เมื่อ : 22 ก.ค. 2566 , 172 Views
เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ ชี้เทรนด์การแพทย์ดึงสตาร์ทอัพทั้งไทยและอาเซียนเติบโต พร้อมชูไฮไลท์ ”เมดิคอลแฟร์ ไทยแลนด์ 2023” ด้วยสตาร์ทอัพพาร์ค พร้อมให้นักลงทุนและผู้ประกอบการจับมือขยายธุรกิจในระดับสากล

กรุงเทพฯ 21 กรกฎาคม 2566 – สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA บริษัท เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย ชี้โอกาสสตาร์ทอัพไทยโตต่อเนื่อง ตอบรับเทรนด์การแพทย์และการดูแลสุขภาพ ทั้งไลฟ์สไตล์การออกกำลังกาย การบริการทางการแพทย์ สังคมสูงวัย พร้อมปัจจัยการเติบโตของเทคโนโลยี ดีพเทค เอไอ ไอโอที ผลักดันสตาร์ทอัพทั้งไทยและอาเซียน พร้อมดึงเม็ดเงินจากนักลงทุนทั่วโลกด้วย "สตาร์ทอัพพาร์ค" ในงานเมดิคอลแฟร์ ไทยแลนด์ 2023 ระหว่างวันที่ 13-15 กันยายน 2566  ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา และ 16-22 กันยายน 2566 ในรูปแบบออนไลน์

 

ดร. กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า NIA ในฐานะหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ส่งเสริมระบบนวัตกรรมและสตาร์ทอัพของประเทศ มีเป้าหมายที่จะผลักดันผู้ประกอบการและนวัตกรให้เติบโตไปอย่างสอดคล้องกับเทรนด์โลก โดยเฉพาะการแพทย์และสุขภาพ ถือเป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์ที่เป็นโอกาสสำคัญอย่างมากสำหรับขยายตัวของสตาร์ทอัพ เพราะสินค้าหรือบริการทางการแพทย์ ต้องใช้เทคโนโลยี และโซลูชันที่ทันสมัย และมีความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ซึ่งทำให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง (ดีพเทค : DeepTech) เช่น ระบบอัตโนมัติ (AI) เทคโนโลยีเสมือนจริง การเชื่อมอินเทอร์เน็ตกับหลากสรรพสิ่ง (IoT) ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ แต่อย่างไรก็ตามพบว่ากลุ่มสตาร์ทอัพด้านการแพทย์และสุขภาพยังขาดพื้นที่ที่เป็นฮับในการเชื่อมโยงนักลงทุนกับสตาร์ทอัพเพื่อขยายโอกาสไปสู่ระดับสากลมากขึ้น และหนุนระบบเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้า ดังนั้น NIA จึงเล็งเห็นความสำคัญของการร่วมนำหน่วยงานในย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธีมาแสดงนวัตกรรมภายในงานเมดิคอลแฟร์ ในโซนของไทยพาวิลเลียน ซึ่งจากการออกบูทในงานเมดิคอลแฟร์ เอเชีย ที่ประเทศสิงคโปร์เมื่อปีที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากนานาชาติเป็นอย่างดี

 

"ธุรกิจที่เกี่ยวข้องการการแพทย์และสุขภาพ สร้างโอกาสให้กับสตาร์ทอัพอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการดูแลสุขภาพ การออกกำลังกาย การฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ การบริการทางการแพทย์ สังคมผู้สูงวัย ฯลฯ ซึ่ง NIA มีความพร้อมที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการให้มีพื้นที่และมีโอกาสเติบโต เห็นได้จากผลการจัดอันดับดัชนีระบบนิเวศทางสตาร์ทอัพโลก ประจำปี 2566 หรือ Global Startup Ecosystem Index 2023 โดย StartupBlink ระบุว่าประเทศไทยได้ลำดับที่ 52 ของประเทศที่มีระบบนิเวศทางสตาร์ทอัพที่ดีที่สุดในโลก ถือเป็นการตอกย้ำว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมได้เป็นอย่างดีหากมีการสนับสนุนทั้งด้านองค์ความรู้ การเชื่อมโยงเครือข่าย และการสนับสนุนเงินลงทุน" ดร. กริชผกากล่าว

 

นางสาวเดฟนี โยว ผู้อำนวยการบริหารโครงการ กลุ่มธุรกิจเฮลท์แคร์ บริษัท เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย กล่าวว่า เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่จัดงานระดับโลกในไทยมากว่า 20 ปี ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพและความพร้อมด้านการแพทย์ของประเทศไทย โดยการจัดงานเมดิคอล แฟร์ ไทยแลนด์ เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2005 และล่าสุดในปีนี้ถือเป็นครั้งที่ 10 แล้ว ซึ่งแต่ละปีมีจำนวนผู้ร่วมงานและนักลงทุนเข้าร่วมงานเพิ่มขึ้นทุกปี สะท้อนถึงทิศทางการการเติบโตของนวัตกรรมเฮลท์เทคของประเทศไทย ในฐานะศูนย์กลางนานาชาติ (Medical Hub)  

 

"สตาร์ทอัพพาร์คเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ภายในงานเมดิคอลแฟร์ ซึ่งเคยจัดมาแล้วทั้งที่สิงคโปร์และประเทศไทย และได้รับการตอบรับอย่างดี โดยภายในสตาร์ทอัพพาร์คประกอบไปด้วยธุรกิจด้านการแพทย์จากทั่วโลก ที่นำสินค้าและนวัตกรรมมาแสดง รวมถึงมีเวทีเสวนาผู้ประกอบการ Start-Up Podium ที่ประกอบด้วยกิจกรรมให้ความรู้ต่างๆ ผ่านการจัดเวทีเสวนา เวทีนำเสนอผลงาน และเวทีอภิปรายของผู้นำอุตสาหกรรมด้านสุขภาพและผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นพื้นที่ให้นักลงทุนได้มาพบกับสตาร์ทอัพ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและโอกาสทางธุรกิจร่วมกัน ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีของสตาร์ทอัพการแพทย์ไทย โดยหนึ่งในสตาร์ทอัพจากประเทศไทยในปีนี้ คือ บริษัท เบรน ไดนามิค เทคโนโลยี จำกัด ที่มานำเสนอนวัตกรรมและเทคโนโลยีเกี่ยวกับระบบตรวจวัดสัญญาสมองและระบบตรวจการนอนหลับ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาคุณภาพชีวิต"  

 

ด้านนางสาวพราว ปธานวนิช ผู้อำนวยการสายงานนวัตกรรม โรงพยาบาลเมดพาร์ค กล่าวว่าโรงพยาบาลเมดพาร์ค มีเป้าหมายในการดึงศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์ของไทย โดยใช้แนวคิดและการปฏิบัติแบบ Integrated Care คำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดของผู้ป่วยเป็นสำคัญ โดยส่งเสริมการศึกษาและงานวิจัย เพื่อสนับสนุนให้เพิ่มพูนองค์ความรู้ของบุคลากรให้ก้าวหน้าอยู่เสมอ นอกจากนี้โรงพยาบาลเมดพาร์คยังเป็นผู้นำด้าน Co-Creation ในอุตสาหกรรมทางการแพทย์ โดยกำหนดตั้งแต่รากฐานโครงสร้างผู้ถือหุ้น ตึกและแผนกในโรงพยาบาลซึ่งออกแบบร่วมกันระหว่างแพทย์เฉพาะทางและสถาปนิก ไปจนถึงการทำนวัตกรรมหรือออกแบบโซลูชันต่างๆ ที่ได้ประโยชน์จากการร่วมมือและแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างสหสาขาวิชาชีพ สร้างความเป็นเจ้าของและความร่วมมือในกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกด้าน ซึ่งจะนำไปสู่ระบบสุขภาพที่ยั่งยืนโดยมีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง

 

นางสาวพราว กล่าวอีกว่า กลุ่มโรงพยาบาลทั้งในภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงกลุ่มเทคโนโลยีทางการแพทย์และสตาร์ทอัพทางการแพทย์ ต้องหันหน้าเข้าหากันเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาที่นับวันยิ่งมีความท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะประเทศไทยที่บุคลากรทางการแพทย์มีจำกัด ยิ่งต้องใช้ความร่วมมือกันระหว่างสหสาขาวิชาชีพเพื่อช่วยให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสามารถบริหารจัดการสุขภาพของตนได้มากยิ่งขึ้น การระบาดของโควิด-19 นับเป็นเรื่องท้าทายสำหรับอุตสาหกรรมทางการแพทย์ แต่ก็เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้พัฒนาและนำเทคโนโลยีที่มีประโยชน์มาใช้มากขึ้น นอกจากนี้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนยังต้องเร่งสร้างบุคลากรให้สอดคล้องกับเทรนด์ของโลกที่มีการแข่งขันสูงขึ้นและมีสิ่งใหม่เกิดขึ้นอยู่เสมอ ซึ่งภายในงานเมดิคอลแฟร์ ถือเป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่จะช่วยระดมความคิดและนวัตกรรมใหม่ๆ ในวงการดูแลสุขภาพได้

 

สำหรับงานเมดิคอลแฟร์ ไทยแลนด์ 2023 ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 กันยายน 2566 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา และระหว่างวันที่ 16-22 กันยายน 2566 ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อขยายโอกาสการเข้าถึงงานให้กว้างขึ้น นอกจากในแวดวงการแพทย์และสุขภาพแล้ว จะขยายไปถึงกลุ่มธุรกิจนำเข้า ส่งออก การศึกษาและวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม และอุตสาหกรรมอีกด้วย ภายในงานมีการจัดแสดงสินค้าอุตสาหกรรมด้านการแพทย์และการดูแลสุขภาพจากหน่วยงานชั้นนำทั่วโลก พร้อมด้วยหัวข้องานประชุมทางการการแพทย์ระดับโลก สามารถติดตามการจัดงานเมดิคอลแฟร์ไทยแลนด์ ครั้งที่ 10 ได้ที่ www.medicalfair-thailand.com