“สปอนเซอร์” เปิดข้อมูลโภชนาการ “สปอร์ตดริงก์” ช่วยเสริมประสิทธิภาพการออกกำลังกายได้อย่างไร
กรุงเทพฯ (11 สิงหาคม 2566) – ในยุคที่เมกะเทรนด์การดูแลสุขภาพ (Health & Wellness) กำลังมาแรง การออกกำลังกายกลายเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่มุ่งเน้นประโยชน์เพื่อการเผาผลาญพลังงาน ดูแลรูปร่าง และเสริมสร้างกล้ามเนื้อ แต่อาจลืมนึกไปว่า เมื่อออกกำลังกายจนเกิดการเสียเหงื่อ สิ่งที่ร่างกายสูญเสียไปไม่ใช่เพียงแค่น้ำเท่านั้น เพราะมีการสูญเสียเกลือแร่หรืออิเล็กโทรไลต์ที่จำเป็นต่อการทำงานของร่างกาย หากไม่ได้รับการชดเชยที่เหมาะสม จะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการออกกำลังกายและสุขภาพได้เช่นกัน การทดแทนน้ำและอิเล็กโทรไลต์กลับสู่ร่างกายจึงเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง
กลุ่มธุรกิจ TCP ผู้ผลิตและจัดจำหน่าย “สปอนเซอร์” ผู้นำตลาดเครื่องดื่มเกลือแร่มายาวนานกว่า 39 ปี มุ่งมั่นขยายฐานผู้บริโภคผ่านการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการออกกำลังกายและสปอร์ตดริงก์ สนับสนุน “งานประชุมวิชาการโภชนาการเพื่อการกีฬาและออกกำลังกาย ครั้งที่ 1” ในหัวข้อ “อิเล็กโทรไลต์ กับการเสริมสมรรถภาพในการเล่นกีฬาและออกกำลังกาย” (Electrolyte: Enhancing Sports and Exercise Performance) ร่วมกับสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการออกกำลังกายอย่างมีประสิทธิภาพและสุขภาพที่ดี โดยมีนักวิชาการจากสถาบันต่างๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการอาหารและการออกกำลังกาย และนักวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้าร่วมการประชุมกว่า 100 คน
เราเสียอะไรไปกับเหงื่อบ้าง…ทำไมเวลาออกกำลังกายถึงเป็นตะคริว?
รศ. พ.ต. ดร.รุ่งชัย ชวนไชยะกูล จากวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายถึงกระบวนการระบายความร้อนของร่างกายว่า “ระหว่างออกกำลังกาย ร่างกายจะสูญเสียน้ำจากการหายใจออกเป็นไอน้ำ 10-15% และกว่า 60% จะถูกขับออกทางผิวหนังในรูปแบบของเหงื่อ ถ้าออกกำลังกายนานขึ้นก็จะสูญเสียอิเล็กโทรไลต์ เป็นสาเหตุที่เหงื่อของเรามีรสเค็ม ขณะเดียวกัน ร่างกายยังต้องส่งพลังงานไปยังกล้ามเนื้อที่ใช้งานอยู่ ดังนั้นเมื่อสูญเสียทั้งน้ำ อิเล็กโทรไลต์ และพลังงาน อาจเกิดการขาดสมดุล ทำให้กล้ามเนื้อขาดพลังงาน เกิดความล้าและเป็นตะคริวได้ เครื่องดื่มเกลือแร่จะเข้ามาทดแทนสิ่งที่ร่างกายเสียไป โดยมีโซเดียมเป็นอิเล็กโทรไลต์ตัวหลัก ช่วยให้น้ำและสารอาหารดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้อย่างรวดเร็ว เมื่อได้รับการทดแทนพลังงานกลับมา กล้ามเนื้อก็จะสามารถทำงานต่อไปได้ และออกกำลังกายได้นานขึ้น”
ผศ. ดร.คุณัญญา มาสดใส จากคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้คำแนะนำในการชดเชยน้ำและอิเล็กโทรไลต์สำหรับทั้งบุคคลทั่วไปและนักกีฬาว่า “โดยปกติแล้ว ในระหว่างการออกกำลังกาย ควรจิบน้ำทุกๆ 10-15 นาที โดยแต่ละครั้ง ไม่ควรดื่มน้ำเกิน 600 มิลลิลิตร และแบ่งจิบในระหว่างออกกำลังกาย เพื่อป้องกัน Overhydration หรือการได้รับน้ำสูงเกินไป แต่หากการออกกำลังกายเกิน 30 นาที ร่างกายจะเกิดการสูญเสียน้ำ (Dehydration) และอิเล็กโทรไลต์ ซึ่งจำเป็นต้องชดเชยด้วยเครื่องดื่มเกลือแร่ เพื่อให้ระบบการทำงานในร่างกายให้เป็นไปอย่างปกติ และมีประสิทธิภาพ ควรดื่มน้ำชดเชย 1.5 เท่าของน้ำหนักตัวที่เสียไปหลังออกกำลังกาย สำหรับนักกีฬาที่มีการออกกำลังกายหรือฝึกซ้อมที่หนักกว่าคนทั่วไป ควรเลือกเครื่องดื่มเกลือแร่ที่เน้นชดเชยพลังงานในปริมาณที่สูงขึ้น โดยค่อยๆ ดื่มทีละน้อยในระหว่างและหลังการเล่นกีฬา”
ถอดรหัสประโยชน์ของเครื่องดื่มเกลือแร่ในการเสริมประสิทธิภาพการเล่นกีฬาและออกกำลังกาย
ผลจากงานวิจัย[1]ที่นำเสนอใน “งานประชุมวิชาการโภชนาการเพื่อการกีฬาและออกกำลังกาย ครั้งที่ 1” พบว่า เมื่อเทียบกับการดื่มน้ำเปล่า (กราฟแท่งสีน้ำเงิน) และน้ำเปล่าผสมคาร์โบไฮเดรต (กราฟแท่งสีแดง) สังเกตว่าเครื่องดื่มเกลือแร่ (กราฟแท่งสีเขียว) มีส่วนช่วยเสริมสมรรถภาพการออกกำลังกาย โดยช่วยให้นักกีฬาออกแรงได้มากขึ้น (รูปด้านซ้าย) และออกกำลังกายได้ยาวนานขึ้น (รูปด้านขวา) โดยเป็นผลมาจากการที่เครื่องดื่มเกลือแร่มีองค์ประกอบครบทั้งน้ำ อิเล็กโทรไลต์ และคาร์โบไฮเดรต จึงช่วยชดเชยสิ่งที่เสียไปพร้อมกับเหงื่อ รวมถึงให้พลังงานในขณะออกกำลังกายได้ดีกว่าการดื่มน้ำเปล่าหรือน้ำหวาน
[1] โศธิดา นันตะกูล รุ่งชัย ชวนไชยะกูล เมตตา ปิ่นทอง และสายฝน กองคํา. (2560). ผลของเครื่องดื่มทางการกีฬาต่อสมรรถภาพทางกายในชายไทยสุขภาพดีภายหลังการพร่องไกลโคเจน. วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล 17(1) 83-93.
ภาพผลวิจัยเทียบกันระหว่างการดื่มน้ำเปล่า น้ำเปล่าผสมคาร์โบไฮเดรต เครื่องดื่มเกลือแร่ แสดงให้เห็นว่า
เครื่องดื่มเกลือแร่ (กราฟแท่งสีเขียว) ช่วยให้นักกีฬาออกแรงได้มากขึ้น และออกกำลังกายได้ยาวนานขึ้น
อากาศร้อนต้องระวัง.…เครื่องดื่มเกลือแร่ช่วยอย่างไร และออกกำลังกายอย่างไรให้ปลอดภัย
รศ. ดร.เจสัน ไก เว ลี จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ เน้นย้ำถึงสภาพอากาศในประเทศไทยที่มีผลต่อสภาพร่างกายว่า “ประเทศไทยมีสภาพอากาศร้อนชื้น ทำให้การระบายความร้อนของร่างกายผ่านเหงื่อลดลง ในขณะที่ร่างกายยังคงมีอุณหภูมิสูงขึ้นจากการเผาผลาญพลังงานในระหว่างออกกำลังกาย นักกีฬาและคนที่ออกกำลังกายกลางแจ้งจึงมีแนวโน้มเสี่ยงต่อการเกิดโรคลมแดด (Heatstroke) ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินที่อันตรายถึงชีวิต จึงควรดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่เพื่อช่วยชดเชยการสูญเสียน้ำ โดยอุณหภูมิของเครื่องดื่มก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ยิ่งเครื่องดื่มอุณหภูมิต่ำเท่าไร จะยิ่งช่วยลดอุณหภูมิร่างกายลงได้มากขึ้น ทำให้ออกกำลังกายได้อย่างมีประสิทธิภาพและยาวนานขึ้น และลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคลมแดดด้วย นอกจากนี้ ในผู้ที่เพิ่งเริ่มออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา การออกกำลังกายประเภทแอโรบิกในระดับเบา-ปานกลาง การมีช่วงเวลาพักในระหว่างการออกกำลังกาย การจิบน้ำหรือเครื่องดื่มเกลือแร่ในระหว่างออกกำลังกาย ล้วนเป็นวิธีที่ช่วยให้สามารถออกกำลังกายหรือทำงานภายใต้สภาพอากาศร้อนได้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น”
จากรูป: นายสราวุฒิ อยู่วิทยา (ที่ 3 จากขวา) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP และคุณนุชรี อยู่วิทยา (ที่ 4 จากขวา) กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจ TCP ร่วมสนับสนุน “งานประชุมวิชาการโภชนาการเพื่อการกีฬาและออกกำลังกาย ครั้งที่ 1” โดยมี ศ.คลินิก ดร. พญ.นลินี จงวิริยะพันธุ์ นายกสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย (ที่ 4 จากซ้าย) และผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารและโภชนาการจากภาคีเครือข่ายให้การต้อนรับ ณ โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี