เมื่อ : 27 ส.ค. 2566 , 291 Views
    กรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ประกาศผลรางวัล “โครงการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญา ผลิตภัณฑ์ Young OTOP สู่สากล” พัฒนาศักยภาพเยาวชนสู่ผู้ประกอบการ OTOP รุ่นใหม่

กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับบริษัท พีพี - เอ็นเค โซลูชั่น จำกัด ภายใต้โครงการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาผลิตภัณฑ์ Young OTOP สู่สากล เมื่อวันศุกร์ที่ 25 สิงหาคม 2566 เวลา 10.30 – 15.00 น. ณ ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ ชั้น 3 กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์ได้เล็งเห็นความสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนเพื่อการอนุรักษ์และสืบสาน  ภูมิปัญญาท้องถิ่น มุ่งเน้นให้เยาวชนมีบทบาท และมีส่วนร่วมในการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อพัฒนา การเรียนรู้และเสริมสร้างประสบการณ์ให้กับเยาวชนในการอนุรักษ์ สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น นำความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมสมัยใหม่มาต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP โดยเน้นการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย และประเภทของใช้/ของตกแต่ง/ของที่ระลึก โดยผลิตภัณฑ์ยังคงเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของชุมชนอย่างเด่นชัด มีการสร้างเรื่องราวการปรับปรุงรูปแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ ส่งผลให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ เพื่อเป็นการต่อยอดให้ Young OTOP ได้รับการพัฒนาศักยภาพ เป็นผู้ประกอบการ OTOP รุ่นใหม่ ซึ่งจะทำให้ Young OTOP มีอาชีพ มีรายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจฐานรากมั่นคงและชุมชนพึ่งตนเองได้ ดังนั้น เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เป็นทายาทผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP หรือเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่สนใจ เข้ามามีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาผ้าถิ่นไทย มรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า กรมการพัฒนาชุมชน จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาผลิตภัณฑ์ Young OTOP สู่สากล ขึ้น 

 

โดยในงานได้รับเกียรติจาก ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ มาเปิดงาน โดยมี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ผู้บริหารของกรมการพัฒนาชุมชน และคณะกรรมการตัดสินภายในงาน ได้แก่ นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบลายผ้าและพัฒนาผ้าไทย นายศิริชัย ทหรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบแฟชั่น นายวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบแฟชั่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รวิเทพ มุสิกะปาน ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบแฟชั่น อาจารย์ ดร.กรกลด คำสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบแฟชั่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กิตติกรณ์ นพอุดมพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบลายผ้าและพัฒนาผ้าไทย นางสาวแพรวา รุจิณรงค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตเส้นใยและการย้อมสีธรรมชาติ อาจารย์ ดร.จรัสพิมพ์ วังเย็น ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งทอและการออกแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอและงานหัตกรรม อาจารย์ ดร.ณพงศ ห้อมแย้ม ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์การต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มยุรี ศรีกุลวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการขยายช่องทางการตลาด อาจารย์ ดร.ณัฐวรรธน์ วิวัฒน์กิจภูวดล ผู้เชี่ยวชาญด้านการขยายช่องทางการตลาด 

 

ในวันนี้ก็มาถึงงานสุดท้ายของโครงการ จากเยาวชนเข้าร่วมโครงการกว่า 102 ราย และคัดเลือกให้เหลือเพียง 6 ราย ได้แก่ รางวัลที่ 1 นายเนติพงศ์ กระแสโสม กลุ่มอาชีพทอเสื่อกกเนต จังหวัดชัยภูมิ รางวัลที่ 2 นายธณกร สุขเมตตา ME-D นาทับ จังหวัดสงขลา รางวัลที่ 3  นางสาวเปมิกา เพียเฮียง  นางสาวเปมิกา เพียเฮียง จังหวัดลพบุรี และ รางวัลชมเชย 3 รางวัล ได้แก่ นายวริศพล สีเทียม กลุ่มคุณโด่งผ้าทอน้ำอ่าง จังหวัดอุตรดิตถ์  นางสาวดุจกมล จันทรเกษม Pawana Design จังหวัดเชียงใหม่ นายกิตติศักดิ์ วิลันดร กลุ่มจักสานวัสดุธรรมชาติ จังหวัดหนองคาย ซึ่งผู้จัดงานขอแสดงความยินดี กับน้อง ๆ เยาวชนทุกท่าน ด้วยที่ได้รับรางวัลอันทรงคุณค่า ประกาศนียบัตร และ โล่รางวัลจากท่านหญิงสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา