วช. ร่วมกับ วว. ใช้งานวิจัยและนวัตกรรมทาง วิทยาศาสตร์ช่วยเกษตรกรในการผลิตดอกเบญจมาศบ้านตาติดด้วยต้นพันธุ์ปลอดโรค และปุ๋ยอินทรีย์เคมีคุณภาพสูง
วันที่ 5 มีนาคม 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้คณะผู้ทรงคุณวุฒิ วช. นำโดย ศ.ดร.พีระศักดิ์ ศรีนิเวศน์ และสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการวิจัย “การเพิ่มผลผลิตและคุณภาพดอกเบญจมาศบ้านตาติดด้วยปุ๋ยอินทรีย์เคมี” โดยมี ดร.กนกอร อัมพรายน์ แห่ง วว. เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ณ บ้านตาติด ตำบลโนนผึ้ง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อติดตามผลสำเร็จของโครงการวิจัยในการขยายผลองค์ความรู้จากงานวิจัยในการผลิตต้นพันธุ์เบญจมาศ โดยใช้นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาและเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรและชุมชน โดยมีนายถิรพุทธิ์ คานทอง เกษตรจังหวัดอุบลราชธานี ผู้บริหาร วว. กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตดอกเบญจมาศบ้านตาติด และเกษตรกรในพื้นที่ ให้การต้อนรับ
ศ.ดร.พีระศักดิ์ ศรีนิเวศน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. กล่าวว่า วช. ได้สนับสนุนการวิจัยแก่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ดำเนินการพัฒนาศักยภาพการผลิตเบญจมาศบ้านตาติดด้วยต้นพันธุ์ปลอดโรคและปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง คณะนักวิจัยได้ดำเนินการพัฒนาต้นเบญจมาศสายพันธุ์ใหม่ เพิ่มความหลากหลายของสายพันธุ์สู่ระบบการผลิตดอกเบญจมาศ โดยใช้องค์ความรู้จากการวิจัย ประสบการณ์ และทรัพยากรพันธุกรรมจากสายพันธุ์ใหม่ที่เป็นต้นแม่พันธุ์ เพื่อการพัฒนาให้เกิดการกลายพันธุ์ และสร้างสายพันธุ์ใหม่ โดยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ วว. กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ฯลฯ ที่ช่วยดำเนินการในการสนับสนุนต้นพันธุ์ การเป็นพี่เลี้ยงทางวิชาการให้เกษตรกร และการสนับสนุนความรู้ในด้านอื่น ที่เป็นการพัฒนาพันธุ์เบญจมาศและการป้องกันไม่ให้เกิดโรค โดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เคมีที่มีคุณภาพ โดยเกษตรกรในชุมชนได้รับองค์ความรู้จากคณะนักวิจัยที่ช่วยแก้ไขปัญหาที่เกษตรกรได้รับ และช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกร และที่สำคัญได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรในพื้นที่ซึ่งมีการรวมกลุ่มการผลิตจนเป็นเกษตรแปลงใหญ่ได้ผลผลิตสูง ได้รับการชื่นชมจากผู้ซื้อจนมีชื่อเสียงพร้อมทั้งได้รับรางวัลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งมีผลมาจากการวิจัยที่ วว. ดำเนินการในเรื่องของการสนับสนุนต้นพันธุ์และการให้ความรู้ในการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่เกษตรกรทำได้เองช่วยลดต้นทุนในการผลิตได้เป็นอย่างดี
ดร. กนกอร อัมพรายน์ หัวหน้าโครงการวิจัย แห่ง วว. กล่าวว่า ได้ใช้พื้นที่บ้านตาติด ในจังหวัดอุบลราชธานี เป็นพื้นที่ดำเนินการวิจัย เนื่องจากมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชน “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตดอกเบญจมาศบ้านตาติด” จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2559 เพื่อการต่อรองราคาในการขายผลผลิตและการซื้อปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย สารเคมีกำจัดศัตรูพืช กระดาษห่อดอก เป็นต้น มีสมาชิก 40 ราย และในปี 2560 กลุ่มฯ ได้รับคัดเลือกให้จัดตั้งกลุ่มแปลงใหญ่เพราะมีศักยภาพในการดำเนินงาน จัดเตรียมและจัดตั้งกลุ่ม “แปลงใหญ่ไม้ดอกบ้านตาติด” สำเร็จในปี 2561 สมาชิก 41 ราย พื้นที่เข้าร่วมโครงการเมื่อแรกเริ่ม 104.75 ไร่ จนปัจจุบันสมาชิกขยายพื้นที่การผลิตเบญจมาศเป็นประมาณ 300 ไร่ นอกจากนี้ กลุ่มฯ มีการขยายองค์ความรู้ในการผลิตต้นพันธุ์ไว้ปลูกเองและจำหน่ายบางส่วน ช่วยสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับสมาชิก และทำให้กลุ่มเป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้ค้าและผู้ซื้อทั่วประเทศ พร้อมกับเป็นศูนย์กลางในการจำหน่ายดอกเบญจมาศในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างทั้งหมด ที่ผ่านมาการผลิตเบญจมาศ พบปัญหามากมาย ไม่ว่าเรื่องสายพันธุ์ที่ไม่แข็งแรง กระบวนการจัดการแปลงผลิตเบญจมาศ โรคและแมลงศัตรูพืช ทีมนักวิจัยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก วช. โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพงค์ จันจุฬา และทีมวิจัยจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ มหาวิทยาลัยราชมงคลธัญญบุรี มหาวิทยาลัยราชมงคล อิสาน มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ร่วมกันแก้ปัญหาให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ โดยใช้นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรจนเป็นผลสำเร็จทำให้เกษตรกรมีพันธุ์เบญจมาศสายพันธุ์ใหม่ และแนวทางป้องกันโรคจากศัตรูพืชได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ คณะผู้ทรงคุณวุฒิ วช. พร้อมด้วยสื่อมวลชนได้เยี่ยมชมผลการดำเนินงานของโครงการวิจัย ณ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตดอกเบญจมาศและแปลงใหญ่ไม้ดอกบ้านตาติด แปลง ปัญญา แปลงแม่นิด แปลงบุญญาพร ทาลา ซึ่งผลสำเร็จของโครงการวิจัยจะนำไปสู่การยกระดับการท่องเที่ยวบนฐานเศรษฐกิจ BCG ด้วยความเป็นเลิศทางงานวิจัยในการพัฒนาพันธุ์ใหม่ที่ดีกว่าพันธุ์เดิม ตรงที่ รูปทรงดอก สีสัน และความคงทนของดอกที่มากขึ้นสู่ตลาดสากลดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาในพื้นที่เพื่อชมความงามของสวนดอกเบญจมาศและสร้างรายได้เข้าสู่ชุมชน ตลอดจนจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน