เมื่อ : 30 ธ.ค. 2565 , 310 Views
เอกชนไทยเดินหน้าเจรจาต่อยอดดีลซื้อสินค้ากับผู้ส่งออกสารเคมี & เคมีภัณฑ์ตุรกี หวังเอฟทีเอ “ตุรกี-ไทย” แล้วเสร็จเร็วๆ นี้

งานจับคู่ทางธุรกิจตุรกีและไทยประสบความสำเร็จในการจับคู่ให้บริษัทไทย 71 แห่งและบริษัทเคมีตุรกี 29 แห่ง

- บริษัทไทยได้พันธมิตรใหม่เฉลี่ย 1-2 รายจากงานจับคู่ธุรกิจดังกล่าว ชี้ตุรกีมีสินค้าคุณภาพสูงและราคาสมเหตุสมผล คาดข้อตกลงการค้าเสรีตุรกีและไทยช่วยหนุนธุรกิจทั้ง 2 ประเทศ  

ผลิตภัณฑ์”ดาวเด่น” ที่ได้รับความสนใจสูงภายในงาน ได้แก่ สารเคมี เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้าและผิวกาย โฟมดับเพลิงเข้มข้น เครื่องครัวที่ทำจากพลาสติก สินค้าสำหรับวงการ Horeca (โรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจให้บริการจัดเลี้ยง) ยาและอุปกรณ์การแพทย์

 

สมาคมผู้ส่งออกสารเคมีและเคมีภัณฑ์แห่งอิสตันบูล (IKMIB) ประสบความสำเร็จในการจัดงาน ‘คณะผู้แทนการค้า IKMIB สู่แดนไทย’ ด้วยการพบปะพูดคุยระหว่างคู่ธุรกิจที่มีจำนวนสูงถึง 248 ครั้ง มีบริษัทไทยเข้าร่วม 71 แห่ง และผู้ส่งออกสารเคมี & เคมีภัณฑ์ตุรกีเข้าร่วม 29 แห่ง โดยมีแคนวาสโค รับหน้าที่เอเยนซีจัดการด้านการตลาดและพัฒนาธุรกิจให้กับงานครั้งนี้

 

นายเจมิล ชาคาร กรรมการของสมาคมผู้ส่งออกสารเคมีและเคมีภัณฑ์แห่งอิสตันบูล (IKMIB) และที่ปรึกษาการค้ากิตติมศักดิ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประเทศไทย กล่าวว่า งาน ‘คณะผู้แทนการค้า IKMIB สู่แดนไทย’ มอบโอกาสให้ทั้งธุรกิจไทยและตุรกีในการพบปะและขยายเครือข่ายเพื่อประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย พร้อมแสดงความเชื่อมั่นว่าบริษัทที่ได้มาพบปะพูดคุยกันจะเดินหน้าสานสัมพันธ์ทางธุรกิจต่อไปในทิศทางที่จะส่งเสริมและสนับสนุนวงการธุรกิจหลากหลายประเภทในไทย ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง อุตสาหกรรมยาหรืออุตสาหกรรมค้าปลีก

 

“งานของเราประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีเพราะได้สร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจจากทั้งสองประเทศมากมาย เมื่อบริษัทไทยและตุรกีจับมือกัน พวกเขาจะได้รับข้อมูลเบื้องลึกล่าสุดที่ทันกับกระแส และนำจุดแข็งของทั้งสองฝ่ายมาสร้างประโยชน์ซึ่งกันและกัน” นายทาการ์กล่าว และคาดการณ์ว่า ทางตุรกีและไทยมีแนวโน้มว่าจะจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีเสร็จสิ้นในอนาคตอันใกล้นี้

 

งาน ‘คณะผู้แทนการค้า IKMIB สู่แดนไทย’ มีตัวแทนจากธุรกิจไทยเข้าร่วมถึง 140 ราย โดยตัวแทนเหล่านี้มีทั้งเป็นผู้ที่เป็นเจ้าของธุรกิจเองและนักบริหารมืออาชีพ บริษัทไทยชั้นนำหลายแห่งจากหลากหลายวงการ รวมทั้งอุตสาหกรรมเคมีและอุตสาหกรรมค้าปลีกได้ส่งผู้บริหารมาร่วมงานในครั้งนี้ ผู้ที่เข้าร่วมงานฝ่ายไทยยกย่องว่างานจับคู่ทางธุรกิจครั้งนี้ “มีประโยชน์จริง” และ “ช่วยเปิดหูเปิดตา” เพราะช่วยนำเสนอโอกาสจัดซื้อสินค้าคุณภาพสูงในราคาสมเหตุสมผลให้แก่บริษัทไทย

ทั้งนี้ บริษัทไทยแต่ละแห่งได้พันธมิตรรายใหม่เฉลี่ย 1-2 รายจากงานดังกล่าวและกำลังเดินหน้าเจรจาธุรกิจกับบริษัทตุรกี เพื่อทำการจัดซื้อสินค้าในเงื่อนไขที่เหมาะสมต่อไป

 

“เรากำลังรอรายละเอียดเพิ่มเติมรวมถึงตัวอย่างสินค้าที่เราสนใจ ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการจัดซื้อของเรา” ผู้แทนบริษัทเคมีไทยแห่งหนึ่งกล่าว โดยชี้ว่าความสำเร็จด้านการจัดซื้อมีส่วนช่วยสร้างแต้มต่อทางธุรกิจได้เป็นอย่างมาก

 

ผู้แทนบริษัทไทยอีกแห่งปลื้มที่งาน ‘คณะผู้แทนการค้า IKMIB สู่แดนไทย’ เผยให้เห็นว่า สินค้าตุรกีมีคุณภาพดีมากและสินค้าบางชนิดยังราคาสมเหตุสมผลกว่าที่ซื้อจากจีน ในมุมมองของผู้ที่อยู่ในวงการของเครื่องครัวและเครื่องใช้ในบ้าน สินค้าตุรกีถือว่ามีศักยภาพสูงมากที่จะทำตลาดในประเทศไทย ถึงแม้ว่าค่าขนส่งและค่านำเข้าสินค้าจากตุรกีเป็นปัจจัยที่ต้องนำมาคำนวณในทางธุรกิจด้วย แต่ตนเองเชื่อมั่นว่าคงจะมีการสั่งซื้อสินค้าจากตุรกีในที่สุดเพราะการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างไทยและตุรกีมีแนวโน้มว่าจะเสร็จสิ้นภายในปี 2566

 

นางสาวพรประพันธ์ ศรีโยธา ผู้บริหารของแคนวาสโคซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานอย่างเป็นทางการของงาน ’คณะผู้แทนการค้า IKMIB สู่แดนไทย’ เปิดเผยว่า สารเคมี เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้าและผิวกาย โฟมดับเพลิงเข้มข้น เครื่องครัวที่ทำจากพลาสติก สินค้าสำหรับวงการ Horeca (โรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจให้บริการจัดเลี้ยง) ยาและอุปกรณ์การแพทย์เป็นกลุ่มสินค้าที่ได้รับความสนใจสูงสุดในงาน แต่ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอื่น ๆ เครื่องครัวชนิดอื่น เครื่องใช้ในบ้านและอาหารเสริมจากตุรกีต่างได้รับช่องทางเข้าสู่ตลาดไทยผ่านงานจับคู่ทางธุรกิจในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน

 

“เราได้รับผลตอบรับที่ดีมาก บริษัทไทยบางบริษัทเริ่มหวังแล้วว่าจะมีการจัดงานงานในรูปแบบนี้ขึ้นอีกเพราะอยากพบปะผู้ประกอบการจากตุรกีมากขึ้น” ผู้บริหารของแคนวาสโคกล่าว

 

 

ปัจจุบัน ตุรกีเป็นประเทศทางเลือกที่สำคัญสำหรับธุรกิจที่มองหาสินค้าต่าง ๆ เพราะสินค้าตุรกีมีคุณภาพสูง ราคาจับต้องได้ แถมยังมีการจัดส่งที่รวดเร็วเชื่อถือได้ ในขณะที่ประเทศไทยเองมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง มีเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่เข้มแข็ง รวมถึงยังมีธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่เติบโตแบบก้าวกระโดด หากเลือกจับมือเป็นพันธมิตรกับผู้จัดหาหรือจัดส่งสินค้าที่ใช่ ไทยจะตอบสนองต่อกระแสความต้องการสินค้าคุณภาพสูงขึ้นของผู้บริโภคได้ดีและรักษาตำแหน่งศูนย์กลางทางการค้าของตลาด CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์และเวียดนาม) ไว้ได้อีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ตุรกีพร้อมทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางขับเคลื่อนการขยายธุรกิจของบริษัทไทยเข้าสู่ตลาดอียู ยุโรปตะวันออกและตลาด MENA (ภูมิภาคตะวันออกกลาง & อเมริกาเหนือ)

 

ทั้งนี้ งานเจรจาจับคู่ทางธุรกิจระหว่างตุรกีและไทย จัดขึ้นเมื่อวันที 16 ธันวาคม 2565 ณ โรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน กรุงเทพ