เมื่อ : 15 มิ.ย. 2566 , 194 Views
ติดอาวุธเสริมให้แพทย์และบุคลากรในโรงพยาบาลพื้นที่ห่างไกล กับ “โครงการทุนเฉลิมพระเกียรติฯ 60 พรรษา”

เดินหน้าพัฒนาตามปรัชญา “เป็นเลิศเพื่อทุกชีวิต” ล่าสุด “โครงการทุนเฉลิมพระเกียรติเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระชนมายุครบ 60 พรรษา เพื่อพัฒนานักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์สำหรับโรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกล” ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจัดโดย โรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งปฏิบัติงานในโรงพยาบาลในพื้นที่ชนบทห่างไกลให้มีความรู้ ทักษะและความเชี่ยวชาญในการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ ได้จัดอบรมแพทย์และบุคลากรที่เกี่ยวข้องติดต่อกันเป็นปีที่ 5 โดยดำเนินโครงการฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 เป็นต้นมา ปัจจุบันมีแพทย์และผู้ช่วยที่ผ่านการอบรมแล้ว 782  คน กระจายอยู่ใน 72 จังหวัด ช่วยลดขั้นตอนและเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาแก่ผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลอย่างทันท่วงที

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรเชษฎ์ สิริพงษ์สกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนนักอัลตราชาวด์ทางการแพทย์ คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ  

 

“ปัจจุบันวิทยาการและเทคโนโลยีด้านอัลตราซาวด์พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ สามารถตรวจหรือพบเจอความผิดปกติในส่วนต่างๆ ของอวัยวะได้ ทั้งนี้ที่ผ่านมา การรักษาในประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรทางด้านนี้ ส่วนใหญ่เป็นหน้าที่ของแพทย์ผู้รักษา หรือไม่ก็ส่งคนไข้ไปที่โรงพยาบาลใหญ่ๆ โครงการฯ นี้จึงมีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยผลิตนักอัลตราซาวด์หรือพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ให้ทำอัลตราซาวด์เพิ่มมากขึ้น เพื่อจะได้กระจายไปในโรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกล ทำให้คนไข้ได้รับบริการอย่างมีมาตรฐาน และแพทย์สามารถช่วยกันวินิจฉัยของผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาที่เร็วขึ้น ย่นระยะเวลาและค่าใช้จ่าย อีกทั้งลดความทรมานจากการรอคอย 

 

“โดยความท้าทายของโครงการคือแพทย์ค่อนข้างมีภาระงานมาก การลาเพื่อมาเรียนมีข้อจำกัด การลางานมาเรียนทั้งเดือนก็ยากลำบาก ดังนั้นเราจึงปรับเปลี่ยนตามบริบท โดยปรับเนื้อหาภาคบรรยายให้แพทย์เรียนออนไลน์ สามารถซักถามออนไลน์ได้ ส่วนการฝึกทักษะต้องมาฝึกทำที่โรงเรียนฯ หลังจากนั้นก็จะมีการสอบทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ปัจจุบันนี้เราเทรนแพทย์และบุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไปเกือบทั่วประเทศกว่า 90% ซึ่งแพทย์ที่มาเรียนเหล่านี้จะกระจายอยู่ตามโรงพยาบาลอำเภอทั่วประเทศ และโรงพยาบาลทุกแห่งจะมีเครื่องอัลตราซาวด์ อาจมีขนาดเล็ก กลางแตกต่างกันไป แพทย์ที่เรียนไปแล้วก็สามารถใช้เครื่องมือที่โรงพยาบาลที่ตัวเองทำงานอยู่ได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังสามารถให้คำปรึกษาเพื่อนร่วมวิชาชีพ และวิชาชีพอื่นได้ด้วย นอกจากนี้หลังจบโครงการฯ กรณีที่พบปัญหาหรือว่ามีเคสที่ยากต่อการวินิจฉัย โรงเรียนฯ ก็ยังช่วยเหลือ รับปรึกษาและให้คำแนะนำแก่แพทย์ที่อยู่ต่างจังหวัดอย่างต่อเนื่องด้วย”

 

“เท่าที่ผ่านมาโครงการฯ ก็ค่อนข้างประสบความสำเร็จแล้ว แพทย์ที่มาเรียนก็มีความมั่นใจมากขึ้นในการปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลของตนเอง สามารถให้บริการคนไข้จำนวนมากและครอบคลุมมากขึ้น โดยจะเห็นได้ว่าคนไข้ที่วินิจฉัยจากแพทย์ที่เรียนกับเราก็อาจจะเจอโรคมากขึ้น เช่น เจอมะเร็งตับ เจอนิ่วในถุงน้ำดี นิ่วในไต ฯลฯ ซึ่งโรคเหล่านี้ หากเจอเร็วก็สามารถให้การวินิจฉัยและสามารถจัดการผู้ป่วยได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นการนัดหมายไปผ่าตัดหรือว่าให้ยารักษา โดยที่ไม่ต้องรอส่งตัวไปโรงพยาบาลใหญ่”

 

อาจารย์ทรงพล ศรีสิทธิมงคลกล่าวถึงรูปแบบและคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการฯ

“โครงการฯ นี้ เป็นโครงการที่เหมาะสำหรับการรับบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อศึกษาเพิ่มเติมสำหรับใช้ในการวินิจฉัยรอยโรคของคนไข้ โดยคุณสมบัติสำคัญที่โครงการฯ ต้องการคือเป็นแพทย์ใช้ทุนในโรงพยาบาลต่างจังหวัด รวมไปถึงพยาบาล นักรังสีเทคนิค ฯลฯ โดยมีความคาดหวังให้กลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ สามารถทำอัลตราซาวด์ได้มากขึ้น และสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้จากอัลตราซาวด์ให้คนอื่นได้อีกด้วย รูปแบบการอบรม มีลักษณะเป็นการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้และเสริมทักษะ ในรูปแบบ Hybrid ที่มีการเรียนภาคทฤษฎี ในรูปแบบ Online แบบไม่จำกัดระยะเวลาเรียน และสถานที่เรียนผ่าน ระบบจัดการเรียนการสอน Moodle ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กว่า 32 บทเรียน พร้อมทำ Post-Test เพื่อประเมินการเรียนรู้ พร้อมกับเข้ารับการฝึกปฏิบัติที่โรงเรียน โดยสอนอัลตราซาวด์ด้วยเทคนิคทั้งหมด เพื่อประเมินพวกรอยโรคต่างๆ อาทิ ในตับ ถุงน้ำดี ไต เป็นต้น 

 

ท้ายสุด อาจารย์พันธจารีย์ หิรัญรัตน์ พูดถึงความสำเร็จตลอดเส้นทาง 5 ปี

“ถือว่าเป็นโครงการฯ ที่ตอบสนองพระปณิธานขององค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยให้ประชาชนทุกคนได้เข้าถึงการบริการสาธารณสุขให้เท่าเทียม ไม่ว่าจะอยู่ในต่างจังหวัดหรือว่าในพื้นที่ชนบทห่างไกล ทางโรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ คาดหวังว่าบุคลากรทางการแพทย์ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล หรือแม้แต่นักรังสีเทคนิค จะมีส่วนช่วยในการช่วยวินิจฉัยเพื่อให้คนไข้ในพื้นที่ห่างไกล สามารถเข้าถึงการรักษาการรักษาได้รวดเร็วขึ้น ทันท่วงที สำหรับโครงการฯ นี้ดำเนินการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 ตอนนี้เราเดินทางมาถึงรุ่นที่ 25 รวมบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมดที่เข้ารับการอบรมกับเราประมาณ 782 คน จากทั้งหมด 72 จังหวัดทั่วประเทศ”

 

ด้านแพทย์ผู้เข้าร่วมอบรมส่วนหนึ่ง ได้แก่ นายแพทย์ธนาสิทธิ์ วิจิตราพันธ์ รพ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ แพทย์หญิงสุปรีญา วรญาณปรีชาพงศ์ รพ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ และ นายแพทย์ปิยพล มิตรภานนท์ รพ.เพ็ญ จ.อุดรธานี กล่าวถึงประโยชน์ของโครงการฯ นี้ว่า “โดยสรุปจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้านอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้นจะนำไปสู่ความสามารถในการวินิจฉัยที่ดีขึ้น ช่วยให้ผลลัพธ์ด้านสุขภาพดีขึ้น เพราะตรวจพบโรคได้ตั้งแต่เนิ่นๆ และวางแผนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลดีต่อบุคคลและระบบการดูแลสุขภาพโดยรวม ต้องขอขอบคุณโครงการฯ ที่เห็นความจำเป็นและให้ความสำคัญ จัดอบรมความรู้และถ่ายทอดเทคนิคต่างๆ ให้ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย"