เมื่อ : 19 ก.ค. 2565 , 274 Views
สภาองค์กรของผู้บริโภค ชี้ชัด สินเชื่อบ้าน – ที่ดิน ‘ศรีสวัสดิ์’ เอาเปรียบผู้บริโภค
จากการที่ บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือหุ้นร้อยละ 99 ใน บริษัท ศรีสวัสดิ์พาวเวอร์ 2014 จำกัด ได้ส่งหนังสือถึงสำนักข่าวต่างๆ เพื่อชี้แจงถึงกรณีที่สภาองค์กรของผู้บริโภคแถลงข่าว ‘เตือนภัย บริษัทให้กู้สินเชื่อบ้านและที่ดินไม่จดจำนอง’ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 นั้น

(ข่าวที่เกี่ยวข้อง : https://www.tcc.or.th/deed-pawning/ / https://www.isranews.org/article/isranews-news/110247-TCC-Home-land-loans-without-mortgage-SAWAD-news.html)

โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวถึงกรณีการส่งหนังสือชี้แจงของบริษัทศรีสวัสดิ์ว่า เนื้อความที่ระบุในจดหมายดังกล่าวไม่ได้ชี้แจงถึงปัญหาอย่างตรงประเด็น ทั้งยังมีข้อความบางส่วนที่อาจทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสนและเข้าใจผิดได้ เช่น บอกว่าการไม่ส่งมอบคู่ฉบับสัญญานั้นไม่กระทบต่อผู้บริโภค การหยิบยกอีกบริษัทหนึ่งขึ้นมาเปรียบเทียบกับ บริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 2014 จำกัด ทั้งที่เป็นคนละบริษัทและได้รับใบอนุญาตไม่เหมือนกัน เป็นต้น

โสภณ อธิบายว่า สำหรับกรณีการไม่ส่งมอบสัญญาคู่ฉบับให้ผู้บริโภค ซึ่งทางบริษัทชี้แจงว่าได้แจ้งต่อผู้ขอรับสินเชื่อทุกราย ว่าสามารถติดต่อขอรับสำเนาเอกสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้องได้ในภายหลังตามความสะดวก พร้อมระบุว่า หากมีการฟ้องร้อง บริษัทจะต้องชี้แจงรายละเอียดรวมถึงนำส่งเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ศาลและผู้ขอรับสินเชื่อได้พิจารณาโดยละเอียดอยู่แล้ว นั่นแปลว่า บริษัทฯ ไม่ได้ส่งคู่ฉบับสัญญาให้ผู้บริโภคจริง

"สภาองค์กรฯ ยืนยันว่าการไม่ส่งมอบสัญญาคู่ฉบับนั้น เป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคแน่นอน และตามกฎหมายเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจต้องส่งมอบสัญญา รวมถึงเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้กับผู้บริโภคทันทีเมื่อลงนามในสัญญา ไม่ใช่สร้างภาระให้ผู้บริโภคต้องติดตามขอรับเอกสารในภายหลัง ซึ่งกฎหมายกำหนดโทษของผู้ประกอบการที่ไม่นำส่งคู่ฉบับไว้ คือ จำคุกไม่เกิน 1  ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" โสภณกล่าว

ส่วนกรณีการขายประกันพ่วงโดยไม่ให้สิทธิปฏิเสธนั้น แม้บริษัทแจ้งว่ามีนโยบายชัดเจนว่า ผู้ขอรับสินเชื่อไม่มีหน้าที่หรือเงื่อนไขใดๆ ในการซื้อประกันชีวิตหรือประกันวินาศภัยกับบริษัท บริษัทศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 2014 มีใบอนุญาตนายหน้าขายประกันตามกฎหมาย ย่อมทราบดีถึงกฎระเบียบในการขายประกัน ว่าผู้ขายประกันจะต้องมีใบอนุญาตเท่านั้น แต่กลับปล่อยให้พนักงานบางสาขาของบริษัทขายประกันโดยไม่มีใบอนุญาต  และสุดท้ายบริษัทได้ผลประโยชน์ค่านายหน้าการขายประกันตกได้แก่บริษัทนั้น กรณีย่อมแสดงให้เห็นว่าบริษัทรู้หรือควรจะรู้หรือมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดดังกล่าว ดังนั้นบริษัทจึงต้องรับผิดชอบต่อผู้บริโภคตามกฎหมาย

หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค กล่าวต่ออีกว่า ประเด็นการคิดดอกเบี้ยร้อยละ 24 ต่อปีซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด การที่บริษัทกล่าวอ้างถึงบริษัท ศรีสวัสดิ์ แคปปิตอล จำกัด ที่สามารถเก็บอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 25 ต่อปี เนื่องจากเป็นบริษัทสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับดูแลของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยนำมาเปรียบเทียบกับ บริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 2014 จำกัด คำชี้แจงเช่นนี้ทำให้เกิดความสับสน เนื่องจากทั้งสองบริษัท เป็นคนละนิติบุคคลกัน และบริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 2014 ไม่ได้มีใบอนุญาตดังกล่าว ทั้งนี้ ตามที่บริษัทอ้างคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นหลักฐานว่า ‘ธุรกรรมการซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินไม่ถือเป็นการให้กู้ยืมเงินภายใต้กฎหมายห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา’ นั้น อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด เพราะสัญญาที่ผู้บริโภคร้องเรียนมายังสภาองค์กรฯ นั้นไม่ใช่การทำธุรกรรมตั๋วสัญญาใช้เงินแต่เป็นสัญญากู้ยืมเงิน ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา

นอกจากนี้ การที่อ้างชื่อบริษัท ศรีสวัสดิ์ แคปปิตอล จำกัด ว่าเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตและมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยเกินได้โดยนำมาเกี่ยวโยงกับกรณีของบริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 2014 นั้น อาจทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจได้ว่าคู่สัญญาที่แท้จริงเป็นบริษัทศรีสวัสดิ์ แคปปิตอล จำกัด และย่อมเป็นการแสดงให้เห็นว่าบริษัท ศรีสวัสดิ์ แคปปิตอล จำกัด มีส่วนรู้เห็นหรือยินยอมหรือชักใยในการกระทำความผิดภายในกลุ่มของบริษัท ดังนั้นจึงสมควรที่จะต้องมีการตรวจสอบความเกี่ยวโยงของการกระทำความผิดของบริษัท ศรีสวัสดิ์ แคปปิตอล จำกัด ด้วย ว่ามีพฤติการณ์ร่วมกระทำความผิดหรือสนับสนุนให้มีการกระทำความผิดใด ๆ ด้วยหรือไม่

สำหรับประเด็นที่ผู้บริโภคไม่ได้รับเงินกู้ครบตามจำนวน และ บริษัทชี้แจงว่า ว่าเป็นค่าธรรมเนียมประกันอัคคีภัย ประกันชีวิตกลุ่ม และประเมินหลักประกัน สำหรับ “สินเชื่อบ้านและที่ดินไม่จดจำนอง” ย่อมเป็นการยอมรับว่าคำโฆษณาว่าการโฆษณาฟรีค่าธรรมเนียมนั้นไม่เป็นความจริง ถือว่าอาจเข้าข่ายโฆษณาหลอกลวง ซึ่งสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้มีหนังสือไปถึง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ขอให้ตรวจสอบโฆษณาดังกล่าว และต่อมา สคบ. ก็ได้มีหนังสือเชิญบริษัทเข้าไปชี้แจง

โสภณกล่าวต่อไปว่า ประเด็นที่บริษัทออกแบบการชำระสินเชื่อแบบผ่อนชำระ (สินเชื่อบ้านและที่ดินไม่จดจำนอง) โดยจำกัดการชำระเงินต้น ซึ่งเป็นวิธีการที่ทำให้ผู้บริโภคต้องมีภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ทั้งยังทำให้ผู้บริโภคไม่สามารปิดหนี้ได้โดยง่าย เพราะแม้ว่าผู้บริโภคจะชำระเงินรายงวดมากกว่ายอดที่กำหนด เงินที่เกินนั้นก็ไม่ได้นำไปหักลดยอดเงินต้นในทันที แต่ถูกเก็บเอาไว้เพื่อเป็นเงินชำระในงวดถัดไป

อีกทั้งการที่บริษัทฯ กล่าวอ้างว่า สาเหตุที่ต้องกำหนดให้ผู้กู้ชำระเงินให้ครบภายใน 12 เดือน เนื่องจากบริษัทฯ ต้องบริหารความเสี่ยง โดยการทำราคาประเมินบ้านและที่ดินใหม่ รวมถึงประเมินสภาพแวดล้อมของบ้านและที่ดินใหม่ดังกล่าว เพื่อให้มั่นใจว่าหลักประกันมีสภาพสมบูรณ์ เช่น ที่ดินไม่ได้มีการขุดหน้าดินไปขาย หรือ เกิดความเสียหายกับตัวบ้าน เป็นต้นนั้น เป็นการให้ข้อมูลที่ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนเพราะบริษัทมีการวางแผนบริหารความเสี่ยงอยู่แล้วโดยจำกัดวงเงินกู้ ไว้ที่ 200,000 บาทและไม่เกินร้อยละ 40 ของมูลค่าทรัพย์ที่ประเมินจากกรมที่ดิน จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องเก็บค่าประเมินดังกล่าว

ทั้งนี้ พบว่าบริษัทไม่ได้ชี้แจงเรื่องที่ไม่คืนโฉนดโดยอ้างว่ามีค่าธรรมเนียมค้างชำระแต่อย่างใด และพบข้อเท็จจริงว่ามีผู้บริโภคที่ไปใช้บริการสินเชื่อบ้านและที่ดินไม่จดจำนอง และพบปัญหาในลักษณะดังกล่าวเช่นกันผ่านสื่อสังคมออนไลน์จำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เฉพาะบริษัท ศรีสวัสดิ์พาวเวอร์ 2014 จำกัด เท่านั้น ที่มีพฤติการณ์ในลักษณะดังกล่าว แต่เชื่อว่าน่าจะมีอีกหลายบริษัทที่มีพฤติการณ์ทำนองเดียวกัน ซึ่งถือเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค และสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ในภาวะที่เศรษฐกิจถดถอย อีกทั้งเป็นการทำลายความสงบเรียบร้อยอันดีของประชาชน ซึ่งสภาองค์กรของผู้บริโภคจะเข้าไปตรวจสอบในทุกกรณีที่มีการกระทำความผิดเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค
 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ