เมื่อ : 13 ก.ค. 2565 , 347 Views
สวธ.จัดการประกวดดนตรีและมาร์ชชิ่งอาร์ทชิงแชมป์โลก 2022 วันแรกคึกคัก มีนักดนตรีเยาวชนไทย-นานาชาติเข้าร่วม ๒๓ วง
นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ปีนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ได้ร่วมกับ สมาคมดนตรีและมาร์ชชิ่งอาร์ทสากล และหน่วยงานพันธมิตร ได้จัดการประกวดดนตรีและมาร์ชชิ่งอาร์ทชิงแชมป์โลก ๒๐๒๒ (WAMSB World Championship 2022) ณ ประเทศไทย ถือได้ว่าเป็นการประกวดดนตรีระดับโลกรายการแรกที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพ ภายหลังจากเปิดตัวเมื่อปีที่ผ่านมา แต่เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด ๑๙ ทำให้ต้องระงับไป ซึ่งการจัดกิจกรรมนี้ก็เพื่อส่งเสริมพัฒนาศักยภาพของเยาวชนและบุคลากรผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในวงการดนตรีและมาร์ชชิ่งอาร์ทของประเทศไทยให้มีประสบการณ์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักดนตรีชาวไทยและชาวต่างชาติ พัฒนาศักยภาพทางดนตรี รวมทั้งสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย พร้อมส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักในเวทีโลก

 
        

    .   
 
การประกวดดนตรีและมาร์ชชิ่งอาร์ทชิงแชมป์โลก ๒๐๒๒ ที่จัดระหว่างวันที่ ๑๑ - ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย อาคารนิมิบุตร สนามกีฬาแห่งชาติ และการแข่งขันแบบออนไลน์ มีประเทศที่เข้าร่วมในครั้งนี้รวม ๑๙ ประเทศ  ได้แก่ ประเทศกัมพูชา  บรูไน  ลาว  มาเลเซีย  เมียนมาร์  ฟิลิปปินส์  สิงคโปร์  เวียดนาม  อินโดนีเซีย  สหรัฐอเมริกา ประเทศแคนาดา  เนเธอร์แลนด์  ญี่ปุ่น  สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล  สาธารณรัฐโคลอมเบีย  เวเนซุเอลา  ศรีลังกา  อินเดีย และประเทศไทย ซึ่งเกณฑ์การประกวดเป็นการให้คะแนนเพื่อจัดลำดับโลก โดยประกอบด้วยการประกวด ๖ ประเภท ดังนี้ ๑) ประเภท Concert Band ได้แก่ Division 1 / World Division ๒) ประเภท Indoor Show Band ได้แก่ Division 1 / World Division ๓) ประเภท Marching Parade ได้แก่ Division 1 / Color Guard (World Division) / Drumline Battle  ๔) ประเภท Ensemble ได้แก่ Brass Ensemble  / Woodwind Ensemble -Mixed Ensemble / Marching Percussion Ensemble  ๕) ประเภท Solo (Winds Instrument) / Solo (Drum or Multi-Percussion) / Solo (Keyboard Percussion) / Solo (Marching Percussion)  และ ๖) ประเภท Showcase (Concert Band)
 
โดยการประกวดในวันแรก ๑๑ กรกฎคม ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มีการประกวดในประเภท Concert Brand Division / Brass Ensemble /  Woodwind Ensemble และ Showcase มีวงดนตรีตัวแทนประเทศไทย เข้าแสดงฝีมือการเล่นดนตรีในประเภทต่าง ๆ รวม ๒๓ วง อาทิ โรงเรียน มศว ประสานมิตร ฝ่ายมัธยม , โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน , โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า, วิทยาลัยนาฏศิลปะนครราชสีมา, มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา, โรงเรียนเทพศิรินทร์, โรงเรียนศึกษานารี, โรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ , วงซาลิมเมเนียนวินด์ออร์เคสตรา (ศิษย์เก่าวัดสุทธิวราราม), โรงเรียนสุรนารี เป็นต้น และปิดท้ายด้วย การแสดงดนตรี Showcase จากสหรัฐอเมริกา จากนั้นเป็นการประกาศผลการประกวดและมอบรางวัลให้กับวงประเภทต่าง ๆ

 
        

        
  
 
ในการประกวดประเภท Brass Ensemble นายสุริยา ลีลานารากร นักศึกษาชั้นปี่ที่ ๔ จากวงสำโรงบราส ควิทแตท มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ผู้เล่นเครื่องดนตรีตำแหน่ง Trumpet 1 ได้เปิดเผยความในใจถึงสาเหตุที่เข้ามาร่วมประกวดในครั้งนี้ ว่า ถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประกวดดนตรีและมาร์ชชิ่งอาร์ทชิงแชมป์โลก ๒๐๒๒ เป็นรายการประกวดดนตรีระดับโลก ถือเป็นโอกาสที่ดีในฐานะผู้ที่เรียนดนตรี เล่นดนตรี จะได้เก็บเกี่ยวประสาบการณ์ในการประกวด จะได้เข้าสังคมของนักดนตรีที่กรุงเทพฯ ได้พบปะกับเพื่อน ๆ พี่น้อง นักดนตรีต่างภูมิภาคกันด้วยหลายวงที่เข้ามาแข่งขัน มีมาจากหลายจังหวัด ที่สำคัญการเข้าร่วมประกวดในครั้งนี้ เปรียบเสมือนการได้มาพบหมอ เพื่อตรวจสุขภาพทางดนตรีประจำปี คำแนะนำหรือข้อชี้แนะของกรรมการตัดสิน ถือเป็นเรื่องดีที่จะนำไปปรับปรุงพัฒนาวงดนตรีของตน แก้ไขในข้อที่ผิดพลาด เปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ทั้งเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักดนตรีรุ่นน้องที่มหาวิทยาลัย และเด็กในชุมชนที่สงขลา ส่วนที่คาดหวังคือ ได้ลำดับคะแนนติด ๑ ใน ๓ ของประเภทที่เข้าแข่งขัน การประกวดในครั้งนี้จึงเป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้ง่าย ๆ จึงขอเชิญชวนให้วงดนตรีต่าง ๆ ได้เข้าร่วมประกวดรายการนี้หรือรายการระดับโลกอื่น ๆ ต่อไป 
 
ด้าน นายจิรายุส สุทธิประภา นักศึกษาชั้นปีที่ ๓ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา นักดนตรีผู้เล่นในตำแหน่ง French Horn หนึ่งในเยาวชนที่ร่วมวงสำโรงบราส ควิทแตท เล่าว่าทางวงได้เตรียมฝึกซ้อมเพื่อเข้าร่วมประกวดรายการนี้ประมาณ ๒-๓ เดือน มีมาตรฐานในการเล่นดนตรีเหมือนวงอื่นที่เข้าร่วมรายการนี้ การแสดงดนตรีจะเน้นใช้หู การฟังดนตรี ซึ่งเป็นการประกวดดนตรีประเภทเครื่องเป่า Brass Ensemble ประกอบด้วยเครื่องลมทองเหลือง ๔ ชนิด นักดนตรี ๕ คน ได้แก่ ทรัมเป็ต ๒ ฮอร์น ๑ ทรอมโบน ๑ และ ทูบา ๑ คน ซึ่งทางวงจะมีจุดอ่อนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ Covid 19 ทำให้ต้องเปลี่ยนตัวผู้เล่นบ่อย แต่มีจุดแข็งคือ บทเพลงที่เอามาใช้แข่งขัน คือ เพลง western fanfare เป็นเพลงที่มีหลายคาแร็คเตอร์ในเพลงเดียว มีสีสันท่วงทำนองหลากหลาย ทำให้มีความน่าสนใจ ส่วนผลของการแข่งขันจะเป็นอย่าง ไม่คาดหวังในลำดับที่ แต่จะแสดงให้เต็มความสามารถ หวังเพียงจะสร้างชื่อเสียงให้คนทั่วไปได้รู้จักมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
 
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมและเชียร์ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายเพียงแสดงผลตรวจ ATK (ไม่เกิน 24 ชม.) ก่อนเข้างาน ติดตามความเคลื่อนไหวเพิ่มเติมได้ทาง แฟนเพจกรมส่งเสริมวัฒนธรรม https://www.facebook.com/DCP.culture และ https://www.facebook.com/MarchingArtsInternational