นับถอยหลัง “APEC CEO Summit 2022” ภาคเอกชนและภาคประชาชน ประกาศความพร้อม เวทีประวัติศาสตร์แห่งภาคธุรกิจและสังคมเอเชียแปซิฟิก...เปิดประตูแห่งการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย
เมื่อ : 02 พ.ย. 2565 ,
252 Views
ดร. พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ APEC CEO Summit 2022 Chair และ APEC Business Advisory Council Member ผู้รับหน้าที่ประธานและเจ้าภาพการจัดงาน APEC CEO Summit 2022 ประกาศความพร้อมเต็มที่สำหรับการจัดงานระหว่างวันที่ 16 – 18 พฤศจิกายน 2565 นี้ ที่ประเทศไทยมีความพร้อมแล้วในทุกด้าน ไม่ว่า ด้านสถานที่จัดการประชุม การดูแลต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม การรักษาความปลอดภัย และการจัดงานเลี้ยงรับรอง โดยเฉพาะโปรแกรมการประชุมที่ครอบคลุมทุกด้านทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และสังคม พร้อมยืนยันการเข้าร่วมงานจากผู้นำเขตเศรษฐกิจ ผู้นำองค์กรโลกที่สำคัญ ผู้นำทางความคิด และซีอีโอระดับแนวหน้าจากทุกเขตเศรษฐกิจในการเข้าร่วมประชุม เพื่อรับฟัง แสดงความคิดเห็น และแบ่งปันคำแนะนำที่สามารถร่วมบูรณาการได้ทั่วทั้งภูมิภาค
โดยเวทีครั้งประวัติศาสตร์นี้ ประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพในการต้อนรับผู้ประชุมจากทั่วภูมิภาคที่จะเดินทางมาพบปะในรอบ 3 ปีของการประชุม ดร. พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ กล่าวว่า “เราได้มีการเรียนเชิญผู้นำเขตเศรษฐกิจในการร่วมงาน APEC CEO Summit 2022 รวมทั้งสิ้น 13 เขตเศรษฐกิจ และ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยขึ้นกล่าวปาฐกถา ซึ่งแม้การตอบรับอย่างเป็นทางการยังอยู่ในกระบวนการ แต่ ณ เวลานี้ เราสามารถแจ้งได้ว่า ผู้นำเขตเศรษฐกิจที่ยืนยันอย่างเป็นทางการในการเข้าร่วมงาน ได้แก่ นายโฮเซ เปโดร กัสติโย เตร์โรเนส (José Pedro Castillo Terrones) ประธานาธิบดีเปรู, นายกาบริเอล โบริช ฟอนต์ (Gabriel Boric Font) ประธานธิบดีชิลี และนายเหงียน ซวน ฟุก (Nguyễn Xuân Phúc) ประธานาธิบดีเวียดนาม เป็นต้น
โดยผู้นำเขตเศรษฐกิจอื่นๆ อาทิ สาธารณรัฐประชาชนจีน สหรัฐอเมริกา และนิวซีแลนด์ นับว่ามีแนวโน้มที่ดีในการตอบรับ ซึ่งเราจะสามารถยืนยันได้อีกครั้งในช่วงเดือนพฤศจิกายน พร้อมทั้งแขกของรัฐบาลไทย และแขกของเอเปคในการเข้าร่วมปาฐกถาด้วย”
ภาคเอกชนเน้นย้ำด้านความพร้อม
การประชุม APEC CEO Summit ครั้งล่าสุดที่ไทยเป็นเจ้าภาพคือในปี 2003 โดยในปีนี้มีความสำคัญในการเป็นเจ้าภาพมีมิติที่น่าสนใจหลากประการ ไม่ว่า เป็นการประชุมแบบพบปะในรอบ 3 ปี หลังจากที่ทั่วโลกเผชิญการแพร่ระบาดของโควิด อันทำให้การประชุมต้องดำเนินในรูปแบบออนไลน์ นอกจากนี้ การเผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจรอบด้าน ได้สร้างความตื่นตัวให้ภาคเอกชนเกิดความต้องการในการหาเวทีเพื่อแสวงหาทางออกอย่างเร่งด่วน ดร. พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ กล่าวเสริมว่า “การรับบทบาทเจ้าภาพในปีนี้มีนัยที่น่าสนใจในด้านสถานการณ์ ด้วยภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังเผชิญความท้าทายรอบด้านไม่ว่า ด้านภาวะขาดแคลนอาหาร วิกฤตพลังงาน ภาวะเงินเฟ้อ หรือการฟื้นตัวจากโควิด เหล่านี้ทำให้ภาคเอกชนมีความตื่นตัวเป็นอย่างมาก และเวที APEC CEO Summit 2022 นี้ จะเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนทิศทางครั้งสำคัญของโลก และจะเป็นโอกาสอันดีของไทยในการพลิกฟื้นทางเศรษฐกิจ หลังภาวะการแพร่ระบาดสิ้นสุดและเริ่มมีการเปิดประเทศเกิดขึ้น
...เราคาดว่าในปีนี้จะมีผู้นำภาคธุรกิจจากทั่วทั้งเอเชียแปซิฟิกไม่ต่ำกว่า 500-600 คน, ผู้บริหารระดับสูงในประเทศไทยกว่า 200 คน ไม่รวมคณะผู้ติดตามและทีมงาน โดยในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 จะเป็นการจัดงานเลี้ยงต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมฯ ณ เดอะ ริเวอร์ พาร์ค ไอคอนสยาม ส่วนในวันที่ 17-18 พฤศจิกายน 2565 จะมีการประชุมที่ ดิ แอทธินี โฮเต็ล อะ ลักชัวรี คอลเลคชั่น โฮเต็ล กรุงเทพฯ รวมทั้งจะมีการจัดงานกาลาดินเนอร์ขึ้นในเย็นวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 ณ ห้องรอยัล พารากอน ฮอลล์ สยามพารากอน ซึ่งภายในงานเราจะถ่ายทอดความเป็นไทยทั้งในด้านอาหาร ศิลปะวัฒนธรรม ของที่ระลึก ตลอดจนการจัดทริปท่องเที่ยวสำหรับผู้ที่มาร่วมงานและคณะผู้ติดตามหลังวันงาน เพื่อสร้างความประทับใจและปลุกกระตุ้นการท่องเที่ยวไทย”
นอกจากนี้ ภายในงานได้เน้นการประชุมแบบ ‘Green Meeting’ หรือการจัดการประชุมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางความยั่งยืน (Sustainability) พร้อมจัดทำ Carbon Footprint ที่ส่งเสริมการประหยัดพลังงานและลดปริมาณขยะ หนึ่งในตัวอย่างที่การประชุมในครั้งนี้ได้นำมาใช้เพื่อส่งเสริมแนวทางดังกล่าว คือการนำ Mobile Application มาใช้ในการดูแลผู้เข้าร่วมประชุม (Smart Hospitality) อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งผู้เข้าร่วมงานสามารถลงทะเบียน รับเอกสารดิจิทัล และอำนวยความสะดวกทุกรูปแบบผ่านแอพพลิเคชั่นที่จะช่วยลดปริมาณขยะทางกระดาษ นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อมผ่านการเลือกสถานที่ (Green Venue) , การจัดเตรียมอุปกรณ์ (Green Arrangement) และการจัดเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม (Green Catering) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ประเด็นเสวนาต่อความท้าทายทางเศรษฐกิจ
เนื่องจากกิจกรรมหลักของการประชุมภายใต้แนวทาง “Embrace Engage Enable” คือการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างวันที่ 17-18 พฤศจิกายน 2565 นายเกษมสิทธิ์ ปฐมศักดิ์ Executive Director APEC CEO Summit 2022 และ APEC Business Advisory Council Alternate Member กล่าวถึงความพร้อมด้านโปรแกรมเสวนา และการตอบรับจาก
ผู้ร่วมเสวนาที่สำคัญไว้ว่า “นอกจากผู้นำเขตเศรษฐกิจแล้ว ภายในงานยังประกอบด้วยการแลกเปลี่ยนทางความคิดจากซีอีโอ ชั้นนำ และผู้นำทางความคิดระดับโลกอีกมาก ไม่ว่า ศาสตราจารย์ เคล้าส์ ชวาป (Prof. Klaaus Schwab) ผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร World Economic Forum, โห่ย หลิงตัน (Hooi Ling Tan) ผู้ร่วมก่อตั้ง แกร็บ, นายบ๊อบ มอริทซ์ (Bob Moritz) Global Chairman PWC หรือผู้บริหารระดับสูงจาก Johnson & Johnson, Meta, Google และ Exxon เป็นต้น
...และที่น่าจับตาอีกประการ นั่นคือการร่วมเสวนาจากซีอีโอไทยชั้นนำ อาทิ คุณนวลพรรณ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งนับเป็นซีอีโอหญิงมากความสามารถท่านหนึ่งของไทย หรือคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่จะมาร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะและการฉายภาพความเป็นผู้นำของธุรกิจไทยให้เป็นที่ประจักษ์แก่เวทีโลก
...นอกจากนี้ โปรแกรมในปีนี้ยังครอบคลุมต่อประเด็นของความท้าทายที่โลกกำลังเผชิญ ไม่ว่าหัวข้อด้านเศรษฐกิจโลกและอนาคตของความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย, การสร้างเศรษฐกิจ ธุรกิจ และสังคม ที่ยั่งยืน, สุขภาพภายหลังการเกิดโรคระบาด, การสร้างความเท่าเทียมทางเพศเพื่อผลักดันการเติบโต, ยุทธศาสตร์ด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก, ความท้าทายเรื่องความมั่นคงด้านอาหารของโลก, การเร่งการเติบโตในอนาคตและการรักษาโลก หรือการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและความปกติถัดไป เป็นต้น”
ประตูแห่งโอกาสเพื่ออนาคตเศรษฐกิจไทย
ด้วยการหมุนเวียนรับบทบาทเจ้าภาพการประชุมในทุกๆ 19 ปี นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้ร่วมผลักดันในฐานะที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คือสถาบันผู้ส่งมอบสมาชิกสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจไทย ได้แสดงความมั่นใจต่อโอกาสทางการค้าและการลงทุนของประเทศไทย ผ่านการเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ว่า “การพบปะระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจ ผู้นำทางความคิด และซีอีโอชั้นนำจากทั่วทั้งเอเชียแปซิฟิก ณ ประเทศไทยในครั้งนี้นั้น นับเป็น “โอกาส” อันดีเยี่ยม ที่เราจะได้แสดงศักยภาพทางการค้าและการลงทุน และการแข่งขันได้ของไทยในหลายมิติ ไม่ว่า ด้านอาหาร การท่องเที่ยว อุตสาหกรรมด้านสุขภาพ, อุตสาหกรรมยานยนตร์ ฯลฯ
...นอกจากนี้ กกร. ยังเห็นอีกหนึ่ง “โอกาส” สำคัญ นั่นคือการที่ผู้ประกอบการไทยจะได้ตื่นตัว ในการลุกขึ้นมาปรับตัวและเรียนรู้สู่การดำเนินธุรกิจในภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่า การนำเทคโนโลยีและดิจิทัลเข้ามาปรับใช้ หรือการส่งเสริมด้านความยั่งยืนให้กับธุรกิจของตน เพื่อสร้างความสอดคล้องกับตลาดโลกในปัจจุบันที่จะทำให้แข่งขันได้ และในงาน APEC CEO Summit 2022 นี้ เรายังขอส่งมอบ “โอกาส” ให้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ นั่นคือการนำตัวแทน Young Entrepreneur Chamber of Commerce (YEC) จากคัดสรรจากทั่วประเทศจำนวน 100 คน เข้ามาทำหน้าที่ต้อนรับ และอำนวยความสะดวกผู้เข้าร่วมประชุม เพื่อให้พวกเขาได้สัมผัสกับเวทีครั้งประวัติศาสตร์ และเป็นการปลุกกระตุ้นในการกลับไปปรับตัวเพื่อการสร้างโอกาสในวันข้างหน้าของพวกเขาต่อไป”
โอกาสเดียวกันนี้ คณะทำงาน APEC CEO Summit 2022 ยังได้เปิดตัวชุดยูนิฟอร์มที่ตัวแทน Young Entrepreneur Chamber of Commerce จะสวมใส่เพื่อสะท้อนอัตลักษณ์ไทย อันนับเป็นหนึ่งกลยุทธ์ในการถ่ายทอด Soft power หรือการเผยแพร่ทางวัฒนธรรมไทยผ่านสายตาชาวโลก ออกแบบโดยนักศึกษา คณะศิลปะและการออกแบบดิจิทัล มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ได้ถ่ายทอดความเป็นไทยผ่านการนำกลิ่นอายของผ้าฝ้ายที่งดงามและอ่อนช้อยของภาคเหนือ ผสานกับลวดลายช้าง อันนับเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองและมีเรื่องราวของความเป็นไทยนานาประการ เล่าเรียงร้อยอยู่ในเส้นสายของยูนิฟอร์มชุดนี้
เวทีประวัติศาสตร์ เวทีของคนไทย
ด้วยภาคเอกชนพร้อมแล้วในทุกมิติของการจัดงาน จากนี้ไป จึงนับเป็นเวทีโอกาสของประชาชนคนไทย ที่จะได้ร่วมต้อนรับผู้นำทางธุรกิจจากทั่วโลกที่จะเดินทางมาร่วมขับเคลื่อนความก้าวหน้าและความอยู่ดีกินดีเพื่อเราทุกคนร่วมกัน ด้วยที่สุดแล้วมิใช่เพียงกลุ่มธุรกิจใดที่จะได้รับประโยชน์จากการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเวลาของการจัดงานเท่านั้น แต่บทสนทนาของการประชุมที่ครอบคลุมในทุกอุตสาหกรรม จะกลับไปสร้างแรงกระเพื่อมทางการค้า การลงทุน และหมุนกลับมาสร้างการขับเคลื่อนต่อธุรกิจไทยต่อไป เพียงเราเปิดรับโอกาส สอดประสานความเชื่อมโยง และร่วมกันสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ (Embrace Engage Enable) ให้การเป็นเจ้าภาพของไทยคือโอกาสอันยิ่งใหญ่ของเราคนไทยทุกคน
“การประชุมในครั้งนี้ คือธุระของเราทุกคน มิใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง จึงนับเป็นเวทีที่สำคัญ ที่เราจะได้เห็นมิติของความร่วมมือร่วมใจระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคสังคม และประชาชนคนไทย ในการแบ่งปันโอกาสอันยิ่งใหญ่ร่วมกัน ผมขอเชิญชวนประชาชนคนไทยทุกคนทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพ เพราะ APEC CEO Summit 2022 จะเป็นหนึ่งในกลไกในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่ทรงคุณค่าของประเทศ และของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของพวกเราทุกคน” นายสนั่น อังอุบลกุล กล่าวปิดท้าย
****************************************
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.abac2022.org และ www.apecceosummit2022.com