เมื่อ : 20 มิ.ย. 2566 , 150 Views
CEA หนุนคอนเทนต์ไทยส่งออกสู่ตลาดสากล ดึงกูรูระดับโลก เรย์มอนด์-ยูยองอา บ่มเพาะนักสร้างสรรค์คอนเทนต์ไทย

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA หนุนคอนเทนต์ไทยสู่ตลาดสากล เดินหน้า Kick Start ชู 4 อุตสาหกรรมปั้นบุคลากรมืออาชีพ สร้างได้ ขายเป็น ผ่านเวที Content Lab เชิญโปรดิวเซอร์ระดับโลก “เรย์มอนด์ พัฒนวีรางกูล” และ “ยูยองอา” นักเขียนบทชาวเกาหลี ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ และผลักดันพื้นที่ Virtual Media Lab เสริมทัพด้านเทคโนโลยี ร่วมกับ 12 มหาวิทยาลัย พัฒนาแรงงานสร้างสรรค์ พร้อมผนึกภาคเอกชนผลักดันแหล่งเงินทุนรูปแบบต่าง ๆ สนับสนุน Creative Economy มุ่งหน้าขับเคลื่อน Soft Power เสริมแกร่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทย

 

ดร.ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA เปิดเผยว่า “อุตสาหกรรมคอนเทนต์” เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ใช้ส่งออกผ่านนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) โดยมี 4 สาขาอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทยที่น่าจับตามอง และมีศักยภาพส่งออกได้ ประกอบด้วย 

 

1.สาขาซอฟท์แวร์ (เกมและแอนิเมชัน) 

2.สาขาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) 

3.สาขาการกระจายเสียง (Broadcasting) และ 

4.สาขาการพิมพ์ (Publishing) 

 

ปัจจุบันรัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญในการผลักดันอุตสาหกรรมคอนเทนต์ให้ขับเคลื่อนในฐานะ Soft Power โดยมีปัจจัยอ้างอิงจากการจัดอันดับ Global Soft Power Index 2023 โดย Brand Finance Soft Power ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 41 จาก 121 ประเทศทั่วโลก ได้ 42.4 คะแนน โดยเพิ่มขึ้นจาก 40.2 คะแนนในปี 2022 และกลุ่มสาขา Media & Communication ซึ่งเป็น 1 ใน 7 Soft Power Pillars จากเดิมที่มี 2.9 คะแนน ในปี 2022 เพิ่มเป็น 3.3 ในปี 2023 ซึ่งแสดงให้เห็นแนวโน้มของการเติบโตที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมคอนเทนต์มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ภาพยนตร์เรื่อง Hunger คนหิวเกมกระหาย ทาง Netflix ยังเป็นคอนเทนต์ไทย ในหมวดภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศ (Non-English) ที่ติดอันดับ 1 ใน 88 ประเทศทั่วโลก ตอกย้ำถึงศักยภาพอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทยเป็นหนึ่งใน Soft power ที่ส่งออกสู่ตลาดโลกได้อย่างแท้จริง

 

CEA จึงจัดทำแนวทางการพัฒนาศักยภาพองค์ประกอบของอุตสากรรมคอนเทนต์ เพื่อลดจุดอ่อน เสริมจุดแข็ง ทั้งในส่วนของบุคลากร เทคโนโลยี การตลาด ความคุ้มครองลิขสิทธิ์ และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมทั้งการบูรณาการความร่วมมือกับอีกหลายหน่วยงาน เพื่อผลักดันคอนเทนต์ไทยให้ก้าวสู่ตลาดโลกได้อย่างมีศักยภาพ

 

ด้านบุคลากร: ได้จัดโครงการ Content Lab เพื่อเป็นศูนย์กลางการบ่มเพาะ สนับสนุนนักสร้างสรรค์คอนเทนต์ไทย ส่งต่อตลาดในกลุ่ม OTT และ Broadcasting แบ่งเป็น 2 โปรเจ็กต์ คือ 1) กลุ่มภาพยนตร์ และซีรีส์ (Film & Series) โดยเริ่มต้นในการพัฒนาทักษะให้กับแกนหลักของอุตสาหกรรมคอนเทนต์ ประกอบด้วย โปรดิวเซอร์ ผู้กำกับ และนักเขียนบท ผ่านโครงการอบรม ไปจนถึงการสร้าง Project Proposal และ Teaser ให้เกิดขึ้นจริง 

 

โดยมีทุนสนับสนุน พร้อมโอกาสในการ Pitching กับ Streaming Platform และผู้ผลิตภาพยนตร์ 2) กลุ่มดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) ร่วมกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดโอกาสให้นักศึกษาและบุคคลทั่วไปเข้ามาอบรมด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่

 

ด้านเทคโนโลยี: ได้จัดทำโครงการ CEA Virtual Media lab สนับสนุนพื้นที่การทำ Post Production มุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยี AR/VR และ Virtual Production ที่ใช้อย่างแพร่หลายในสาขาภาพยนตร์ โฆษณา เกม แอนิเมชัน และอีเวนต์ โดยจะเริ่มเฟสแรกในปี 2566 เปิดพื้นที่สำหรับนักศึกษาเข้ามาใช้งานโดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยจะมีการ MOU กับ 12 มหาวิทยาลัยเพื่อให้นักศึกษาเข้ามาใช้พื้นที่ ส่วนเฟส 2 ในปี 2567 จะเปิดพื้นที่สำหรับภาคเอกชน โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs เข้ามาใช้บริการ

 

ด้านการสนับสนุนงบประมาณ: CEA สนับสนุนการจัดตั้งกองทุน Private Equity Trust  เพื่อส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ไทย เป็นแหล่งเงินทุนสนับสนุนให้กับนักสร้างสรรค์ไทย ในการผลิตและต่อยอดผลงาน โดยจะมีภาคเอกชนเข้ามาร่วมสนับสนุน ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการพิจารณารายละเอียดต่าง ๆ ในการจัดตั้งกองทุน คาดว่าจะพร้อมเปิดตัวได้ภายใน 1-2 ปี

 

นอกจากนั้น CEA จะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการพัฒนาคอนเทนต์ไทยให้เติบโตได้ทั้งในและต่างประเทศ อาทิ บริษัท เน็ตฟลิกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ลิขสิทธิ์ดนตรี (ประเทศไทย) จำกัด สมาคมการค้าผู้ประกอบการธุรกิจบันเทิงไทย (TECA) สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ สมาคมผู้กับกับภาพยนตร์ไทย เป็นต้น

 

“ประเทศไทยมี Local Content ที่เด่นชัดในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านศิลปวัฒนธรรม หัตถกรรม สถาปัตยกรรม อาหาร บันเทิง ดนตรี ภาพยนตร์ สิ่งเหล่านี้นับเป็นต้นทุนทางวัฒนธรรม เมื่อนำความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยีเข้ามาขับเคลื่อน จะเป็นหนึ่งในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นโมเดลที่สะท้อนภาพลักษณ์ใหม่ของประเทศไทย” ดร.ชาคริต กล่าว

 

กูรูระดับอินเตอร์ แชร์ไอเดียช่วยหนังไทย

สำหรับโครงการ Content Lab เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ปัจจุบันได้เดินทางมาถึงช่วงของการอบรมพัฒนาทักษะเพื่อสร้างผลงาน โดยล่าสุดได้เชิญบุคลากรมืออาชีพมาแบ่งปัน

 

ประสบการณ์ให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย “เรย์มอนด์ พัฒนวีรางกูล” โปรดิวเซอร์ไทยระดับโลก ที่มีผลงานระดับสากล อาทิ Thirteen Lives (2022) ร่วมกับผู้กำกับระดับโลก Ron Howard Tokyo Sonata (2008) Apprentice (2016) และ “ยูยองอา”​ นักเขียนบทภาพยนต์และซีรีส์ชาวเกาหลีที่มีผลงานโดดเด่น อาทิ Thirty Nine (2018) Kim Ji-yong: Born 1982 (2019) Divorce Attorney Shin (2023)

 

“เรย์มอนด์ พัฒนวีรางกูล” โปรดิวเซอร์ไทยระดับโลก กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมภาพยนต์ไทยพบเจออุปสรรคหลายด้าน ทั้งในแง่เงินทุน การสนับสนุนจากภาครัฐ พฤติกรรมของผู้บริโภค รวมทั้งอิทธิพลของสตรีมมิ่งแพลตฟอร์ม (OTT Platform)  ส่งผลให้จำนวนภาพยนตร์ไทยในแต่ละปีลดลงมาก ปัจจุบันมีภาพยนตร์ไทยออกสู่ตลาดไม่ถึง 50 เรื่อง จากจำนวน 100 - 200 เรื่อง ในช่วงก่อนปี ค.ศ. 2000 

 

แนวคิดในการก่อตั้งกองทุนสำหรับผู้ผลิตคอนเทนต์ จะเป็นหนทางหนึ่งในการแก้อุปสรรคของผู้สร้างภาพยนตร์และซีรีส์ในปัจจุบัน ที่ประสบปัญหาขาดเงินทุนและการสนับสนุน ทำให้ต้องอาศัยเงินทุนจากค่ายสตรีมมิ่งแพล็ตฟอร์ม ซึ่งจะเสียโอกาสในการถือครองลิขสิทธิ์ไปในที่สุด ทั้งนี้ หากรัฐบาลหันมาให้ความสำคัญในการสนับสนุนด้านงบประมาณอย่างจริงจังก็จะช่วยแก้ปัญหาที่มีอยู่ออกไปได้มาก

 

แนวทางที่จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทยให้เติบโตและก้าวสู่สากลได้อีกประการหนึ่ง คือ การสร้างเวทีเพื่อแสดงศักยภาพของประเทศไทย เช่นเดียวกับเวทีที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล อาทิ รางวัลปาล์มทองคำ เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ฯลฯ ซึ่งเวที Content Lab ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งที่น่าสนใจนอกจากนั้นประเทศไทยควรมีหน่วยงานศูนย์กลางด้านภาพยนตร์เช่นเดียวกับหลาย ๆ ประเทศ เช่น สภาการภาพยนตร์เกาหลี (Korean Film Council หรือ KOFIC)  เพื่อเป็นตัวแทนในการดำเนินงาน ทั้งการสนับสนุนและพัฒนาวงการภาพยนตร์ไทย 

 

ด้าน “ยูยองอา” นักเขียนบทภาพยนตร์และซีรีส์ชาวเกาหลี กล่าวว่า เส้นทางความสำเร็จของอุตสาหกรรมคอนเทนต์เกาหลีมาจากหลายปัจจัย เช่น การสนับสนุนของภาครัฐที่ค่อนข้างสมบูรณ์ครบวงจร มีการผลิตบุคลากรผู้สร้างสรรค์ผลงานได้ทันการเติบโต มีเงินลงทุนและผู้สนับสนุนอย่างชัดเจน ดังนั้นการที่ CEA มีเวที Content Lab ถือเป็นการสร้างเวทีให้กับคนรุ่นใหม่ได้เข้ามาแสดงวิสัยทัศน์ และพัฒนาตัวเองในสายอาชีพนี้ ซึ่งทั้งเกาหลี หรือฮอลลีวูดก็มีเวทีแบบนี้เช่นกัน

 

สำหรับการเขียนบท ถือ เป็นส่วนหลักในการกำหนดทิศทางของการผลิตคอนเทนต์ และเป็นตัวกำหนดแรงดึงดูดและคล้อยตามของผู้ชม โดยส่วนตัว “ยูยองอา” ระบุว่า ชื่นชมภาพยนตร์ไทยเรื่อง Hunger และ ฮาวทูทิ้ง ที่มีบทน่าสนใจ พร้อมคาแรคเตอร์ที่ชัดเจน ขณะที่หนังสยองขวัญของประเทศไทยถือว่าทำได้ดีเช่นเดียวกับซีรีส์วาย

 

ในโอกาสการมาบรรยายบนเวที Content Lab ในประเทศไทย “ยูยองอา​” ได้แบ่งปันประสบการณ์ให้กับผู้เข้าอบรมในหลายประเด็น เช่น การสร้างพล็อตที่ดี ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ช่วง Set Up Climax และ Ending ซึ่งช่วงแรกถือว่าสำคัญมาก ต้องดึงความสนใจของผู้ชมไว้ให้ได้ตั้งแต่ 15 นาทีแรกการสร้างคาแรคเตอร์ของตัวละครต้องสะท้อนความคิดและการแก้ปัญหาเมื่อเจอสถานการณ์และความเสี่ยงที่เพิ่มระดับมากขึ้น เป็นต้น อีกทั้งยังแนะนำว่า นักเขียนบทต้องเป็นคนช่างสังเกต มีการเรียนรู้ตลอดเวลา ต้องรู้จักตัวละครอย่างละเอียด ต้องพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งรับฟังคำวิจารณ์เพื่อการพัฒนาที่ดีขึ้น

 

สำหรับเส้นทางนักเขียนบทของ “ยูยองอา” เธอเป็นนักศึกษาวิชาเอกภาษาจีนที่ชื่นชอบการเขียนบทกวี เริ่มต้นฝึกเขียนบทตอนมีลูกคนแรก และใช้เวลาถึง 5 ปีในการฝึกฝน ก่อนจะได้รับคัดเลือกเป็นผู้ช่วยนักเขียนบท และหาทางพัฒนาฝีมือจนกลายเป็นนักเขียนบทที่มีผลงานอันโดดเด่นในปัจจุบัน

 

โครงการ Content Lab สร้างสรรค์คอนเทนต์ไทย ดันไกลสู่สากล ในกลุ่มภาพยนตร์ และซีรีส์ (Film & Series) อยู่ระหว่างการจัดเวิร์กช็อปและอบรมผู้เข้าร่วมทั้งหมด 30 ทีม (เม.ย. - มิ.ย. 2566) และจะมีการคัดเลือกทีมที่ได้รับทุนสนับสนุนการผลิตตัวอย่างแบบสั้น จำนวน 10 - 15 ทีม จาก CEA และ ปตท. ในวันที่ 30 มิถุนายน 2566 โดยจะเปิดรอบการนำเสนอผลงานเพื่อโอกาสการผลิตจริง (Pitching Event) ในวันที่ 28 สิงหาคม 2566 ต่อผู้ผลิตภาพยนตร์ ผู้ผลิตซีรีส์ เพื่อต่อยอดต้นแบบคอนเทนต์และผลักดันโปรเจ็กต์นั้นให้ไปได้ไกลในระดับสากลต่อไป

 

#ContentLab #CEA #PTT