เมื่อ : 26 มิ.ย. 2566 , 254 Views
ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 30 ร่วมปลูกป่าชายเลนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล ลดก๊าซเรือนกระจกมุ่งสู่เป้าหมาย Paris Agreement

ปัญหาภาวะโลกร้อนและการแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศอันเนื่องมาจากการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศที่มากเกินไปได้นำมาสู่ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่หลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยต้องหาทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยประเทศไทยตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ร้อยละ 30 จากปริมาณการปล่อยก๊าซในกรณีปกติ ภายในปี 2573 (จาก Climate Change Management and Coordination)  ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือสนับสนุนจากหลายฝ่าย ทั้งด้านการบริหารจัดการด้านพลังงาน การขนส่ง การกำจัดขยะ การเกษตร ตลอดจนการบริโภคของประชาชนในชีวิตประจำวัน

 

การฟื้นฟูและปลูกป่าชายเลนซึ่งเป็นพรรณไม้ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การอนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเลให้เป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ช่วยลดภาวะโลกร้อนและเป็นการเสริมสร้างรายได้ให้กับชุมชนโดยรอบ อาทิ เป็นแหล่งอาหาร ยา พลังงาน  โดยนักวิชาการมีการประเมินตัวเลขมูลค่าทางเศรษฐกิจไว้ว่า หากมีการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าชายเลนทั้งหมดราว 1.73 ล้านไร่ทั้งทางตรงและทางอ้อม จะมีมูลค่าสูงถึงกว่า 6 หมื่นล้านบาทต่อปี ( ข้อมูลจาก สวทช)

 

นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “โครงการทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 30 นี้ เราพาคณะครูอาจารย์และผู้บริหาร ลงพื้นที่ เพื่อร่วมกันปลูกป่าชายเลน เป็นการช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวในการดูดซับปริมาณคาร์บอนด้วยวิถีธรรมชาติ เนื่องจากได้ประโยชน์และเห็นความสำคัญของการร่วมมือกันในการช่วยกันแก้ไขปัญหาปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุหลักนำไปสู่ภาวะโลกร้อน  ซึ่งเราทุกคนต่างได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้อย่างชัดเจน  นอกจากนี้ การปลูกป่าชายเลนถือว่าเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจ ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนจากทรัพยากรป่าชายเลนในท้องถิ่น  รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอีกด้วย”

 

กิจกรรมในครั้งนี้ โครงการพาคณะเดินทางไปที่ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว จ.ตราด เพื่อศึกษาโมเดลความสำเร็จของการใช้วิถีชีวิตของชาวบ้านที่อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขตามแนว 2 ศาสนา 3 วัฒนธรรม คือศาสนาพุทธและอิสลาม จากวัฒนธรรมชาวไทย ชาวจีนและชาวมุสลิม ที่ต่างความเชื่อและต่างวัฒนธรรม แต่มีความกลมกลืนและคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ที่เป็นเสน่ห์เฉพาะของแต่ละวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี โดยได้รับเกียรติจาก นายพีระ เอี่ยมสุนทร ปลัดจังหวัดตราด มาร่วมต้อนรับคณะและให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ ซึ่งผู้ร่วมกิจกรรมจะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และลงมือทำผลิตภัณฑ์พื้นถิ่น อาทิ ผลิตภัณฑ์หอย-คราฟต์ และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขนมพื้นบ้าน ทองกรอบดอกไม้ ศึกษาระบบนิเวศและการอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยจะได้ลงมือปลูกป่าชายเลน และร่วมกันปล่อยแมงดาทะเลและปูทะเล เพื่ออนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเลให้มีความอุดมสมบูรณ์

 

ดร. ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี กล่าวเพิ่มเติมว่า “การส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติ เช่นการฟื้นฟูและปลูกป่าชายเลน ถือเป็นความหวังสำคัญในการช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน อีกทั้งการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในชุมชน เป็นเรื่องที่ควรนำมาพัฒนาและปฏิบัติควบคู่กันไปเนื่องจากมีความสอดคล้อง และเราสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีความหลากหลายที่เป็นจุดแข็งของประเทศ ก่อให้เกิดการสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลและยั่งยืน”

 

นอกจากนี้ คณะครูอาจารย์ยังได้เยี่ยมชม อนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรอุดมศักดิ์ หรืออนุสาวรีย์สถานยุทธนาวีที่เกาะช้างได้ศึกษาและรับฟังบรรยายข้อมูลประวัติการสู้รบของกองทัพเรือไทยกับเรือรบของฝรั่งเศส เมื่อปีพุทธศักราช 2484 จากอาจารย์สมโภชน์ วาสุกรี ครูภูมิปัญญาไทยด้านภาษาและวรรณกรรม รวมถึงได้ศึกษาโมเดลความเป็นอยู่ของชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว ช่วยให้เกิดความเข้าใจถึง “วิถีชีวิต”  ของการอยู่ร่วมกันของแต่ละวัฒนธรรมที่แตกต่างสามารถมาผสานกันได้อย่างกลมกลืน ซึ่งถือเป็นตัวอย่างของการปฏิบัติตามแนวทางคุณธรรม 5 ประการได้แก่ความพอเพียง การมีวินัย ความสุจริต มีจิตอาสา และกตัญญู  ที่จะช่วยให้เกิดการสร้างพลังบวกให้เกิดขึ้นกับครอบครัว สังคม และประเทศชาติ  อีกทั้งกิจกรรม Workshop การถอดบทเรียนนวัตกรรมศาสตร์พระราชา และการบรรยายเกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและคุณธรรมในยุคดิจิทัล โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม  อจ. อดุลย์ ดาราธรรม นายกสมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย และ ดร. ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี นับว่าเป็นการได้เรียนรู้พัฒนาและบูรณาการความรู้ครบทุกมิติ ทั้งด้านตนเอง สังคม สิ่งแวดล้อม และ วัฒนธรรม

 

โครงการ “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา  จัดโดย บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน)  ร่วมกับ  ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)  คุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ สำนักโครงการและจัดการความรู้ (OKMD) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย และมูลนิธิธรรมดี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ คุณจารุกัญญ์ โทรศัพท์ 099 397 5333  FB : ตามรอยพระราชา-The King’s Journey  LINE :  The King’s Journey