เมื่อ : 19 พ.ย. 2565 , 266 Views
ทบ.นำกำลังพล มัคคุเทศก์น้อยและนักเรียนทหาร ชมโขน “สะกดทัพ” ภาคภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมชาติไทย

กองทัพบกดำรงนโยบายส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทยอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้ร่วมชมการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ประจำปี ๒๕๖๕ เรื่องรามเกียรติ์ ตอน “สะกดทัพ” ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เขตห้วยขวาง กทม. ซึ่งได้จัดแสดงในโอกาสเฉลิมฉลองปีมหามงคล ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา ๗๐ พรรษา เมื่อ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๕ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา เมื่อ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕  ซึ่งการแสดงในครั้งนี้ได้อัญเชิญบทพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ฉบับในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมาแสดง ในตอน “สะกดทัพ” ประกอบด้วย ๒ องค์ ๑๓ ฉาก เป็นเรื่องราวการต่อสู้ของ “หนุมาน” ในภารกิจตามไปช่วยพระรามที่ถูกพญายักษ์ “ไมยราพ” ลักพาตัวไปยังเมืองบาดาลเพื่อมุ่งสังหาร หนุมานได้ฝันฝ่าอุปสรรคต่างๆและสู้รบกับไมยราพด้วยความสามารถและสติปัญญา จนสามารถช่วยพระรามกลับไปยังพลับพลาได้ เหล่าเทวดานางฟ้าจึงได้ร่ายรำเพื่ออวยพรเกียรติยศแก่พระราม การแสดงเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้รับชม ระหว่างวันที่ ๓๐ ตุลาคม - ๕ ธันวาคม นี้

การแสดงโขน เป็นศิลปะชั้นสูงที่รวบรวมศาสตร์และศิลป์หลากหลายแขนงของไทย กองทัพบกตะหนักในคุณค่าจึงสนับสนุนให้กำลังพลและครอบครัวเข้าชมการแสดงโขน ตอน “สะกดทัพ” ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ ๔ พ.ย. เป็นต้นมา โดยเริ่มจากคณะผู้บังคับบัญชา และมีกำหนดการให้กำลังพลจากหน่วยต่างๆจำนวน ๓๓๕ แนาย เช้าชมการแสดงอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ๑๗ พ.ย.๖๕ บุตรหลานกำลังพลและเยาวชนในโครงการ “มัคคุเทศก์น้อย” ของหน่วยทหารในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ๑๕๐ คน ๑๘ พ.ย.๖๕ นักเรียนนายร้อยและนักเรียนพยาบาลกองทัพบก รวม ๖๐ นาย ๑๙ พ.ย.๖๕ กำลังพลและครอบครัวในพื้นที่กองบัญชาการกองทัพบก ๘๐ นาย และ ๑ ธ.ค.๖๕ นักเรียนดุริยางค์ทหารบก ๒๕ นาย เพื่อเปิดประสบการณ์ให้กับเยาวชนและนักเรียนทหารได้รับชมการแสดงอันทรงคุณค่าของชาติไทยในครั้งนี้ด้วย  

อย่างไรก็ตามการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยเป็นนโยบายที่กองทัพบกส่งเสริมให้เยาวชนและนักเรียนทหารมีส่วนร่วมด้วยความภาคภูมิใจผ่านกิจกรรมต่างๆอย่างต่อเนื่อง ทั้งการจัดทัศนศึกษาในโครงการ “มัคคุเทศก์น้อย” เยี่ยมชมสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ โบราณสถาน รวมทั้งกิจกรรมประกวดขับร้องบทเพลงส่งเสริมความรักความสามัคคี การประกวดดนตรีสากลร่วมสมัย “คีตวัฒนศิลป์บรรเลงไทยเพื่อแผ่นดิน” กิจกรรมต่างๆนี้ล้วนได้สร้างความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์และความเป็นไทย เป็นพื้นฐานสำคัญของความรักชาติบ้านเมือง อันจะนำมาซึ่งพลังแห่งความสามัคคีในสังคมสืบไป

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ