เมื่อ : 14 ก.ย. 2564 , 1128 Views
แพทย์ชี้โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง รุนแรงกว่าที่คิด แนะภาครัฐให้สิทธิผู้ป่วยเท่าเทียมกัน
ทราบหรือไม่ว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง หรือที่เรียกว่า Atopic Dermatitis มากกว่า 230 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งพบได้ในทุกช่วงอายุ ในประเทศไทยพบบ่อยที่สุดในเด็กทารกจนถึง 3 ขวบปีแรก และพบว่ามีเด็กไทยอายุ 6-12 ปี ป่วยเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ร้อยละ 16.51 และพบน้อยลงในอายุ 13-17 ปี อยู่ที่ร้อยละ 12.79 ซึ่งหากไม่รีบทำการรักษาและดูแลให้ถูกวิธีตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจมีอาการรุนแรงมากขึ้นหรือเป็นเรื้อรังจนถึงตอนโตได้ ฉะนั้นการพบแพทย์โดยเร็วที่สุดเพื่อรับการรักษาอย่างต่อเนื่องจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด ช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการบรรเทาลง กลับมามีความมั่นใจในการใช้ชีวิต และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้  
 
นพ. กันย์ พงษ์สามารถ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์ โรคภูมิแพ้อิมมูโนวิทยา สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เปิดเผยว่า “ทุกวันที่ 14 กันยายนของทุกปี ได้ถูกกำหนดให้เป็น ‘วันผื่นภูมิแพ้ผิวหนังโลก’ หรือ ‘World Atopic Dermatitis Day’ ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เพราะถือเป็นหนึ่งในโรคผิวหนังที่แพร่หลายมากที่สุดในโลก โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประมาณการว่ามีผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ผิวหนังมากกว่า 230 ล้านคนทั่วโลก แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ โรคนี้กลับถูกมองข้าม โดยทั่วไปมักมองว่าเป็นแค่ความผิดปกติของผิวหนังภายนอก แสดงให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง การรณรงค์สร้างการรับรู้ในวงกว้างอย่างต่อเนื่องจึงเสมือนพลังขับเคลื่อนเพื่อให้วงการแพทย์  หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคประชาชนได้เริ่มหันมาใส่ใจและดูแลผู้ป่วยโรคนี้มากยิ่งขึ้น”
 
โดยในความเป็นจริงแล้ว โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เป็นมากกว่าอาการคันที่ผิวหนัง โรคนี้มีกระบวนการของการดำเนินโรคอย่างเป็นระบบ ซึ่งได้แบ่งชั้นของความรุนแรงของโรคเป็น 3 ส่วนด้วยกัน คือ รุนแรงน้อย รุนแรงปานกลาง และรุนแรงมาก  ซึ่งมีปัจจัยหรือตัวแปรที่เข้ามากระตุ้นความรุนแรงของโรคได้ในหลายมิติ ที่สำคัญโรคนี้ยังส่งผลกระทบต่อตัวผู้ป่วยเองทั้งในด้านสภาพร่างกาย สภาพจิตใจ นับรวมถึงความมั่นใจในการใช้ชีวิต และคุณภาพชีวิต ไม่เพียงเท่านั้นโรคนี้ยังส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่ครอบครัวผู้ป่วยอีกด้วย  
 
นพ. กันย์ พงษ์สามารถ กล่าวแนะนำให้ผู้ปกครองควรสังเกตลูกว่ามีอาการของผิวหนังอักเสบ ได้แก่ แห้ง แดง คัน โดยอาการคันจะเด่น ผู้ป่วยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังจะมีอาการคันยุบ ๆ ยิบ ๆ จนไม่สามารถนั่งอยู่นิ่ง ๆ ได้ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้บริเวณผิวหน้า แขน ขา ข้อพับ ซอกคอ มือ เท้า รอบใบหู หรือศรีษะ ในรายที่มีอาการรุนแรงก็จะมีผื่นขึ้นได้ทั้งตัว มีน้ำเหลืองเยิ้มตามผิวหนัง และผู้ป่วยบางรายอาจมีโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจร่วมด้วย โดยผู้ปกครองควรพาบุตรหลานมาปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อจะได้วางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้อง เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจส่งผลให้มีอาการรุนแรงขึ้นในระยะยาว
 
  
 
ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุถึงสาเหตุของการเกิดโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังได้อย่างชัดเจน แต่เชื่อว่าอาจเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน อาทิ
  • • ปัจจัยทางพันธุกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยภายในของผู้ป่วยที่เกิดความผิดปกติของผิวหนังร่วมกับการมีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ในกรณีที่บิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งมีประวัติเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง บุตรก็มีโอกาสเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง สูงกว่าคนปกติ 2-3 เท่า แต่หากบิดาและมารดาเป็นผู้ป่วยโรคนี้ทั้งคู่ บุตรก็มีโอกาสเป็นสูงกว่าคนปกติ ถึง 3-5 เท่า
    • ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นให้อาการกำเริบ โดยผู้ป่วยแต่ละรายจะมีปัจจัยกระตุ้นที่แตกต่างกันไป ปัจจัยกระตุ้นที่พบได้บ่อย เช่น ภาวะอากาศร้อนจัดหรือหนาวจัด การติดเชื้อที่ผิวหนัง การแพ้สารเคมีบางชนิด การใส่เสื้อผ้าที่ระคายเคือง หรือสัมผัสสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง เป็นต้น
 
นอกจากนี้ ยังไม่มีวิธีการรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังให้หายขาดได้ โดยแนวทางการรักษาที่ผ่านมาจึงเป็นเพียงการรักษาผิวหนังที่อักเสบให้กลับมาเป็นผิวหนังที่ปกติ และป้องกันการกำเริบซ้ำของผื่น โดยแพทย์จะใช้วิธีบรรเทาโรคตามอาการที่เกิดขึ้น อาทิ ใช้ครีมมอยเจอไรเซอร์เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและลดอาการคัน หรือในกลุ่มที่มีอาการมากขึ้น ก็ต้องใช้ยาทาสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบของผิวหนัง หรือบางรายที่มีบริเวณผื่นคันหลายตำแหน่งเป็นวงกว้างก็อาจต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกันร่วมด้วย ซึ่งในกลุ่มยาทาสเตียรอยด์ และยากดภูมิคุ้มกัน ก็จะมีข้อจำกัดเพราะหากมีการใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ย่อมส่งผลข้างเคียง อาจกระทบต่อภาวะการเจริญเติบโตของเด็ก
   
นพ. กันย์ พงษ์สามารถ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ด้วยเทคโนโลยีความก้าวหน้าทางการแพทย์ ทำให้ปัจจุบันมีนวัตกรรมการรักษาแบบใหม่ อาทิ การใช้ยากลุ่มชีวภาพ ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งของการรักษาผู้ป่วยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ที่นับว่ามีประสิทธิภาพมาก โดยนวัตกรรมรูปแบบใหม่นี้ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้รักษาโรคในกลุ่มภูมิแพ้ชนิดเดียวกับโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบนี้โดยเฉพาะ ซึ่งสิ่งสำคัญคือวิธีนี้สามารถยังช่วยลดการใช้สเตียรอยด์รวมถึงลดการใช้ยากดภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งที่ควบคุมโรคไม่ได้ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสามารถกลับมามีอาการที่ดีขึ้นและกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติหากได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง”
 
แต่ด้วยทุกวันนี้ ประเทศไทยยังมีข้อจำกัดในเรื่องสิทธิของผู้ป่วยในการเข้าถึงการรักษาอย่างยั่งยืน ทั้งในด้านระบบสาธารณสุขที่ไม่มีความสัมพันธ์หรือเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะเมื่อมีการเปลี่ยนสถานพยาบาล รวมถึงยังมีสิทธิการรักษาต่าง ๆ หลายประเภท อาทิ สวัสดิการของรัฐ บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า บัตรประกันสังคม เป็นต้น ซึ่งก็ยังไม่สามารถครอบคลุมการเข้าถึงการรักษาโรคได้อย่างที่ควรจะเป็นทั้งหมด ทำให้ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยาบางรายการเกิดภาระค่าใช้จ่าย ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่ผ่านมาบัตรสุขภาพในแต่ละประเภทยังมีมาตรฐานการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่แตกต่างกัน อีกทั้งยังมีมาตรฐานที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดปัญหาเวลาที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องเปลี่ยนสิทธิ เช่น หากบุตรมีพ่อหรือแม่รับราชการหรือทำงานรัฐวิสาหกิจก็จะได้รับสวัสดิการของรัฐไปด้วยจนถึงอายุ 20 ปี แต่หลังจากนั้นจะถือว่าพ้นสิทธิการรักษาของสวัสดิการของรัฐ  ไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายต่อไปได้ โดยตามระบบก็จะถูกเปลี่ยนไปให้ใช้สิทธิบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า
 
  
 
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเด็กเหล่านี้สำเร็จการศึกษา หลายๆ คนก็จะถูกเปลี่ยนสิทธิเป็นประกันสังคม และมักจำเป็นต้องเปลี่ยนสถานพยาบาล และเปลี่ยนแพทย์ผู้รักษาอีกครั้ง เรื่องนี้กลายเป็นปัญหาไม่เพียงเฉพาะกับผู้ป่วยโรคผื่นผิวหนังอักเสบชนิดนี้ แต่ยังเกิดกับผู้ป่วยโรคเรื้อรังอื่นๆ มากมายที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาต่อเนื่อง ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากจำต้องยุติการรักษา เนื่องจากภาระค่าใช้จ่าย เป็นต้น ซึ่งในแง่ของสิทธิมนุษยชนในหมวดสุขภาพของสหประชาชาติแล้ว สิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลของประชาชนทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กและเยาวชน ควรจะได้รับสิทธิในการเข้าถึงและดูแลรักษาด้านสุขภาพในมาตรฐานเดียวกันอย่างเท่าเทียมกัน ในส่วนนี้ยังถือเป็นความท้าทายของระบบสาธารณสุขของไทยอย่างมาก จึงอยากวิงวอนให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณาในระดับนโยบายด้านสุขภาพของประชาชนอย่างยั่งยืนภายใต้มาตรฐานเดียวกัน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างถ้วนหน้า
 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ