เมื่อ : 02 ก.ค. 2565 , 558 Views
“สยามคูโบต้า” จับมือ “อุดรธานี” สร้าง “อุดรธานี เมืองต้นแบบปลอดการเผา และลดโลกร้อน” ขยายความรู้นวัตกรรมเกษตรทดแทนการเผาพร้อมตั้งเป้าลดการเผาให้เป็นศูนย์
บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ลุยขยายโมเดลความสำเร็จ เกษตรปลอดการเผา และเกษตรลดโลกร้อนจับมือหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของจังหวัดอุดรธานี ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ สร้างโมเดล อุดรธานี เมืองต้นแบบปลอดการเผา และลดโลกร้อนเป็นจังหวัดที่ 8 ดึงองค์ความรู้ KUBOTA (Agri) Solutions เกษตรครบวงจร เอกลักษณ์เฉพาะของคูโบต้า มุ่งแก้ปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในภาคการเกษตร ตลอดจนบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร พร้อมตั้งเป้าลดการเผาในพื้นที่การเกษตรให้เป็นศูนย์ 

 
                  
นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า “การแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน ฝุ่นละออง PM 2.5 เป็นนโยบายสำคัญที่รัฐบาลให้ความเป็นห่วงพี่น้องประชาชนโดยสั่งการให้เร่งบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนโดยเร็ว โดยขอให้ทุกจังหวัด ยึดนโยบายรัฐบาล ที่จะลดปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองให้ลดลงกว่าปีที่ผ่านมาร้อยละ 20 สำหรับภาคการเกษตรของจังหวัดอุดรธานี ในห้วงระหว่างเดือนธันวาคม ถึงเมษายนของทุกปี มักมีการเผากำจัดวัชพืชและเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ทำให้เกิดปัญหาไฟป่าหมอกควันปกคลุม ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

 

โดยจังหวัดอุดรธานี มีนโยบายแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชนให้เข้ามามีบทบาทในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควัน ผลักดันนโยบายการงดเผาฟางข้าวและใบอ้อยของภาครัฐ แก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและอนุภาค PM 2.5 จากการเผาฟางและใบอ้อยหลังเก็บเกี่ยวของเกษตรกร เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายลดการเผาในพื้นที่การเกษตรของจังหวัดอุดรธานี ให้เป็น 0% ภายใต้แนวคิด “อุดรธานี เมืองต้นแบบปลอดการเผาและลดโลกร้อน” ซึ่งหากมีส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรทดแทนการเผา จะช่วยสร้างการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการป้องกันและแก้ไข ปัญหา รณรงค์และพัฒนากระบวนการผลิตพืชโดยวิธีปลอดการเผา รวมทั้งช่วยส่งเสริมและเผยแพร่องค์ความรู้ให้เกษตรกรในจังหวัดเกิดการพัฒนาศักยภาพด้านการเกษตรให้มีความมั่นคงในอาชีพอย่างยั่งยืน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์การหยุดเผาในพื้นที่การเกษตรของจังหวัดอุดรธานีต่อไป”

 

นายพิษณุ มิลินทานุช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการทั่วไป สายงานขาย การตลาดและบริการ บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า “ประเทศไทยเผชิญกับสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 โดยกว่า 54 % เกิดจากการเผาในที่โล่ง ซึ่งรวมถึงการเผาในพื้นที่ทางการเกษตร ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน สยามคูโบต้าจึงดำเนินโครงการ “เกษตรปลอดการเผา หรือ Zero Burn นับตั้งแต่ปี 2562 ที่ผ่านมา เพื่อรณรงค์และพัฒนากระบวนการผลิตโดยวิธีการทำเกษตรปลอดการเผา ตลอดจนการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่วัสดุเหลือใช้หลังการเก็บเกี่ยว เช่น ฟางข้าว ตอซังข้าว และใบอ้อย ด้วยการนำเอานวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรและองค์ความรู้ด้านการเกษตร ภายใต้ องค์ความรู้ KUBOTA (Agri) Solutions เกษตรครบวงจร มาปรับใช้ โดยในปีนี้ได้ต่อยอดเกษตร ลดโลกร้อน เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน

 

สำหรับโครงการเกษตรปลอดการเผา และเกษตรลดโลกร้อน มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงเครื่องจักรกลการเกษตร เพื่อทำการเกษตรในรูปแบบปลอดการเผา โดยตั้งเป้าให้เกษตรกรในพื้นที่สามารถเข้าถึงเครื่องจักรกลการเกษตร และนำไปใช้ในการทำการเกษตรปลอดการเผา สอดคล้องกับเป้าหมายภาครัฐในการลดการเผาในพื้นที่การเกษตรให้เป็นศูนย์ โดยที่ผ่านมา สยาม คูโบต้าได้จัดกิจกรรมรณรงค์และสัมมนาโครงการฯ รวมถึงดำเนินการจัดลงนามความร่วมมือโครงการเกษตรปลอดการเผา และเกษตรลดโลกร้อน ไปแล้ว 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดราชบุรี จังหวัดเชียงราย จังหวัดนครสวรรค์ ส่งผลให้ลดการเผาในภาคการเกษตรของจังหวัดที่เข้าร่วมโครงการไปแล้วกว่า 80 % นับตั้งแต่ก่อนเข้าร่วมโครงการ อีกทั้งยังสร้างรายได้และคืนสุขภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้พี่น้องเกษตรกรอีกด้วย
 

สำหรับสถานการณ์การเผาไหม้ของพื้นที่ภาคเกษตรของจังหวัดอุดรธานีพบว่า พื้นที่การเผาและจุดความร้อนสะสม (Hotspot) ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 พบว่ามีจำนวน 863 จุด โดยมาจากภาคการเกษตร 314 จุด แบ่งเป็น พื้นที่นาข้าว 31 % อ้อย 18 % พื้นที่เกษตรอื่นๆ 19 % ซึ่งจังหวัดอุดรธานีมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวกว่า 2 ล้านไร่ ส่งผลให้มีปริมาณฟางข้าวอัดก้อนถึง 60 ล้านก้อน นอกจากนี้ยังมีพื้นที่เพาะปลูกอ้อยอีกกว่า 6 แสนไร่ หากจังหวัด อุดรธานีได้มีการทำโครงการเกษตรปลอดการเผาจะทำให้เกิดโอกาสในการลดต้นทุนและสร้างรายได้ จะสามารถประหยัดค่าปุ๋ยได้ เนื่องจากจะช่วยคืนความสมบูรณ์และอินทรีย์วัตถุในดิน โดยเฉพาะธาตุอาหารหลักคิดเป็น 318 ล้านบาท ได้รายได้จากการจำหน่ายฟางข้าวอัดก้อนประมาณ 50-100 บาท/ ไร่ คิดเป็น 100 ล้านบาท นอกจากนี้พื้นที่การเพาะปลูกอ้อยที่มีอยู่กว่า 6 แสนไร่ สามารถประหยัดค่าปุ๋ยได้ 111 ล้านบาท ได้รายได้จากการจำหน่ายใบอ้อยอัดก้อนประมาณ 50-100 บาท/ ไร่ คิดเป็น 30 ล้านบาท ส่งผลให้เกิดรายได้สู่ชุมชนจากบริการรับอัดฟางข้าวถึง 840 ล้านบาท สามารถนำไปจำหน่ายให้ผู้ประกอบการปศุสัตว์หรือโรงไฟฟ้าชีวมวลได้           
 
 
สยามคูโบต้ามุ่งมั่นผลักดันแนวคิดเกษตรปลอดการเผา ด้วยการขยายพื้นที่ความร่วมมือของโครงการฯ ในปี 2565 นอกจากนี้ยังเตรียมเปิดต้นแบบหมู่บ้านเกษตรปลอดการเผา เผยความสำเร็จที่สยามคูโบต้าได้เข้าไปสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถนำความรู้มาลงมือปฏิบัติจริงกับพื้นที่การเกษตรจนเกิดเป็นต้นแบบเกษตรปลอดการเผาได้จริง พร้อมส่งต่อความรู้ไปยังภาคการเกษตรทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมภาคเกษตรกรรมให้เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป