เมื่อ : 17 มี.ค. 2566 , 211 Views
วช. เชิดชู ศาสตราจารย์ ดร.ศากุน บุญอิต เป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ ประจำปี 2566 จากแนวคิด “Supply Chain Integration” ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ ในโลกหลังโควิด

วันที่ 16 มีนาคม 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงาน NRCT Talk : นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2566 ครั้งที่ 1 สาขาเศรษฐศาสตร์ ศาสตราจารย์ ดร.ศากุน บุญอิต แห่ง คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ขับเคลื่อนแนวคิดงานวิจัยด้านการจัดการซัพพลายเชนจากสภาวะการแข่งขันในปัจจุบันให้กับภาคธุรกิจหลังการระบาดของ COVID-19 ณ ศูนย์จัดการความรู้การวิจัย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

 

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. มีภารกิจที่สำคัญในการให้รางวัลประกาศเกียรติคุณหรือยกย่องบุคคลหรือหน่วยงานด้านการวิจัยและนวัตกรรม โดยเป็นผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการส่วนรวม ซึ่งในปีนี้ วช. ได้มอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัล นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ ศาสตราจารย์ ประจำปี 2566 ให้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.ศากุน บุญอิต คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี แห่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นนักวิจัยที่มีความคิดริเริ่ม ซึ่งเป็นรางวัลที่ วช. มอบให้เป็นประจำทุกปี เพื่อเชิดชูเกียรตินักวิจัยที่มีผลงานโดดเด่น สร้างคุณูปการให้กับวงวิชาการและประเทศชาติ รวมทั้งเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการสร้างแรงจูงใจของนักประดิษฐ์และนักวิจัยที่จะพัฒนานวัตกรรมทางความคิดผลิตและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัย ผลงานประดิษฐ์คิดค้น กิจกรรม ภารกิจ และผลการดำเนินงานเป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลงานและกิจกรรมของ วช. ไปสู่ชุมชนและสาธารณชนให้ได้ทราบและนำไปสู่การใช้ประโยชน์ต่อสังคมของประเทศชาติต่อไป

 

ศาสตราจารย์ ดร.ศากุน บุญอิต แห่ง คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า งานวิจัยด้านการจัดการซัพพลายเชนและการปฏิบัติการการบูรณาการซัพพลายเชน (Supply Chain Integration) การจัดการซัพพลายเชนเพื่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Supply Chain Management) การจัดการการปฏิบัติการและซัพพลายเชนในธุรกิจบริการ (Service Supply Chain Management) และการจัดการซัพพลายเชนและการปฏิบัติการในช่วงระหว่างหลังการหยุดชะงักทางธุรกิจ (Business Disruption) นั้น การจัดการซัพพลายเชน หรือ การจัดการห่วงโซ่อุปทาน มีความจำเป็นสำหรับภาคธุรกิจในแทบทุกอุตสาหกรรมที่ทำให้ทุกภาคธุรกิจคือการวางแผนบริหารจัดการเชิงรุกเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอน การวางแผนบริหารความเสี่ยงที่มุ่งเน้นการพัฒนาเพิ่มผลิตภาพการผลิตและเพิ่มมูลค่าของสินค้าเพื่อก้าวกระโดดไปสู่การเป็นฐานการผลิตและบริการที่โดดเด่น ให้ความสำคัญในการมุ่งมั่นพัฒนางานวิจัยในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ อันจะนำไปสู่การสร้างกลยุทธ์ทางธุรกิจการจัดการกระบวนการเทคโนโลยีสารสนเทศและการพัฒนาองค์กรสู่การวางแผนงานในด้านต่าง ๆ อย่างชัดเจนสู่ความได้เปรียบทางการแข่งขันในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ศาสตราจารย์ ดร.ศากุนฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า “การวิจัยไม่ใช่การนำเสนอ สิ่งที่รู้ แต่เป็นการค้นพบ ความรู้ ที่ผ่านการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบต่อยอดสร้างประโยชน์ทางวิชาการ เหนือสิ่งอื่นใดคือการสร้างประโยชน์ต่อสังคม อย่าหยุดฝัน ทักษะและจินตนาการคือสิ่งสำคัญ”

 

ทั้งนี้ วช. ได้มีการจัดงาน NRCT Talk ขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในครั้งนี้จะเป็นการจัดเรื่องนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2566 เพื่อเป็นเวทีให้นักวิจัยได้นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมผ่านสื่อมวลชนและยังเป็นการเชิดชูนักวิจัยทางด้านสาขาเศรษฐศาสตร์ ที่มีคุณค่า สร้างแรงจูงใจ และกระตุ้นให้นักวิจัยเกิดยกระดับงานวิจัยและนวัตกรรมสร้างองค์ความรู้พื้นฐานทางวิชาการต่อสังคมและเศรษฐกิจส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยดังกล่าวจะนำไปสู่การพัฒนาและเปลี่ยนแปลงโลกแห่งอนาคต สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อสร้าง Business for Better Life & Better Society ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย