เมื่อ : 05 ก.ย. 2565 , 338 Views
วช.หนุนนวัตกรรมเลเซอร์สำหรับใช้ส่งเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุในระดับปฐมภูมิ
 จากสภาพสังคมไทยในทุกวันนี้มีจำนวนตัวเลขผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งที่ตามมาก็คือการเยียวรักษาด้านสุขภาพไม่ว่าจะเป็นโรคประจำตัวหรือโรคที่เป็นไปตามวัย เช่นเดียวกับปัญหาสุขภาพในช่องปากที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักจะเจอ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องหรือถูกวิธี จากแผลอักเสบในช่องปากที่เรื้อรังอาจกลับกลายเป็นโรคร้ายอย่างมะเร็งได้ ด้วยเหตุนี้ทางกลุ่มวิจัยเลเซอร์วิทยาทางทันตแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ร่วมกันคิดค้นนวัตกรรมเลเซอร์เพื่อรักษาแผลอักเสบหรือรอยโรคในช่องปากสำหรับผู้สูงอายุ ในท้องที่ห่างไกลโดยเฉพาะในระดับตำบลให้สามารถเข้าถึงบริการการรักษาทางทันตกรรมอย่างมีคุณภาพ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

 

ดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง  ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์คิดค้นและนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์กับประชาชน เป็นองค์ความรู้ที่เสริมศักยภาพในด้านคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม สามารถขยายผลต่อยอดในเชิงพาณิชย์ สนับสนุนในภาคการผลิตต่าง ๆ  ที่ผ่านมาทาง วช.ได้ให้การสนับสนุนนวัตกรรมด้านอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ในการรักษาวินิจฉัยโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง อย่างปัญหาสุขภาพในช่องปากเป็นภัยคุกคามที่ไม่ควรมองข้ามเพราะบางอาการอาจนำไปสู่โรคร้ายตามมาได้ นวัตกรรมงานวิจัยด้านเลเซอร์เพื่อรักษาโรคในช่องปากผู้สูงอายุนับว่าเป็นอุปกรณ์ทางทันตกรรมที่ทันสมัยลดความเสี่ยงสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งทาง วช.ได้ให้การสนับสนุน เพื่อขยายโอกาสในการรักษาให้ผู้สูงอายุที่อยู่ห่างไกลสามารถใช้บริการได้ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล


 
    

ศาสตราจารย์ ดร.ศจี สัตยุตม์ หัวหน้ากลุ่มวิจัยเลเซอร์วิทยาทางทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักจะมีปัญหาสุขภาพในช่องปากและอาจเกี่ยวโยงถึงโรคทางระบบที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ และหลอดเลือดหากใช้วิธีการรักษาด้วยการถอนฟัน หรือ ขูดหินน้ำลายจะห้ามเลือดในช่องปากได้ยาก มีรอยโรคก่อนเป็นมะเร็งในช่องปาก มีแผลอักเสบเรื้อรัง และมีอาการแสบร้อนบริเวณเยื่อบุในช่องปาก สำหรับกลไกในการรักษาด้วยเลเซอร์ทางทีมวิจัยได้ใช้เวลาในการค้นคว้าทดลองมากว่า 10 ปี ผลออกมาพบว่ามีประสิทธิภาพในการรักษา ซึ่งการใช้เลเซอร์นี้มีหลายกลุ่ม เช่น เลเซอร์ความเข้มข้นสูงใช้ผ่าตัดเนื้อเยื่ออ่อนช่องปาก และตัดฟันหรือผ่าตัดกระดูกได้ เลเซอร์แบบเฉพาะเจาะจงใช้เพื่อทำลายเนื้อเยื่อที่เป็นโรค และเลเซอร์ความเข้มต่ำซึ่งเป็นชนิดที่ใช้ในโครงการนี้คือ ใช้ความยาวคลื่น 8.30 นาโนเมตร ปรับตั้งเพื่อเป็นกลไกที่จะช่วยห้ามเลือดจากแผลในปากหรือแผลถอนฟัน  และลดอาการอักเสบ

 
    

จากผลสำเร็จทางคลินิกของนวัตกรรมเลเซอร์ในช่องปากที่ว่านี้ สามารถห้ามเลือดจากการถอนฟันหรือการขูดหินน้ำลายได้ดี ลดความเจ็บปวดแสบร้อนหรือลดการอักเสบของแผลในปาก ส่งเสริมการหายของแผลโดยไม่ต้องใช้ยา เนื่องจากยาทาที่มีสเตียรอยด์อาจทำให้ผู้สูงอายุติดเชื้อราในช่องปากได้ นอกจากนี้จากผลศึกษาวิจัยก็คือผู้สูงอายุให้การยอมรับเลเซอร์เพื่อช่วยห้ามเลือดและบรรเทาความเจ็บปวดแสบร้อนในช่องปาก เนื่องจากไม่เจ็บ ใช้เวลาน้อย ไม่เป็นภาระในการดูแลรักษา สามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลใกล้บ้านอย่างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบลได้ ซึ่งปัจจุบันนี้ได้ให้บริการในพื้นที่นำร่องเพื่อการศึกษาวิจัยทั้งในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ เพื่อสนับสนุนเจ้าหน้าที่ในการเยียวยารักษาผู้ป่วยในสถานบริการสุขภาพ ทั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล โรงพยาบาลชุมชนระดับอำเภอ และโรงพยาบาลทั่วไปในระดับจังหวัด ทั้งนี้ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่เป็นผู้ใช้นวัตกรรมเลเซอร์นี้ในการดูแลผู้สูงอายุได้เอง

 
    

สำหรับในอนาคตการขยายผลองค์ความรู้ด้วยนวัตกรรมเลเซอร์รักษาโรคช่องปาก ให้แพร่หลายอย่างกว้างขวางมากขึ้นมีความเป็นไปได้หลายรูปแบบ อาทิ ภาคเอกชนที่สนใจในการผลิต หรือสถานบริการสุขภาพที่มีความต้องการใช้เลเซอร์นี้ เพื่อใช้ในการรักษา สามารถติดต่อมาได้ โดยทางทีมวิจัยพร้อมให้การถ่ายทอดเทคโนโลยีและให้คำปรึกษาแก่ทันตแพทย์หรือบุคคลากรผู้นำไปใช้งาน และปัจจุบันได้มีการเผยแพร่องค์ความรู้นี้ทั้งในประเทศและขยายไปสู่เครือข่ายที่ต่างประเทศ ขณะเดียวกันจะมีการพัฒนาเครื่องเลเซอร์และกระบวนการ telehealth เพื่อสะดวกต่อการใช้งานในพื้นที่ห่างไกล และเพื่อเปิดโอกาสสำหรับหน่วยงานที่มีศักยภาพและมีความสนใจที่จะร่วมทำการวิจัยพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีนี้ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุไทย