เมื่อ : 04 ก.ย. 2566 , 241 Views
TIJ ระดมศิลปิน NFT หลังกำแพงวาดโอกาสใหม่ ในโครงการ NFTxPrison Project พร้อมเปิดประมูลภาพ NFT Collection คนหลังกรงครั้งแรกในโลก

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) พัฒนาศักยภาพของผู้ต้องขังในด้านทัศนคติ องค์ความรู้ และทักษะในการประกอบอาชีพ ผ่านโครงการ NFTxPrison Project มุ่งให้ความรู้ผู้ต้องขังเกี่ยวกับเทคโนโลยีสื่ออิเล็กทรอนิกส์ NFT การทำวิชาชีพศิลปิน NFT เตรียมความพร้อมก่อนให้ผู้ต้องขังและผู้พ้นโทษได้กลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข

 

ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) กล่าวว่า สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยให้แก่ผู้มีความเกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม และด้วยประสบการณ์ของ TIJ ในการสนับสนุนให้ผู้ต้องขังและผู้พ้นโทษได้กลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข ด้วยการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพของผู้ต้องขังในด้านทัศนคติ องค์ความรู้ และทักษะในการประกอบอาชีพ ทำให้พบเห็นข้อท้าทายในการปรับตัวและประกอบอาชีพของผู้ต้องขังเมื่อพ้นโทษ นั่นคือ การขาดทักษะที่จำเป็นและสอดคล้องกับความต้องการของสังคมที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาทางเทคโนโลยี เช่น Social Media Digital asset Metaverse และ NFT ที่ผู้อยู่ในเรือนจำไม่อาจเข้าถึงได้ ซึ่งรูปแบบของการสร้าง NFT ที่แพร่หลายที่สุดอยู่ในรูปแบบของภาพวาด โดยเหตุผลของการสะสม NFT ไม่ได้ถูกขับเคลื่อนด้วยความงามของภาพ หรือตัวศิลปินที่สร้างสิทธิพิเศษ (utility) หรือ project white paper เท่านั้น แต่เป็น "การเล่าเรื่อง" ที่อยู่ข้างหลังภาพของ NFT และ Branding ที่ชุมชนนั้นรับรู้เกี่ยวกับ NFT Creator คนนั้นๆ ส่วนช่องทางการซื้อขาย NFT จะอยู่บน Blockchain ผ่าน Marketplace ต่างๆ เช่น Opensea Foundation หรือ Knownorigin และอีกหลายๆ Platform เป็นต้น

 

ทั้งนี้ TIJ ได้ดำเนินโครงการพัฒนาศิลปะ NFT แก่ผู้ต้องขัง มุ่งเน้นการให้ความรู้ผู้ต้องขังเกี่ยวกับเทคโนโลยี สื่ออิเล็กทรอนิกส์ NFT การทำวิชาชีพศิลปิน NFT และหลักการในการเล่าเรื่อง Storytelling อันเป็นสิ่งสำคัญในการเล่าเรื่องเบื้องหลังของภาพ เพื่อให้ภาพนั้นมีความโดดเด่นและมีจุดขาย แม้จะต้องเผชิญความท้าทายจากการที่ไม่สามารถนำอุปกรณ์ดิจิทัลเพื่อการวาดภาพ NFT เข้าไปสอนผู้ต้องขังได้ นอกจากนี้ ผู้ต้องขังยังได้รับการฝึกสอนงานศิลปะมาจากการลอกลายหรือลอกแบบงานมากกว่าการใช้จินตนาการของตนเอง ทำให้ต้องใช้เวลาในการเปิดใจให้พวกเขาได้เรียนรู้ที่จะสร้างสรรค์ผลงานจากความคิดของตนเอง และเมื่อได้ภาพมา คณะทำงานจึงได้นำภาพเหล่านั้นมาทำสำเนาเป็นดิจิทัลอีกที ซึ่งนับว่าโครงการประสบความสำเร็จในการส่งเสริมให้ผู้วาดภาพในเรือนจำถึง 60 คน เข้าร่วมโครงการ และมีจินตนาการในการถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตและเรื่องราวของตนเองออกมาได้มากกว่า 100 ภาพ

 

ล่าสุด TIJ ได้ร่วมกับศิลปิน NFT คัดเลือกภาพวาด NFT จำนวน 12 ภาพ จากผู้ต้องขังในเรือนจำพิเศษธนบุรีและเรือนจำกลางชลบุรีที่เข้าร่วมโครงการฯ มาเปิดตัวในงาน “นวัตกรรมเพื่อความยุติธรรมอาเซียน 2023 : หลักนิติธรรม ข้อมูล และอนาคตของระบบยุติธรรม” ด้วยธีม 12 Beauty of Freedom: The NFT Collection โดยในงานมีการให้ความรู้เกี่ยวกับ NFT และการแสดงภาพยนต์สั้น เรื่อง “เรื่องราวหลังกำแพง” โดยรายได้จากการประมูลทั้ง 12 ภาพ รวม 2.6 แสนบาท จะได้รับการจัดสรรแก่ผู้ต้องขังที่เข้าร่วมโครงการ 

 

สำหรับภาพที่ได้รับการประมูลเป็นภาพแรก “Beauty of the Moon” เป็นภาพพระจันทร์เต็มดวงสีเหลืองละมุนตา ทาบบนพื้นหลังสีน้ำเงินเข้มของท้องฟ้าตอนกลางคืน ภาพนี้ถ่ายทอดเรื่องราวจากเสี้ยวขณะหนึ่งที่ผู้ต้องขังได้แหงนขึ้นมองพระจันทร์ยามค่ำคืน หลังจากเข้าไปอยู่หลังกำแพงมานานหลายปี และต้องเข้าเรือนนอนในเวลา  16.00 น. ทุกวัน ทำให้ไม่ได้เห็นดวงจันทร์เลย กระทั่งวันหนึ่งที่ทำงานในกองเวรจนค่ำ ระหว่างเดินกลับจึงได้เห็นดวงจันทร์ครั้งแรกในรอบหลายปี ทำให้รู้สึกถึงความพิเศษกระทั่งร้องไห้ออกมา

 

“งานครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า การดูแลแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดยังมีแนวทางอื่นที่สามารถทำได้ อย่างการวาดภาพ NFT ที่ก็มีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่พร้อมจะสนับสนุน เมื่อเปิดโอกาส ก็จะได้รับโอกาส นำไปสู่การ reconnect ความเป็นมนุษย์ ต้องขอบคุณกรมราชทัณฑ์ เรือนจำพิเศษธนบุรี และเรือนจำกลางชลบุรีที่ให้โอกาสใหม่ๆ แก่ผู้ต้องขัง ตลอดช่วงระยะเวลาเกือบปีที่ผ่านมา และสุดท้ายนี้อยากให้ทุกท่านที่ร่วมงานได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ครั้งนี้และนำไปต่อยอด เพื่อเป็นประโยชน์ในการให้โอกาสให้คนอีกกลุ่มในสังคม ให้ประเทศไทยมีสังคมที่ดี สร้างสรรค์ และปลอดภัยต่อไป” ดร.พิเศษ กล่าว 

 

คุณอิสรียาห์ ประดับเวทย์ ที่ปรึกษาโครงการ NFTxPrison Project ศิลปินและ NFT Influencer และผู้บุกเบิกวงการ NFT ไทย กล่าวว่า “เรื่องของสังคมกับเรื่องของเทคโนโลยีบล็อกเชนสามารถนำมาผสานกันเพื่อสังคมได้ NFT สามารถช่วยให้มีการระดมทุนช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางได้ ช่วยเล่าเรื่องราว สร้างรายได้ แก้ปัญหาทางจิตเวช ช่วยให้คนที่ไร้การระบุตัวตน รู้สึกไร้ตัวตน หรือตกหล่นจากการรับบริการสวัสดิการสังคม ถูกริดรอนสิทธิมนุษยชน ให้มีตัวตนขึ้นมา โลกดิจิทัลจะช่วยปกป้องคุ้มครองพวกเขาได้” 

 

อย่างไรก็ดี TIJ คาดว่าโครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังได้รับรู้ถึงโอกาสใหม่ๆ ของโลกนอกกำแพง และสร้างกรอบความคิดใหม่ๆ ให้ผู้อยู่ในโลกภายนอก และเสริมคุณค่าให้ผู้ต้องขังได้มีกำลังใจในการกลับสู่สังคม ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกดิจิทัล ด้วยการช่วยให้พวกเขามองเห็นความเป็นไปได้ที่นำพลังจากความคิดสร้างสรรค์และแรงบันดาลใจมาผลักดันให้ใช้ชีวิตอย่างปกติสุขต่อไป