เมื่อ : 29 ต.ค. 2564 , 1064 Views
กสทช. - กทปส. หนุนการพัฒนาเทคโนโลยีการแพทย์สู้โควิด-19
สนับสนุน รพ.ม.นเรศวร พัฒนาห้องแรงดันลบ ควบคุมด้วย IoT
 
กองทุนวิจัยและพัฒนา ได้มีการจัดสรรทุนประเภทที่ 3 ที่เรียกว่า ทุนตาม กสทช. กำหนด โดยแต่ละปี กสทช. จะมอบนโยบายและมีการส่งเสริมทุนดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2563 ที่ผ่านมา กสทช. ได้ให้ทุนกับสถานพยาบาลของรัฐในการต่อสู้ภัยโควิด จำนวนกว่า 642,550,859 บาท โดยส่วนใหญ่เป็นการให้ทุนเพื่อจัดทำระบบ IoT และ Conference ในห้องผู้ป่วยความดันลบเพื่อเว้นระยะห่างและลดการสัมผัส

สำหรับการมอบทุนในโครงการ “การส่งเสริมและสนับสนุนเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะในการต่อสู้สถานการณ์ “ไวรัสโคโรน่า” สายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) กับสถานพยาบาลของรัฐ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนากิจการโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับงานด้านสาธารณสุข โดยมุ่งเน้นให้เกิดการเว้นระยะห่างทางกายภาพ (Physical distancing) เพื่อต่อสู้สถานการณ์ “ไวรัสโคโรน่า” สายพันธุ์ใหม่ 20219 (COVID-19)  ซึ่งมีสถานพยาบาลภาครัฐนำเสนอโครงการฯ โดยมีการติดตามผลการดำเนินโครงการเพิ่มศักยภาพการให้บริการสุขภาพ เพื่อรองรับการระบาดของโรคโควิด-19 ด้วยห้องผู้ป่วยแรงดันลบและหอผู้ป่วยรวม ชนิดแรงดันลบ(Cohort Ward) ที่ติดตั้งระบบอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง(Internet of thing: IoT) ของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งเป็นสถานพยาบาลของรัฐที่ตั้งอยู่ในเขตภาคเหนือตอนล่างนั้น   

ที่ผ่านมา กทปส. ได้เคยมอบทุนในการพัฒนาโครงการทางด้านการพัฒนาเทคโนโลยีให้กับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และมีการต่อยอดขยายผลเรื่อยมา กับการดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาและนำเทคโนโลยีมาใช้ในทางการแพทย์อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2563  ที่ผ่านมา กสทช. โดย กทปส. เล็งเห็นความสำคัญและถือเป็นเรื่องเร่งด่วนในการดำเนินการเพื่อต่อสู้กับวิกฤตการณ์ไวรัสครั้งนี้ จึงต้องการสนับสนุนให้เกิดการสร้างต้นแบบเพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับสถานพยาบาลทั่วประเทศได้ ขณะนี้ทางคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ประสบผลสำเร็จในการสร้างต้นแบบในการพัฒนาอุปกรณ์เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาผู้ป่วยในครั้งนี้
 


ศาสตราจารย์ นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์ 

  ศาสตราจารย์ นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เปิดเผยว่า สำหรับโครงการเพิ่มศักยภาพการให้บริการสุขภาพ เพื่อรองรับการระบาดของโรคโควิด-19 ด้วยห้องผู้ป่วยแรงดันลบและหอผู้ป่วยรวม ชนิดแรงดันลบ (Cohort Ward) ที่ติดตั้งระบบอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง(Internet of thing: IoT) ของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวรนั้น  สืบเนื่องมาจากประเทศไทยประสบปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่สามารถติดต่อกันได้ง่ายและรวดเร็ว ทำให้ผู้ป่วยบางรายที่เมื่อเกิดพยาธิสภาพในระบบทางเดินหายใจจะทำให้ปอดทำหน้าที่ผิดปกติซึ่งส่งผลถึงขั้นเสียชีวิตได้  

วัตถุประสงค์การดำเนินโครงการฯ เพื่อพัฒนาห้องแรงดันลบแบบปรับปรุงจากห้องผู้ป่วยเดิมพร้อมติดตั้งระบบ Internet of Things (IoT) เพิ่มเติม จึงเป็นการมุ่งสร้างต้นแบบและดำเนินการให้พร้อมใช้งานได้เร็วที่สุด ให้ทันต่อสถานการณ์ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ และเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นไปอีก โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวรจึงได้พัฒนาระบบ Tele-conference ในการดูแลและรักษาผู้ป่วย รวมทั้งเป็นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการจัดการตามแนวทางการป้องการแพร่ระบาดของเชื้อ นอกจากนี้ยังพัฒนาการติดตามผู้ป่วยด้วยระบบ GPS และระบบการดูแลให้คำปรึกษาผ่านระบบ Tele-medicine และบริหารจัดการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ทางไปรษณีย์ลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาล พร้อมกันนี้ยังได้พัฒนาหุ่นยนต์อัตโนมัติเพื่อใช้สำหรับการคัดกรอง ลดการสัมผัสและเพิ่มระยะห่างระหว่างผู้ป่วยกับบุคลากรทางการแพทย์ และเพื่อการส่งยา อาหาร และของใช้ให้ผู้ป่วยในห้อง หรือบนหอผู้ป่วยโดยไม่ต้องให้บุคลากรของโรงพยาบาลต้องเสี่ยงต่อการติดเชื้อ นอกจากนี้ยังเป็นการรวบรวมองค์ความรู้ทางด้านการแพทย์ วิศวกรรมและสถาปัตยกรรม เพื่อบริหารจัดการการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อในสถานพยาบาลอีกด้วย    

สำหรับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  ส่วนใหญ่มีการแพร่กระจายเชื้อในรูปแบบ droplet (ละอองฝอยจากสารคัดหลั่งในทางเดินหายใจ) แต่ในบางกรณีที่มีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดมาก อาจแพร่เชื้อแบบ aerosol (ผ่านทางการหายใจ)ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อจากผู้ป่วยสู่ผู้ป่วยอื่นหรือญาติและประชาชนทั่วไป และเพื่อความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องใกล้ชิดกับผู้ป่วย การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศจึงมีความสำคัญในการวางระบบเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อในสถานพยาบาล โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ ระดับตติยภูมิ(Tertiary care) ขนาด 472 เตียง มีศักยภาพในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงหรือที่เรียกว่าผู้ป่วยระดับสีแดง โดยได้มีการจัดผู้ป่วยไว้ในห้องแยกโรค (Isolation room) และยังได้ดำเนินการจัดทำหอผู้ป่วยที่แยกเฉพาะและเป็นหอผู้ป่วยชนิดแรงดันลบ (Cohort Ward) เพื่อรวมผู้ป่วยไว้ในที่เดียวกัน ทำการรักษาได้คราวละมาก ๆ อย่างไรก็ตามเพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพสูงสุดอย่างรวดเร็ว ทางโรงพยาบาลได้ดำเนินการการพัฒนาห้องแรงดันลบโดยการปรับปรุงจากห้องผู้ป่วยเดิม เพิ่มการติดตั้งด้วยระบบ IoT (Internet of Thing) เพื่อติดตามอาการ(Monitor)ผู้ป่วยและควบคุมพารามิเตอร์(Parameter)ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานของห้องแรงดันลบนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังได้มีการทดสอบการติดตั้งระบบ โดยการจำลองการไหลเวียนอากาศโดยวิธีพลศาสตร์ของไหลเชิงคำนวณ (CFD) ทำการตรวจสอบวัดปริมาณเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราในห้องต่างๆ เพื่อเป็นต้นแบบระบบห้องแรงดันลบคุณภาพอีกด้วย
รายละเอียดการพัฒนาระบบ Tele-conference ในการดูแลและรักษาผู้ป่วย (ตามรูปที่1.) เพื่อการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศจัดการตามแนวทาง Social Distancing เพื่อบริหารจัดการสถานที่ให้บริการผู้ป่วย โดยเริ่มจากการลงทะเบียนผ่าน แอปพลิเคชัน “หมอรู้จักคุณ” (“The doctor Know You” Application) โดยสามารถ Download ได้จากทั้งระบบ IOS และ Android รวมถึงการเข้าผ่านระบบ LINE OA(Official Account) “หมอรู้จักคุณ” และเมื่อเข้าสู่ระบบและได้ลงทะเบียนยืนยันตัวตนที่สถานพยาบาลแล้วจะสามารถเข้าถึงประวัติสุขภาพของตนเองได้
 





 
ภาพที่ 1. แอปพลิเคชัน “หมอรู้จักคุณ” (“The doctor Know You” Application)
 
สำหรับการพัฒนาระบบการติดตามผู้ป่วยด้วยระบบ GPS นั้น สามารถดูแลให้คำปรึกษาผ่านระบบ Tele-medicine โดยสามารถเรียกดูได้ตั้งแต่ประวัติการรักษา มีระบบการจัดการผู้ป่วย การจัดการคิว การติดตามผู้ป่วย การให้บริการในกรณีฉุกเฉิน นอกจากนี้การพัฒนาของโครงการฯ ทางทีมได้พัฒนาหุ่นยนต์อัตโนมัติสำหรับการคัดกรอง โดยลดการสัมผัสและเพิ่มระยะห่าง เรียกว่า MENU Delivery Robot หรือน้องเมนู หุ่นยนต์เพื่อการขนส่งและการสื่อสารทางไกล (MENU ย่อมาจาก Medicine + Engineer + Naresuan University) เป็นหุ่นยนต์อัตโนมัติคอยติดตามอาการผู้ป่วย และช่วยในเรื่องการให้บริการอื่น เช่น การส่งอาหาร การส่งยา หรือการพูดคุยกับผู้ป่วยแบบที่เห็นหน้ากันกับบุคลากรทางการแพทย์หรือญาติ ทำให้สามารถใช้หุ่นยนต์เป็นตัวเชื่อมตัวได้ ลดการสัมผัสระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับผู้ป่วยลงไปได้มาก นอกจากนี้ยังสามารถลดความเครียดของผู้ป่วยลงได้ เนื่องจากการได้มีโอกาสสื่อสารกับผู้อื่นได้มากขึ้น หุ่นยนต์ต้นแบบนี้มีต้นทุนการสร้างอยู่ที่ประมาณ 50,000 บาทเท่านั้น ปัจจุบันผลิตไปแล้ว 5 ตัว

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าในการดำเนินโครงการฯ มีการเชื่อมโยงการใช้เทคโนโลยีสำคัญ และจะดำเนินการต่อยอดหลังจากนี้ เพื่อเป็นต้นแบบแนวทางการดำเนินงานให้กับสถานพยาบาลอื่นๆ เพื่อร่วมฝ่าวิกฤตการณ์ใดๆ ที่จะเข้ามากระทบต่อประเทศในอนาคต ด้วยการสร้างและทำทั้งด้านการพัฒนาและผลิตเครื่องมืออุกรณ์ที่เป็นของคนไทยและสร้างการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อเป็นหน่วยงานบริการประชาชนอย่างแท้จริง  พร้อมกันนี้ขอขอบคุณ กทปส. และ กสทช. ที่เล็งเห็นและให้ความสำคัญในการพัฒนาอุปกรณ์ เทคโนโลยีเพื่อสู้กับวิกฤตโควิด-19 ของประเทศไทยครั้งนี้ ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=rjDlAb16z9Y