เมื่อ : 11 ต.ค. 2564 , 1194 Views
ไทยเดินหน้าผนึกกำลังพันธมิตรหลายพันแห่งทั่วโลกรณรงค์สร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับภาวะลิ่มเลือด อุดตัน ภัยร้ายที่ควรรับมืออย่างเร่งด่วนใน “วันลิ่มเลือดอุดตันโลก”
ศาสตราจารย์นายแพทย์พันธุ์เทพ อังชัยสุขศิริ สาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ในปีที่แปดของการดำเนินโครงการ ตั้งเป้าเพิ่มการตื่นรู้ในเรื่องภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ที่เกิดจากเข้ารับการรักษา
ในโรงพยาบาลและโรคโควิด-19

กรุงเทพ ประเทศไทย (11 ตุลาคม 2564) -  ประเทศไทยผนึกกำลังพันธมิตรทั่วโลก เดินหน้ารณรงค์ในวันลิ่มเลือดอุดตันโลก เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนทั่วไป  ผู้บุคลากรทางการแพทย์ และผู้กำหนดนโยบาย "ตื่นรู้และเท่าทันปัญหาภาวะลิ่มเลือดอุดตัน" และหันมาให้ความสำคัญกับภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่เป็นภัยเงียบด้านสุขภาพที่มีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้นทั่วโลก
 
โครงการรณรงค์ขององค์การสากลเกี่ยวกับลิ่มเลือดอุดตันและกลไกการห้ามเลือด (International Society on Thrombosis and Haemostasis: ISTH) เนื่องในโอกาสวันลิ่มเลือดอุดตันโลกได้ร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรกว่า 3,000 แห่งจากกว่า 120 ประเทศ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ ตลอดจนการป้องกันและรักษาภาวะลิ่มเลือดอุดตัน

ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าลิ่มเลือด สามารถกระตุ้นให้เกิดภาวะทางการแพทย์ที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้มากมาย ซึ่งรวมไปถึงอาการหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน และเส้นเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (VTE) โดยภาวะ VTE เกิดขึ้นเมื่อลิ่มเลือดอย่างน้อยหนึ่งก้อนที่ก่อตัวขึ้นในหลอดเลือดดำส่วนลึก ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นที่ขา (deep vein thrombosis หรือ DVT) และสามารถไหลไปทางกระแสเลือดและอุดตันอยู่ในปอด (ภาวะที่เรียกว่า pulmonary embolism หรือ PE)

ศาสตราจารย์เบเวอร์ลีย์ ฮันท์ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ OBE แห่งจักรวรรดิอังกฤษ ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนวันลิ่มเลือดอุดตันโลก กล่าวว่า "แม้ข้อเท็จจริงที่ว่า 1 ใน 4 ของคนทั่วโลกกำลังจะเสียชีวิตจากภาวะลิ่มเลือดอุดตัน แต่ภาวะดังกล่าวเป็นเรื่องที่มักถูกมองข้ามและนับเป็นปัญหาเร่งด่วนด้านสาธารณสุข"

ในปีนี้ ปัญหาด้านลิ่มเลือดมีการหยิบยกขึ้นมาบนเวทีโลก เนื่องจากมีการวิจัยที่พบว่าผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง รวมถึงโรคปอดอักเสบจากเชื้อโควิด มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน นอกจากนี้ ยังพบว่าภาวะลิ่มเลือดเป็นผลข้างเคียงที่พบได้ยากมากภายหลังจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 บางชนิด

ศาสตราจารย์เบเวอร์ลีย์ กล่าวเสริมว่า "ในปีแห่งความวุ่นวายที่เกิดจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 เราได้พบว่าการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่เกี่ยวข้องกับโควิดในอัตราที่สูงขึ้น อันเกิดจากผู้ป่วยโรคโควิด-19 สิ่งที่เกิดนี้ ความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดใน ผู้ป่วยโควิด-19 ร่วมกับสาเหตุอื่นของลิ่มเลือดที่เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาล สามารถลดลงได้หากใช้ยาละลายลิ่มเลือดอย่างยาthromboprophylaxis”

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เคยมีปัญหาลิ่มเลือด เช่น ภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน (DVT) และหรือภาวะเส้นเลือดอุดตันที่ปอด (PE) ภาวะเหล่านี้จะไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19
นอกเหนือจากความเชื่อมโยงกับโรคโควิด-19แล้ว ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขระบุว่าในประเทศไทย ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการหายใจลำบากกะทันหัน ส่งผลให้เกิดอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้ถึง 30%

นอกจากนี้ จากข้อมูลของสถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติ องค์การอนามัยโลก (GLOBOCAN) พบว่าสิ่งที่น่าเป็นกังวลมากที่สุดในประเทศไทย คือภาวะ VTE ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยในผู้ป่วยโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นโรคที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุดมานานกว่า 20 ปี และในปี 2563 ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่รวม 190,636 ราย (เฉลี่ยวันละ 522 ราย) โดยมีอัตราการเสียชีวิต 124,866 ราย (เสียชีวิตเฉลี่ย 14 รายต่อชั่วโมง)

ศาสตราจารย์นายแพทย์พันธุ์เทพ อังชัยสุขศิริ สาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “ประเทศไทยจำเป็นต้องตระหนักและทำความเข้าใจเรื่องภาวะลิ่มเลือดอุดตันมากขึ้น และต้องทำงานร่วมกันระหว่างประชาชนทั่วไปและบุคลากรทางการแพทย์ โดยทุกคนสามารถดูแลตัวเองและทำการสอบถามแพทย์เกี่ยวกับความเสี่ยงหรือสิ่งที่ควรปฏิบัติหากพบสัญญาณเตือนหรืออาการที่น่าเป็นห่วง”

สำหรับผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับประวัติการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน และอยู่ระหว่างการรับการรักษา หากผู้ป่วยมีการเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล สามารถขอให้แพทย์ทำการประเมินความเสี่ยงภาวะ VTE ได้    

ในปีนี้แคมเปญวันลิ่มเลือดโลกมุ่งเป้าไปที่ประเด็นดังต่อไปนี้
• ความสัมพันธ์ระหว่างภาวะลิ่มเลือดอุดตันและการเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล - ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมีความเสี่ยงที่จะเกิดลิ่มเลือดมากถึง 60% เนื่องจากการไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้หรือการเข้ารับการผ่าตัด กรณีของ VTE เกิดขึ้นในระหว่างหรือภายใน 90 วันของการรักษาในโรงพยาบาล เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตในโรงพยาบาลที่สามารถป้องกันได้
• ความสัมพันธ์ระหว่างภาวะลิ่มเลือดอุดตันและโรคโควิด-19 - การวิจัยแสดงให้เห็นว่าโควิด-19 ทำให้เลือด “ข้น” มากขึ้น ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการจับตัวเป็นลิ่ม
• ความสัมพันธ์ระหว่างภาวะลิ่มเลือดอุดตันและโรคมะเร็ง - ผู้ป่วยมะเร็งมีแนวโน้มที่จะเกิดลิ่มเลือดที่มีความรุนแรงถึงสี่เท่าเมื่อเทียบกับบุคคลทั่วไป ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นนี้เกิดจากปัจจัยต่างๆ เช่น การผ่าตัด การรักษาในโรงพยาบาล การติดเชื้อ และความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือดโดยปัจจัยเฉพาะของมะเร็ง เช่น ชนิดของมะเร็ง จุลกายวิภาค ระยะของมะเร็ง การรักษามะเร็ง และตัวบ่งชี้ทางชีวภาพบางขนิด
• ภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่สัมพันธ์กับเพศ - ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทานที่ใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน การบำบัดโดยการให้ฮอร์โมนทดแทน และการตั้งครรภ์ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะลิ่มเลือดในเพศหญิง โดยเพศหญิงมีแนวโน้มที่จะเกิดลิ่มเลือดมากขึ้นถึงห้าเท่าในระหว่างตั้งครรภ์ สตรีทุกๆ 1 ใน 1,000 คนที่กำลังตั้งครรภ์จะเกิดลิ่มเลือด (ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค พ.ศ. 2563 และคาร์ดินัล เฮลธ์ พ.ศ. 2562)
 
ภาวะ VTE เกิดขึ้นทุกปีกับผู้ป่วยกว่า 10 ล้านคนทั่วโลก แต่ภาวะนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการตรวจและทำการรักษาตั้งแต่แรกเริ่ม การรณรงค์วันลิ่มเลือดอุดตันโลกเป็นการเรียกร้องให้บุคลากรทางการแพทย์จัดให้มีการประเมินความเสี่ยง VTE แก่ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกราย นอกจากนี้ การรณรงค์ดังกล่าวยังส่งเสริมให้ประชาชน รวมทั้งผู้ป่วย สนับสนุนการประเมินความเสี่ยง VTE อีกด้วย

โครงการรณรงค์เนื่องในวันลิ่มเลือดอุดตันโลก ได้มีการแบ่งปันเคล็ดลับที่ช่วยป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ดังต่อไปนี้
• สังเกตอาการและสัญญาณลิ่มเลือดอุดตัน – อาการที่ควรสังเกตและระวัง คือ อาการปวดขาและกดเจ็บ แดงและบวม หายใจถี่ หายใจเร็ว เจ็บหน้าอก และไอเป็นเลือด
• หากไม่มั่นใจขอตรวจประเมินความเสี่ยง VTE - บุคคลทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ควรขอให้แพทย์ประเมินความเสี่ยง VTE ซึ่งเป็นแบบสอบถามที่รวบรวมข้อมูลทางการแพทย์เพื่อแยกแยะปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นของผู้ป่วยในการเกิดลิ่มเลือด
• หมั่นขยับร่างกายและดื่มน้ำอย่างเพียงพอ –หากคุณจำเป็นต้องอยู่ในท่านั่งเป็นเวลานานๆ  ตั้งสัญญาณเตือนทุกชั่วโมงให้ลุกขึ้น แล้วใช้เวลานั้นลุกขึ้น เดินไปรอบๆ และยืดเส้นยืดสายประมาณ 5 นาที เพราะการอยู่นิ่งๆ เป็นเวลานานอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดได้ การดื่มน้ำในปริมาณที่พอเพียงช่วยป้องกันภาวะขาดน้ำ ซึ่งอาจทำให้เลือดข้นขึ้น ส่งผลให้เกิดลิ่มเลือด  
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับลิ่มเลือด สามารถเข้าดูได้ที่  www.worldthrombosisday.org