เมื่อ : 09 มิ.ย. 2566 , 162 Views
ไบโอเทค จับมือ มจธ. นำคณะเยี่ยมชมโรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ ชี้เป็นแล็บต่อยอดวิจัยระดับสูงเชิงพาณิชย์ หนุนอุตฯ ชีวเวชภัณฑ์ของประเทศ

จากภาพ ซ้ายไปขวา

1. รศ.ดร.ชวิน จันทรเสนาวงศ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาความเป็นสากล มจธ. 
2. ผศ.ดร.ลลิลทิพย์ หอเจริญ นักวิจัย โรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ มจธ. 
3. ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มจธ.
4. ดร.วรินธร สงคสิริ ผอ.กลุ่มวิจัยวิศวกรรมชีวเคมีและชีววิทยาระบบ ไบโอเทค สวทช.
5. รศ.ดร.โสฬส สุวรรณยืน รองอธิการบดี มจธ.บางขุนเทียน 

 

(9 มิ.ย. 66) ที่ มจธ.บางขุนเทียน - ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดอาคารโรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ (NBF) ให้คณะผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัยไทย-สหราชอาณาจักร ในโครงการความร่วมมือวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีววัตถุและวัคซีนด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ และคณะสื่อมวลชน เข้าเยี่ยมชมห้องแล็บเพื่อการวิจัยต่อยอดขั้นสูงจาก Lab-scale สู่ Pilot-scale สำหรับงานเชิงพาณิชย์ พร้อมมีส่วนช่วยพัฒนาศักยภาพบุคลากร องค์ความรู้ และเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง รองรับอุตสาหกรรมชีวเวชภัณฑ์ของประเทศ โดยมีผู้บริหาร มจธ. นำโดย ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม รศ.ดร.โสฬส สุวรรณยืน รองอธิการบดี มจธ.บางขุนเทียน ร่วมด้วย รศ.ดร.ชวิน จันทรเสนาวงศ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาความเป็นสากล พร้อมด้วยทีมนักวิจัยไบโอเทค และ มจธ. ร่วมต้อนรับ และกล่าวแนะนำภาพรวมโรงงานและความร่วมมือ

 

ดร.วรินธร สงคสิริ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวิศวกรรมชีวเคมีและชีววิทยาระบบ ไบโอเทค สวทช. กล่าวถึงความสำคัญและความจำเป็นในการสร้างความร่วมมือสนับสนุนการจัดตั้งโรงงานต้นแบบเพื่อผลิตชีววัตถุและสารมูลค่าสูงของประเทศ ด้วยเล็งเห็นถึงคอขวดของการเชื่อมต่องานวิจัยด้านยาชีววัตถุ (Biopharmaceuticals)  ซึ่งเป็นยาที่ผลิตโดยใช้กระบวนการเทคโนโลยีชีวภาพสู่การทดลองในมนุษย์และเชิงพาณิชย์ ดังนั้นศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. จึงร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดตั้ง “โรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ (National Biopharmaceutical Facility NBF)” ขึ้นในปี 2551 โดยตั้งอยู่ ณ มจธ.บางขุนเทียน 

 

“ไบโอเทคมีการวิจัยและพัฒนาในโรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ หรือ NBF มาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนากระบวนการผลิตชีววัตถุและวัคซีนในระดับห้องปฏิบัติการ ได้หลายแพลตฟอร์มแล้ว เช่น แพลตฟอร์มของ monoclonal antibody ที่เป็นกลุ่มชีววัตถุที่ใช้เป็นยาต้านมะเร็ง แพลตฟอร์ม plasmid DNA และแพลตฟอร์มกลุ่มโปรตีนเพื่อการรักษาโรค เช่น PCV2d ซึ่งเป็นวัคซีนความร่วมมือของไทยโดยไบโอเทค มจธ. และพันธมิตรสหราชอาณาจักรภายใต้ความร่วมมือโครงการ GCRF รวมถึงการวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ BPCL ที่มีการให้บริการวิเคราะห์โปรตีนและสารพันธุกรรม นอกจากนี้ ไบโอเทคและพันธมิตรเอกชนยังได้มีความร่วมมือกับ NBF ในการผลิตวัคซีนสำหรับหมูในโรคอื่นที่เป็นการระบาดในประเทศไทย ได้แก่ PEDV และ PRRS โดยปัจจุบันมีการผลิตธนาคารเซลล์ที่ใช้เพาะเลี้ยงไวรัส ณ โรงงานต้นแบบนี้เรียบร้อยแล้ว” ดร.วรินธร สงคสิริ กล่าว

 

ด้าน ผศ.ดร.ลลิลทิพย์ หอเจริญ นักวิจัย โรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ มจธ. กล่าวว่า โรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ หรือ National Biopharmaceutical Facility (NBF) สร้างขึ้นเพื่อเป็นหน่วยเชื่อมต่องานของนักวิจัยกับการทดสอบยาชีววัตถุและวัคซีนในขั้น pre-clinic และ clinical phase I II โดย NBF มีหน่วยงานที่ครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนากระบวนการผลิตระดับเล็ก (มากกว่าหรือเท่ากับ 5 ลิตร) ระดับ pilot (5 - 30 ลิตร) สำหรับทั้งกระบวนการต้นน้ำ (การหมัก/เลี้ยงเซลล์) และปลายน้ำ (การทำให้สารบริสุทธิ์) ไปจนถึงการผลิตในโรงงานต้นแบบที่มีกำลังการผลิตสูงสุดคือ 2000 ลิตร รวมถึง NBF ยังมีเครื่องมือและห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ชีววัตถุและวัคซีน ที่พร้อมรองรับการวิเคราะห์ตั้งแต่คุณลักษณะเบื้องต้น ไปจนถึงระดับที่ต้องใช้เทคนิคขั้นสูงและเครื่องมือที่ทันสมัย เช่น การวิเคราะห์ลำดับขั้นของสารพันธุกรรม และโปรตีน เป็นต้น

 

“สำหรับวัคซีนในโครงการไทย-สหราชอาณาจักร โครงการมีการพัฒนา candidate vaccine (วัคซีนที่อยู่ระหว่างการคัดเลือก) สำหรับหมู เป็นวัคซีน Porcine Circovirus type 2d (PCV2d) ซึ่งขณะนี้ได้ทดสอบวัคซีนต้นแบบในสัตว์เล็กคือ หนูและกระต่ายไปแล้ว พบว่า วัคซีนต้นแบบสามารถกระตุ้นให้สัตว์สร้างภูมิคุ้มกันที่จำเพาะกับไวรัส PCV2 ได้ และมีแอนติบอดีชนิดลบล้างฤทธิ์ที่ลดการติดเชื้อของไวรัสในระบบเซลล์ได้ อย่างไรก็ตาม ท้ายสุดต้องไปทำการทดลองในสัตว์ที่จะใช้จริง คือ สุกร ซึ่งอาจจะทำในประเทศไทยไม่ได้ เนื่องจากข้อจำกัดของพื้นที่ที่เหมาะสม และการหาหมูที่ไม่ได้ฉีด PCV2 มาก่อน ขณะเดียวกัน ทาง NBF และมหาวิทยาลัยยูนิเวอร์ซิตี้ คอลเลจ ลอนดอน (UCL) ได้มีการทำงานร่วมกันด้านการพัฒนากระบวนการผลิตและขยายขนาดไปที่ 30 ลิตร ซึ่งกระบวนการผลิตดังกล่าว ประสบความสำเร็จด้วยดี สามารถผลิต candidate vaccine PCV2d ได้มากถึง 200000 โดส ต่อขนาดการผลิต 30 ลิตร ดังนั้น ภาพรวมของโครงการนี้คือ อยู่ระหว่างทดลองในหมู และนำผลการศึกษาไปปรึกษากับทาง อย. เพื่อหาแนวทางร่วมกัน สำหรับโอกาสการขึ้นทะเบียนวัคซีนสำหรับสัตว์ที่ผลิตภายในประเทศต่อไป” ผศ.ดร.ลลิลทิพย์ หอเจริญ กล่าว

 

ทั้งนี้ ในการเยี่ยมชมโรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ ทำให้เห็นภาพความสำคัญของการวิจัยต่อยอดเพื่อรองรับอุตสาหกรรมชีวเวชภัณฑ์ของหน่วยงานภาครัฐในประเทศไทย โดยคณะครั้งนี้ได้เข้าเยี่ยมชมหน่วยงาน 3 แห่ง ได้แก่ แห่งแรก ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมกระบวนการชีวภาพ (Bioprocess Research and Innovation Centre BRIC) เพื่อเห็นภาพของการ Scale-up จาก Lab scale สู่ Pilot scale แห่งที่สองคือ ห้องปฏิบัติการ Biopharmaceutical Characterization Laboratory (BPCL) เพื่อเห็นภาพการวิเคราะห์คุณสมบัติลักษณะเฉพาะยาชีววัตถุ เช่น กลุ่มวัคซีน ยา anti-cancer เป็นต้น และแห่งที่สามคือ ส่วนการผลิตโดยใช้ระบบ single-use system ณ อาคารโรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ เพื่อเห็นภาพของการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำโดยมีกำลังการผลิตที่สูงสุด 2000 ลิตร ที่ตั้งอยู่ในโรงงานด้วย

 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ