เมื่อ : 27 ก.ค. 2565 , 393 Views
เปิดคลิปวิดีโอ นาดะ โซโซ บทเพลงสะท้อนความอาลัย ชินโซ อาเบะ ผลงานวิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต สจล. ถ่ายทอดความสัมพันธ์อันยาวนาน ไทย-ญี่ปุ่น
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมไว้อาลัยให้กับนายชินโซ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ซึ่งถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 ด้วยการขับร้องเพลง“นาดะ โซโซ” ซึ่งเป็นหนึ่งในบทเพลงที่ชาวญี่ปุ่นได้นำมาใช้เพื่อร่วมไว้อาลัยให้กับนายชินโซ อาเบะ โดยในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ นายกสภา สจล. รศ. ดร.คมสัน มาลีสี รักษาการแทนอธิการบดี ผศ. ดร.พิทักษ์ ธรรมวาริน คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต  รศ. ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ และ ผศ. นิดา ลาภศรีสวัสดิ์ ประธานหลักสูตรสาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น คณะศิลปศาสตร์ พร้อมด้วย นักศึกษาจากสถาบันโคเซ็นแห่ง สจล. และนักศึกษาชมรมคอรัส ได้เป็นตัวแทนของ สจล. ร่วมร้องเพลงดังกล่าว

 
    

• เปิดความหมายสุดซึ้ง จากบทเพลง “นาดะ โซโซ” เพลง “นาดะ โซโซ” ซึ่งมีความหมายว่า “น้ำตาไหลริน” เป็นเพลงภาษาญี่ปุ่นที่สื่อความหมายถึงความรู้สึกของจากลาอย่างไม่มีวันหวนกลับ เพลงนี้ถูกแต่งในปี 1998 ทำนองโดยวงบีกิน (BEGIN) และแต่งเนื้อร้องโดย เรียวโกะ โมริยาม่า (Ryoko Moriyama) โดยเธอได้ปล่อยเพลงนี้มาพร้อมกับอัลบั้ม Time is Lonely ในปี 1998 และในปี 2001 เพลงนี้ได้ถูกนำกลับมาเรียบเรียงใหม่ และขับร้องโดย ริมิ นัทสึกาว่า (Rimi Natsukawa)

• วิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต สจล. ผสานดนตรีไทย สู่การไว้อาลัยอย่างซาบซึ้ง วิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต สจล. ได้จัดทำเวอร์ชันใหม่เพื่อไว้อาลัยให้ “ชินโซ อาเบะ” โดยเฉพาะ ซึ่งมีการผสมผสานท่วงทำนองด้วยเสียงทุ้มต่ำของซออู้ อันเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น และเผยถึงความเป็นไทย พร้อมทั้งแสดงถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่น และ สจล. ที่มีมาอย่างยาวนานอีกด้วย ทั้งนี้มีอาจารย์สมโภช  มั่งสาคร ครูใหญ่ โรงเรียนเวลอาร์ท (WAS) สถาบันศิลปะและดนตรี ผู้ที่มีความสามารถด้านการเล่นซออู้ระดับประเทศ ให้เกียรติมาร่วมบรรเลงซออู้ พร้อมทั้ง ผศ. ขจรศักดิ์ กิตติเมธาวีนันท์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต สจล. ให้เกียรติร่วมบรรเลงเปียโนในบทเพลงดังกล่าว

• เปิดความสัมพันธ์ สจล. และประเทศญี่ปุ่นยาวนานกว่า 60 ปี สจล. เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาแห่งหนึ่งของไทยที่มีความสัมพันธ์แนบแน่น และยาวนานกับประเทศญี่ปุ่นมากกว่า 60 ปี โดยรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ของญี่ปุ่น ได้ร่วมสนับสนุนในการก่อสร้างอาคารเรียน ห้องปฏิบัติการ ซึ่งมีนักศึกษา และบุคลากรจำนวนมากของ สจล. ได้รับการสนับสนุนในการศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยชั้นนำในญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังมีการทำบันทึกข้อตกลงทางวิชาการ มีการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีกันมาโดยตลอด รวมถึงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมด้วย โดยนอกจากนี้ยังมีความร่วมมือในการจัดตั้งสถาบันโคเซ็นแห่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KOSEN-KMITL)

 

รศ. ดร.คมสัน มาลีสี รักษาการแทนอธิการบดี สจล. กล่าวเพิ่มเติมว่า สถาบันโคเซ็นแห่ง สจล. ถือเป็นการสนับสนุนและความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี 2561 โดยเป็นสถาบันการศึกษาที่มีเป้าหมายในการพัฒนากำลังคนด้านวิศวกรรม เทคโนโลยี และนวัตกรรม สนับสนุนการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยและภูมิภาค โดยที่ผ่านมารวมถึงในสมัยที่นายชินโซ อาเบะ ได้บริหารประเทศนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้ความสนับสนุนในด้านการศึกษาการวิจัยการแลกเปลี่ยนบุคลากรและทุนการศึกษาแก่นักศึกษาและอาจารย์ ของ สจล. ด้วยดีมาโดยตลอด

 

โดย สจล. ได้จัดงานไว้อาลัยแก่อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นายชินโซ อาเบะ โดยมี รศ. ดร.คมสัน มาลีสี รักษาการแทนอธิการบดี และ รศ. ดร.อนุวัฒน์ จางวนิชเลิศ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ สจล. เป็นตัวแทนกล่าวไว้อาลัย ทั้งนี้ยังมีอดีตอธิการบดี สจล. และ นายทาเคชิ อุจิดะ (Takeshi Uchida) เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย รวมถึงคณาจารย์ ศิษย์เก่าผู้ที่เคยได้รับทุนการศึกษาและเรียนต่อในประเทศญี่ปุ่นเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก โดยในนามของผู้บริหาร บุคลากร นักศึกษา และศิษย์เก่าของสจล. ขอแสดงความความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัว รัฐบาลญี่ปุ่น และประชาชนชาวญี่ปุ่นสำหรับความสูญเสียในครั้งนี้

ทั้งนี้สามารถรับชม เพลง “นาดะ โซโซ” ในเวอร์ชันไว้อาลัย “ชินโซ อาเบะ” โดยวิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต สจล. ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=IVLfuKV__OM
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมของวิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต สจล. ได้ทางเพจเฟซบุ๊ก www.facebook.com/imsekmitl เว็บไซต์ http://imse.kmitl.ac.th หรือติดตามความเคลื่อนไหวต่างๆ ของกิจกรรมภายในสถาบันได้ที่เว็บไซต์ https://www.kmitl.ac.th เพจเฟซบุ๊ก www.facebook.com/kmitlofficial