CEA ชู Soft Power ส่ง DNA ชาติไทย สู่เวทีโลก เร่งเครื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์
เมื่อ : 05 ก.ย. 2565 ,
994 Views
CEA เร่งเครื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ชูกลยุทธ์ Soft Power ส่ง DNA ชาติไทย เฉิดฉายในตลาดโลก มุ่งสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศ เดินหน้าพัฒนาพื้นที่และบุคลากร เพิ่มขีดความสามารถ เฟ้นหาตลาดเป้าหมาย สานพลังเชื่อมต่อโมเดล BCG ของรัฐบาล เผยอุตสาหกรรมคอนเทนต์ขึ้นแท่นดาวเด่น ด้านธุรกิจเกม-อีสปอร์ตยังสดใส พร้อมผนึกกำลังทุกภาคส่วนร่วมผลักดัน Soft Power ไทยหนุนแนวทางการเติบโตอย่างยั่งยืน
ดร.ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA เปิดเผยว่า CEA ถือเป็นองค์กรหลักที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ทั้ง 15 สาขา โดยปัจจุบัน CEA ได้เร่งเดินหน้าการผลักดันยุทธศาสตร์ “Soft Power” หลังรัฐบาลประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศด้วย Soft Power ซึ่ง CEA เป็นคณะกรรมการและเลขานุการในคณะกรรมการชุดดังกล่าว พร้อมจับมือทุกภาคส่วนในการเสริมสร้างบทบาทความเป็นผู้นำของไทยในเวทีโลก ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ ด้วยการหยิบเอาดีเอ็นเอของชาติมาเป็นวัตถุดิบสำคัญ และขยายความออกไปผ่านความสามารถของนักสร้างสรรค์ ซึ่งประเทศไทยมีสินทรัพย์ทั้งที่จับต้องได้ และจับต้องไม่ได้อย่างล้นเหลือ ด้วยทรัพยากรเชิงวัฒนธรรมที่มีศักยภาพของประเทศ (5F) ได้แก่ อาหาร (Food) มวยไทย (Fighting) เทศกาล (Festival) ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น (Fashion) และภาพยนตร์ (Film) โดยเฟ้นหาสินทรัพย์ที่เป็นจุดแข็งและมีการรับรู้ในตลาดสากล เพื่อสร้าง “แบรนด์ประจำชาติ” ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมนำมาพัฒนาต่อยอดด้วยความคิดสร้างสรรค์ และนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในอุตสาหกรรมคอนเทนต์ เพื่อส่งออกคอนเทนต์ไทยไปสู่ตลาดอาเซียนและตลาดโลก โดยในปี 2563 ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยมีมูลค่าสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 7.5% ของ GDP ประเทศไทย และมีอัตราการจ้างงานสูงถึงกว่า 9 แสนคน มีอัตราเติบโตเฉลี่ย 1.2% ต่อปี ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 และความผันผวนของเศรษฐกิจโลก
ทั้งนี้จากการจัดอันดับ Global Soft Power Index 2022 โดย Brand Finance ระบุว่า ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 35 จาก 120 ประเทศทั่วโลก โดยได้ 40.2 คะแนน เพิ่มขึ้นจาก 38.7 คะแนนในปี 2021 ส่วนในเอเชีย ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 6 รองจากจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และอินเดีย ซึ่งตัวชี้วัด Soft Power ที่ประเทศไทยได้คะแนนสูง จากตัวชี้วัดหลักทั้ง 7 ด้าน คือ ธุรกิจและการค้า (Business and Trade) วัฒนธรรมและมรดก (Culture and Heritage) รวมถึงผู้คนและค่านิยม (People and Values) สะท้อนจุดแข็งว่าประเทศไทยมีต้นทุนวัฒนธรรมที่ชัดเจน
CEA ยังคงเดินหน้าเพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ในฐานะผู้ขับเคลื่อน (Facilitator) กระบวนการ Soft Power ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านภารกิจการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์แก่คนไทย เอื้อให้เกิดระบบนิเวศสร้างสรรค์ และส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในประเทศให้มีศักยภาพพร้อมแข่งขันในระดับสากล ทั้งยังเป็นตัวกลางเชื่อมโยงภาคส่วนต่าง ๆ ให้เห็นมูลค่าของการส่งออก Soft Power ในภาพเดียวกัน รวมทั้งเตรียมความพร้อมปรับตัวเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในระยะยาว ทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาทักษะดิจิทัล การนำเทคโนโลยีและเครื่องมือดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้ธุรกิจ นอกจากนี้ ยังผลักดันกระบวนการด้านทรัพย์สินทางปัญญาและสร้างระบบฐานข้อมูลอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อเชื่อมต่อกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของรัฐบาล และเป้าหมาย SDGs ของสหประชาชาติ
“อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้ง 15 สาขาของไทยนั้น มีทั้งจุดแข็ง จุดอ่อน และโอกาสในการพัฒนา ซึ่ง CEA ได้จัดทำโร้ดแมปการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์รายสาขาไว้ โดยเป็นการทำงานร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการรับฟังเสียงจากสมาคมวิชาชีพและนักสร้างสรรค์ เพื่อนำมุมมองและความต้องการของภาคธุรกิจมาขยายผลในการสร้างเครื่องมือและรูปแบบโครงการที่รองรับการพัฒนา แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ CEA เล็งเห็นความสำคัญสำหรับการพัฒนาภาพรวมของทุกสาขาก็คือ การพัฒนา Thailand Content ซึ่งเป็นพื้นฐานในการพัฒนา Soft Power ที่สำคัญ ให้มีความโดดเด่นและชัดเจนในการสื่อพลังนี้ออกไปผ่านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อื่น ๆ” ดร.ชาคริต กล่าว
ดร.ชาคริต กล่าวว่า สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ผ่านพลัง Soft Power ในปี 2565 – 2566 คือ การนำ Soft Power ที่ไทยมีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดทางเศรษฐกิจและการค้า สร้างการยอมรับต่ออุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน ให้ความสำคัญกับบทบาทและความคิดเห็นของภาคเอกชน รวมทั้งส่งเสริมภาพลักษณ์เชิงบวกด้านวัฒนธรรมของประเทศไทย เพื่อสร้างการยอมรับในเวทีนานาชาติ
โดยกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่ไทยมีต้นทุนและมีความพร้อมที่สุดในกลุ่ม 5F ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมบันเทิง (ภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ ซีรีส์ ดนตรี) กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (แฟชั่นและการออกแบบผลิตภัณฑ์) และกลุ่มอุตสาหกรรม Digital Content (เกม การ์ตูน แอปพลิเคชัน) โดยอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและสามารถผลักดันออกสู่ตลาดได้ทันที ได้แก่ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ อุตสาหกรรมดนตรีและ อุตสาหกรรมละครและซีรีส์ โดยเฉพาะซีรีส์วาย ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2564 ตลาดคอนเทนต์ของละครวาย มีมูลค่ากว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งตลาดส่งออกสำคัญของไทย คือ ประเทศอาเซียนบวกสาม จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมถึงไต้หวันและฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและละตินอเมริกา ซึ่งมีศักยภาพในการเติบโตสูง ขณะที่อุตสาหกรรมดาวรุ่ง ได้แก่ อุตสาหกรรมเกม อุตสาหกรรมการ์ตูนและคาแรคเตอร์ ตลาดหลัก คือ กลุ่มประเทศอาเซียนบวกสาม อเมริกาเหนือ และยุโรป
ส่วนการพัฒนาอุตสาหกรรมกีฬาอีสปอร์ต (E-Sports) มีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง CEA เล็งเห็นว่าเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและการเติบโตสูง สอดรับกับความสนใจของคนรุ่นใหม่ และเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะสนับสนุน การสร้างระบบนิเวศของอุตสาหกรรมเกมและแอนิเมชันให้เติบโตยิ่งขึ้นและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดย CEA พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการส่งเสริมการแข่งขันอีสปอร์ต บ่มเพาะแรงงานสร้างสรรค์ ให้มีความรู้ด้านการบริหารจัดการและการทำการตลาดสำหรับผู้ประกอบการเกม รวมทั้งส่งเสริมธุรกิจเกี่ยวเนื่องและต่อยอดจากเกมเติบโตขึ้น ตั้งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลางการจัดการแข่งขันอีสปอร์ตในภูมิภาคอาเซียน (Hub of E-Sports Leagues and Tournaments in ASEAN)
“สิ่งที่ CEA จะทำต่อไป คือการร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการสร้าง Soft Power โดยเน้นการพัฒนาบุคลากรสร้างสรรค์ (Creative People) การเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ธุรกิจสร้างสรรค์ (Creative Business) การพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Place) ภายใต้แนวทางยุทธศาสตร์ที่ CEA จะดำเนินต่อไป คือ
- 1. ส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของทุนวัฒนธรรมและเมืองสร้างสรรค์ (Empower cultural asset and creative city)
2. พัฒนาศักยภาพธุรกิจสร้างสรรค์และยกระดับทักษะสร้างสรรค์ของคนไทย (Build creative business competitiveness)
3. พัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทย ภายใต้บริบทใหม่ เพื่อการแข่งขันในระดับสากล (Enter the global market)” ดร.ชาคริต กล่าวทิ้งท้าย