เมื่อ : 09 ม.ค. 2566 , 502 Views
รายงาน Future Health Index 2022 เผยวงการเฮลท์แคร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กำลังเผชิญกับปัญหาด้านการจัดการข้อมูลและบุคลากร

ถึงแม้ว่าเทรนด์ด้านการจัดการข้อมูล การใช้เทคโนโลยี AI และการวิเคราะห์แนวโน้มล่วงหน้าของผู้ป่วยจะเติบโตมากในภูมิภาคก็ตาม 

  • ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่ให้ความสำคัญด้านข้อมูลสารสนเทศมากที่สุดในโลก โดยมีค่าเฉลี่ยถึงร้อยละ 82 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกที่ร้อยละ 65 
  • คาดการณ์ว่าการลงทุนในด้านเทคโนโลยี AI และการวิเคราะห์แนวโน้มล่วงหน้า (Predictive Analytics) จะเพิ่มขึ้นภายใน 3 ปีต่อจากนี้ สำหรับการใช้งานทางการแพทย์
  • กว่าร้อยละ 80 ของผู้บริหารและบุคลากรแถวหน้าในวงการเฮลท์แคร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เห็นว่าการวิเคราะห์แนวโน้มล่วงหน้า (Predictive Analytics) นั้นมีผลเชิงบวกต่อผลลัพธ์ด้านสุขภาพ ประสบการณ์ของผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และลดความไม่เท่าเทียมด้านสาธารณสุข
  • ความท้าทายยังคงมีอยู่ เมื่อกว่าร้อยละ 70 เห็นว่าปัญหา Data Silo หรือการจัดการและนำข้อมูลไปใช้ยังไม่มีประสิทธิภาพ และประมาณ 1 ใน 3 เห็นว่าความพึงพอใจและการรักษาบุคลากรทางการแพทย์ไว้ เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกๆ ทั้งในปัจจุบันและในอีก 3 ปีข้างหน้า
  • ประเทศไทยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI เข้ามาประยุกต์ใช้ใน
    แวดวงสาธารณสุข โดยถูกนำเสนอผ่านนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 13 ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าพัฒนาสถานบริการด้านสาธารณสุขทั้งหมดในประเทศไทยให้เป็น Smart Hospital จากรายงานล่าสุด มากกว่าร้อยละ 45 ของหน่วยให้บริการทางการสาธารณสุขได้ถูกพัฒนาเป็น Smart Hospital แล้วในไตรมาสที่ 4 ปีพ.ศ. 2564 [1]

[1] ข้อมูลร้อยละของหน่วยบริการที่เป็น smart hospital

 

กรุงเทพมหานคร- รอยัล ฟิลิปส์ (NYSE: PHG AEX: PHIA) ผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการดูแลสุขภาพระดับโลก ได้เผยถึงผลสำรวจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APAC) จากรายงาน Future Health Index (FHI) ประจำปี 2022 ในหัวข้อ “‘Healthcare hits reset: Priorities shift as healthcare leaders navigate a changed world’ ” สำหรับรายงานผลการสำรวจ Future Health Index 2022 นี้เป็นการจัดทำรายงานเป็นปีที่ 7 โดยฟิลิปส์ ซึ่งในรายงานประจำปี 2022 นี้ มีผู้ตอบแบบสำรวจกว่า 3000 คน จาก 15 ประเทศ อาทิ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย ฯลฯ เพื่อสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารและบุคลากรแถวหน้าในวงการเฮลท์แคร์เกี่ยวกับการจัดการและการใช้ประโยชน์จากข้อมูลสารสนเทศ เพื่อรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้นหลังจากเจอกับการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19

 

จากผลสำรวจในปีนี้เผยให้เห็นว่า หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้ความสำคัญกับด้านข้อมูลสารสนเทศ (Data) และเทคโนโลยีในการวิเคราะห์แนวโน้มล่วงหน้า (Predictive Analytics) เพื่อเป็นรากฐานสำคัญของระบบสาธารณสุขในอนาคต และยังชี้ให้เห็นถึงความท้าทายที่สำคัญต่อการวางรากฐานนี้

 

แคโรไลน์ คลาร์ค ประธานและรองประธานกรรมการบริหาร ฟิลิปส์ อาเซียน แปซิฟิก กล่าวว่า เพื่อการเข้าถึงและใช้งานข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เทคโนโลยี AI และเทคโนโลยีการวิเคราะห์แนวโน้มล่วงหน้า ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อบุคลากรทางการแพทย์ในการยกระดับคุณภาพการให้บริการ ช่วยลดต้นทุน และเพิ่มความรวดเร็วในการรักษา หลังจากที่ต้องเผชิญกับความท้าทายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รายงานในปีนี้ แสดงให้เห็นว่าผู้บริหารและบุคลากรแถวหน้าในวงการเฮลท์แคร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จัดอยู่ในกลุ่มผู้นำที่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีข้อมูลสารสนเทศและเทคโนโลยีใหม่ ๆ แต่ความท้าทายที่สำคัญ คือ เนื่องจากการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด ยังขึ้นอยู่กับประสบการณ์และการสนับสนุนจากบุคลากร การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีดิจิทัลยังต้องคำนึงถึงขีดความสามารถของบุคลากร ดังนั้น ปัญหาด้านการจัดการข้อมูล Data Silo การฝึกอบรมและให้ความรู้กับบุคลากรจึงเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาอย่างเร่งด่วน รวมถึงการรักษาบุคลากรด้านเฮลท์แคร์เอาไว้ เพื่อบรรลุผลลัพธ์ของระบบสาธารณสุขที่ต้องการในระดับภูมิภาค

 

ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกคือผู้นำด้านข้อมูลสารสนเทศ เทคโนโลยี AI และการวิเคราะห์แนวโน้มล่วงหน้า

ผู้บริหารและบุคลากรแถวหน้าในวงการเฮลท์แคร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จัดอยู่ในอันดับต้นของโลกที่ให้ความสำคัญด้านข้อมูลสารสนเทศต่อองค์กร โดยร้อยละ 82 เห็นด้วยว่าการลงทุนในด้านข้อมูลสารสนเทศมีความคุ้มค่า ทั้งในแง่ของเวลาและทรัพยากร เท่ากับสถิติของประเทศสหรัฐอเมริกา และสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก (ร้อยละ 65) และทวีปยุโรป (ร้อยละ 60) อย่างมีนัยสำคัญ

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบสาธารณสุขของสิงคโปร์ที่นำหน้าประเทศอื่นๆ ให้ความสำคัญกับด้านข้อมูลสารสนเทศถึงร้อยละ 91 ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ร้อยละ 65 ในขณะที่ประเทศอินโดนีเซียและออสเตรเลียให้ความสำคัญกับด้านข้อมูลสารสนเทศถึงร้อยละ 82 และร้อยละ 75 ตามลำดับ ระดับความเชื่อมั่นในการใช้ข้อมูลสารสนเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้นสูงเช่นกัน โดยส่วนมากกล่าวว่าพวกเขาสามารถนำข้อมูลมาใช้งานได้จริงจากข้อมูลที่มีอยู่ถึงร้อยละ 85 และสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่จำเป็นเพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้ถึงร้อยละ 84 และเชื่อมั่นอย่างมากในความแม่นยำของข้อมูลในองค์กรถึงร้อยละ 82

 

ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเห็นพ้องต้องกันถึงความสำคัญของการลงทุนด้านเทคโนโลยี AI และเทคโนโลยีการวิเคราะห์แนวโน้มล่วงหน้าภายใน 3 ปี โดยร้อยละ 55 ของผู้บริหารและบุคลากรแถวหน้าในวงการเฮลท์แคร์ได้ลงทุนไปแล้วจำนวนมากในเทคโนโลยี AI ในขณะที่ร้อยละ 82 คาดการณ์ว่าการลงทุนด้าน AI จะเป็นการลงทุนมากที่สุดภายใน 3 ปีข้างหน้า และเมื่อสำรวจถึงจุดประสงค์ของการลงทุนด้านเทคโนโลยี AI พบว่าลงทุนเพื่อใช้สนับสนุนการวินิจฉัยด้านคลินิกมากที่สุดถึงร้อยละ 35 รวมถึงการใช้งานเพื่อวินิจฉัยหรือให้คำแนะนำในการรักษา การส่งสัญญานเตือนล่วงหน้า การตรวจหาโรคแบบอัตโนมัติ และแนวทางการตัดสินใจด้านคลินิก นอกจากนี้ ยังต้องการใช้เทคโนโลยี AI ในการคาดการณ์ผลลัพธ์ถึงร้อยละ 34 และใช้เพื่อรวบรวมข้อมูลการวินิจฉัยร้อยละ 33 ตามลำดับ

 

ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ โดยเริ่มมีการพูดถึงในวงกว้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา และมีการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในวงการแพทย์อย่างแพร่หลาย กระทรวงสาธารณสุขได้นำเสนอนโยบายเกี่ยวกับ ‘โครงการอนาคตแห่งประเทศไทยสู่การดูแลสุขภาพแบบองค์รวมและการดูแลสุขภาพขั้นสูงในปี (The future of Thailand towards holistic wellness care and advanced health promotion) พ.ศ. 2566-2570’[1]ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13  ซึ่งให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี AI การคาดการณ์โรคล่วงหน้า (Health Prediction) และเทคโนโลยีด้านดิจิทัล ที่จะถูกกำหนดให้เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานของการบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคขั้นสูง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของระบบบริการและการเข้าถึงบริการของประชาชนในการดูแลสุขภาพและป้องกันโรค ด้วยเทคโนโลยีด้านการแพทย์และสาธารณสุขแบบจำเพาะและแม่นยำ  นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขยังตั้งเป้าพัฒนาโรงพยาบาลและสถานบริการด้านสาธารณสุขต่าง ๆ สู่การเป็น ‘Smart Hospital’ เพื่อลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ และยกระดับประสบการณ์การรักษาที่ดีให้แก่ผู้ป่วย โดยจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขในไตรมาส 4 ปีพ.ศ. 2564 พบว่ามากกว่าร้อยละ 45 ของหน่วยบริการทั้งหมดได้พัฒนาไปสู่การเป็น Smart Hospital แล้ว[2]

 

ในรายงาน Future Health Index ยังแสดงให้เห็นว่าระบบสาธารณสุขในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีการนำเทคโนโลยีการวิเคราะห์แนวโน้มล่วงหน้ามาใช้บ้างแล้ว โดยมากกว่าหนึ่งในสี่ (ร้อยละ 27) ของโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลนั้นเริ่มใช้เทคโนโลยีดังกล่าวแล้ว ในขณะที่ร้อยละ 44 กำลังอยู่ในระหว่างการเตรียมความพร้อมในการใช้งาน ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ร้อยละ 32 และเมื่อถามถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI และการนำเทคโนโลยีการวิเคราะห์แนวโน้มล่วงหน้ามาใช้ในส่วนใดที่มีประโยชน์สูงสุด ร้อยละ 91 บอกว่าใช้ในด้านคลินิก ในขณะที่ผู้บริหารและบุคลากรแถวหน้าในวงการเฮลท์แคร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีระดับความเชื่อมั่นถึงร้อยละ 87 (เทียบกับทั่วโลกร้อยละ 71) ในการใช้เทคโนโลยีการวิเคราะห์แนวโน้มล่วงหน้าเชิงคลินิก และยังเห็นว่าเทคโนโลยีการวิเคราะห์แนวโน้มล่วงหน้ามีประโยชน์ต่อการบริการผู้ป่วยถึงร้อยละ 87 ผลลัพธ์ด้านสุขภาพร้อยละ 84 และมีผลที่ดีต่อประสบการณ์ของบุคลากรทางการแพทย์ร้อยละ 82
 

[1] โครงการอนาคตแห่งประเทศไทยสู่การดูแลสุขภาพแบบองค์รวมและการส่งเสริมสุขภาพขั้นสูง

[2] ข้อมูลร้อยละของหน่วยบริการที่เป็น smart hospital

 

ปัญหาการจัดการด้านข้อมูล Data Silo ปัญหาด้านบุคลากร และอุปสรรคอื่น ๆ ต่อการนำข้อมูลสารสนเทศไปใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

 

อย่างไรก็ตาม ยังเห็นได้ชัดว่าการใช้ข้อมูล เทคโนโลยี AI และเทคโนโลยีการวิเคราะห์แนวโน้มล่วงหน้า ยังต้องมีการพัฒนาอีกมาก ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญสู่อนาคตของวงการเฮลท์แคร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้งานด้านคลินิก โดยร้อยละ 41 ของผู้บริหารและบุคลากรแถวหน้าในวงการเฮลท์แคร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีการแชร์ข้อมูลกับองค์กรภายนอก ในขณะที่ร้อยละ 40 ใช้ข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์แนวโน้ม ร้อยละ 30 รวบรวมและจัดเก็บข้อมูล และร้อยละ 28 ใช้ข้อมูลเพื่อทำงานบางอย่างแบบอัตโนมัติ 

 

นอกจากนี้ ประมาณสามในสี่ (ร้อยละ 73) ของผู้บริหารและบุคลากรแถวหน้าในวงการเฮลท์แคร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเห็นว่าปัญหาการจัดการข้อมูล หรือ Data Silo เป็นปัญหาสำคัญต่อการนำข้อมูลไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ร้อยละ 51 สำหรับอุปสรรคอื่นๆ อาทิ ข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐาน (ร้อยละ 23) ความกังวลถึงความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูล (ร้อยละ 21) นโยบายและข้อบังคับด้านข้อมูลสารสนเทศ (ร้อยละ 21) การต่อต้านของบุคลากรบางส่วนต่อการอัพเกรดหรือการนำเทคโนโลยีล้ำสมัยมาใช้ (ร้อยละ 20) การขาดความชัดเจนทางกฎหมาย (ร้อยละ 20) และความซับซ้อนในการจัดการข้อมูลปริมาณมาก (ร้อยละ 20)

 

การร่วมมือกับผู้เล่นรายอื่นในวงการเฮลท์แคร์เป็นหนึ่งในแนวทางการรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ ยกตัวอย่างเช่น ผู้บริหารและบุคลากรแถวหน้าในวงการเฮลท์แคร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเชื่อว่าการร่วมมือกับบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ ช่วยให้สถานพยาบาลของพวกเขาได้รับคำปรึกษาในการวางแผนงานล่วงหน้าได้ถึงร้อยละ 30 และยังให้แนวทางและ/หรือให้บริการวิเคราะห์และแปลผลข้อมูลเพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง (ร้อยละ 28) และจัดหาทรัพยากร และ/หรือ บริการสำหรับการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง (ร้อยละ 27)

 

การต่อต้าน ทักษะ และการขาดความรู้ของบุคลากร เป็นอุปสรรคอันดับต้น ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ต่อการใช้ประโยชน์จากข้อมูลสารสนเทศ (ร้อยละ 35) ในขณะที่ผู้บริหารในวงการเฮลท์แคร์ในภูมิภาค (ร้อยละ 74) กล่าวว่า บุคลากรของพวกเขารู้สึกว่าในปัจจุบันมีข้อมูลจำนวนมากเกินไป ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ร้อยละ 55 ในขณะที่ร้อยละ 21 รู้สึกว่าการฝึกอบรมและการให้ความรู้แก่บุคลากรของพวกเขาจะเป็นหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดที่จะนำไปสู่การจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพได้

 

ถึงแม้ว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะตระหนักถึงความสำคัญของข้อมูลสารสนเทศ และประโยชน์ต่อการตัดสินใจเชิงคลินิก แต่ระดับความรู้และการรับรู้ถึงวิธีการนำข้อมูลสารสนเทศไปใช้ยังคงขาดแคลนและเหลื่อมล้ำในภูมิภาค โดยเฉลี่ยแล้วมากกว่าครึ่ง(ร้อยละ 55) ของผู้บริหารและบุคลากรแถวหน้าในวงการเฮลท์แคร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่าพวกเขาไม่ทราบถึงวิธีการนำข้อมูลไปใช้ประกอบในการตัดสินใจ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ร้อยละ 35 ยกตัวอย่าง ในอินโดนีเซียมีเพียงร้อยละ 7 ของบุคลากรที่บอกว่าพวกเขามีความเชี่ยวชาญมากพอที่จะนำข้อมูลสารสนเทศไปใช้ แต่ในสิงคโปร์และออสเตรเลีย บุคลากรมีความเชี่ยวชาญในการใช้ข้อมูลสารสนเทศมีถึงร้อยละ 50 และร้อยละ 20 ตามลำดับ ชี้ให้เห็นว่าในภูมิภาคนี้ควรมีการแบ่งปันข้อมูลและความรู้ระหว่างประเทศมากขึ้น

 

นอกจากนี้ รายงานของฟิลิปส์ยังเผยว่า การให้ความสำคัญด้านสวัสดิการของบุคลากรภายในภูมิภาคเกิดขึ้นหลังจากการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ เนื่องจากการขาดแคลนบุคลากร และภาวะการหมดไฟยังคงเป็นปัญหาสำคัญของวงการเฮลท์แคร์ โดยร้อยละ 30 ของผู้บริหารในวงการเฮลท์แคร์ให้ความสำคัญกับความพึงพอใจและการรักษาบุคลากรเอาไว้เป็นอันดับแรก เท่ากับค่าเฉลี่ยในระดับโลก และแนวโน้มนี้ดูเหมือนจะดำเนินต่อไป โดยผู้บริหารในวงการเฮลท์แคร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกร้อยละ 28 เชื่อว่าความพึงพอใจของบุคลากรและการรักษาบุคลากรเอาไว้จะยังคงมีความสำคัญไปอีก 3 ปีนับจากนี้ ซึ่งต่างจากผลสำรวจในปี 2021 ที่ผู้บริหารส่วนมากคาดการณ์ไว้ว่าความพึงพอใจของบุคลากรและการรักษาบุคลากรเอาไว้อาจจะไม่ถูกจัดลำดับความสำคัญในระดับต้น ๆ ในอนาคต

 

ร้อยละ 23 ของผู้บริหารและบุคลากรแถวหน้าในวงการเฮลท์แคร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เห็นว่าการขยายพื้นที่การดูแลรักษาจากแค่เพียงในโรงพยาบาลเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญในขณะนี้ และร้อยละ 32 เห็นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญภายใน 3 ปีต่อจากนี้ เมื่อเทียบกับทั่วโลก ประเทศออสเตรเลีย (ร้อยละ 36) ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษานอกโรงพยาบาลและสถานพยาบาลอยู่ในลำดับที่ 2 ต่อจากประเทศเนเธอร์แลนด์ (ร้อยละ 37)

 

จากเทรนด์ข้างต้น ส่งผลให้ร้อยละ 45 ของผู้บริหารและบุคลากรแถวหน้าในวงการเฮลท์แคร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และร้อยละ 49 ในภูมิภาคอาเซียน มีการลงทุนด้านการแพทย์ทางไกล หรือเทเลเฮลท์เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ โซลูชั่นการเฝ้าติดตามผู้ป่วยทางไกลก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่สำคัญในการขยายขอบเขตการดูแลรักษานอกโรงพยาบาล โดยร้อยละ 19  ของผู้บริหารและบุคลากรแถวหน้าในวงการเฮลท์แคร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และร้อยละ 21 ในภูมิภาคอาเซียน กล่าวว่าการลงทุนในเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญอันดับต้น ๆ ในปัจจุบัน และร้อยละ 26 ในทั้งสองภูมิภาค กล่าวว่าการลงทุนด้านนี้จะสำคัญยิ่งขึ้นในอนาคตอันใกล้

 

ตั้งแต่ปีค.ศ. 2016 ฟิลิปส์ได้จัดทำรายงานผลสำรวจ Future Health Index เพื่อช่วยเตรียมความพร้อมให้กับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกในการรับมือกับความท้าทายของระบบสาธารณสุข เพื่อสร้างระบบสาธารณสุขที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพ สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายงาน Future Health Index สามารถเยี่ยมชมได้ที่ Future Health Index methodology และสำหรับรายงาน Future Health Index 2022 ฉบับเต็ม สามารถเข้าชมได้ผ่านเว็บไซต์ของเรา

 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ