำสมัยของ Dassault Systèmes สามารถก่อให้เกิดโอกาสใหม่ ๆ ภายในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคตอันใกล้นี้ และสามารถยกระดับประเทศไทยจากการเป็นศูนย์กลางการผลิต ไปสู่ ศูนย์กลางด้านนวัตกรรม ที่เกี่ยวข้องกับงานออกแบบทางวิศวกรรม การวิจัยและพัฒนาได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น”

 

(ผศ.ดร.อุเทน สุปัตติ อุปนายกฯ ฝ่ายการศึกษาและการพัฒนาบุคลากร สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) และหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยการประยุกต์ใช้งานอิเล็กทรอนิกส์กำลังและการจัดการพลังงาน (PEEM) คณะวิศวกรรมศาสตร์ศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา)

 

ผศ.ดร.อุเทน สุปัตติ อุปนายกฯ ฝ่ายการศึกษาและการพัฒนาบุคลากร สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) และหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยการประยุกต์ใช้งานอิเล็กทรอนิกส์กำลังและการจัดการพลังงาน (PEEM) คณะวิศวกรรมศาสตร์ศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา กล่าวว่า “การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะกำลังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะบุคลากรที่มีทักษะด้านดิจิทัลและวิศวกรรมขั้นสูง ซึ่งความร่วมมือของสถาบันการศึกษา ภาคอุตสาหกรรม และผู้ให้บริการเทคโนโลยีโดยเฉพาะการพัฒนาแนวทางการศึกษาเรียนรู้แบบครบวงจรคือคำตอบสำหรับการพัฒนากำลังคนให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งบุคลากรไม่เพียงได้รับความรู้ทางทฤษฎีเท่านั้น แต่ยังได้รับทักษะการปฏิบัติที่จำเป็นด้านการออกแบบ พัฒนา และปรับใช้โซลูชันซอฟต์แวร์ขั้นสูงร่วมด้วย โดยสมาคมฯ กำลังศึกษาและเตรียมปรับปรุงหลักสูตรการเรียนรู้ EV เพิ่มเติม ผ่านการร่วมมือกับ Dassault Systèmes”

 

(มร. เบนจามิน ตัน ผู้อำนวยการฝ่ายขาย Customer Role Experience ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกใต้ แดสสอลท์ ซิสเต็มส์)

 

มร. เบนจามิน ตัน ผู้อำนวยการฝ่ายขาย Customer Role Experience ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกใต้ แดสสอลท์ ซิสเต็มส์ กล่าวว่า “เราเป็นพันธมิตรกับ EVAT เมื่อปีที่ผ่านมา และร่วมมือกันเชิญชวนสถาบันอาชีวศึกษาและสถาบันการเรียนรู้ในท้องถิ่นมาร่วมสนับสนุนการเปลี่ยนจากเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) แบบเดิมไปเป็นยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เรามีองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่สามารถเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรด้วยทักษะที่ไม่เพียงตอบสนองความต้องการในปัจจุบัน แต่ยังตอบโจทย์ความต้องการในอนาคตของอุตสาหกรรม จากการร่วมมือกันอย่างบูรณาการระหว่างภาควิชาการและผู้มีส่วนได้เสียในระบบนิเวศทั้งหมด ทำให้เราไม่เพียงแต่ขยับลดช่องว่างด้านทักษะเท่านั้น แต่ยังร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เวทีโลกในฐานะศูนย์กลางความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า”