ผลของการบริโภคเกลือลดโซเดียม ลดการเกิดโรคและเสียชีวิตของโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด
เมื่อ : 11 ก.ย. 2564 ,
499 Views
โดย รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ
ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็มและนายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย
ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็มและนายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย
ในการศึกษางานวิจัยในประเทศจีนล่าสุด ที่ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร New England Journal of Medicine ฉบับวันที่ 29 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา ถึงเรื่องราวของการบริโภคเกลือลดโซเดียม ทำให้สามารถลดการเกิดโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด และลดอัตราการเสียชีวิตได้ โดยการเก็บข้อมูลชาวจีนชนบทจำนวน 600 หมู่บ้าน เพื่อทำการศึกษาวิจัยแบบสุ่ม ซึ่งแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มทดลองที่จะได้รับเกลือสำหรับบริโภคเป็นเกลือลดโซเดียม (ประกอบด้วยโซเดียมคลอไรด์ร้อยละ 75 และ โพแทสเซียมคลอไรด์ร้อยละ 25) และกลุ่มควบคุมจะได้รับเป็นเกลือบริโภคทั่วไป (โซเดียมคลอไรด์ร้อยละ100)
รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็มและนายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในการทดลองนี้เปรียบเทียบเกลือทดแทนกับเกลือปกติในหมู่ผู้ที่มีประวัติเคยเป็นโรคหลอดเลือดสมองหรือมีอายุ 60 ปีขึ้นไปและมี ความดันโลหิตสูงเป็นเวลา 5 ปี พบว่า ในการวิจัยครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมวิจัยจำนวน 20,995 ราย กลุ่มที่บริโภคเกลือลดโซเดียม มีอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดสมองน้อยกว่ากลุ่มที่บริโภคเกลือปกติอย่างมีนัยยะสำคัญ รวมไปถึงอัตราการเกิดโรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือดและอัตราการเสียชีวิตก็ลดลง ซึ่งผลการศึกษาที่ได้ผลดีเกิดจากการลดความดันโลหิตที่ได้ประสิทธิภาพในกลุ่มที่บริโภคเกลือลดโซเดียม อย่างไรก็ตามในการศึกษานี้ไม่ได้รวบรวมผู้ที่มีโรคไตรุนแรงเข้าร่วมการศึกษาด้วย
ด้านพญ.ศศิธร คุณูปการ อายุรแพทย์โรคไต กล่าวว่า การบริโภคเกลือลดโซเดียมสามารถลดอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและโรคหลอดเลือดอื่น ๆรวมถึงการเสียชีวิตโดยไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากโพแทสเซียมสูงรุนแรง ซึ่งในภูมิภาคที่มีการบริโภคโซเดียมเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานได้แก่ ในประเทศแถบเอเชีย แอฟริกาและลาตินอเมริกา จึงเหมาะที่จะหันมาบริโภคเกลือลดโซเดียมให้มากขึ้น ซึ่งจากผลการวิจัยครั้งนี้อาจพิจารณานำนโยบายการใช้เกลือลดโซเดียมไปปรับใช้ได้ เพราะเข้าถึงได้ในราคาไม่แพงและได้ผลค่อนข้างดี ในประเทศไทยขณะนี้มีทั้งเกลือ น้ำปลา ซี่อิ้ว และเครื่องปรุงรสที่ลดโซเดียมหลายยี่ห้อในซุปเปอร์มาร์เก็ต แต่พบว่าราคายังสูงกว่าสูตรปกติ ดังนั้นถ้าหากภาครัฐชดเชยส่วนต่างราคาตรงนี้ อาจจะทำให้ผู้บริโภคหันมานิยมบริโภคผลิตภัณฑ์เหล่านี้กันมากขึ้น ซึ่งจะมีผลดีต่อสุขภาพประชาชนผู้บริโภคในระยะยาวและส่งผลให้ลดภาระค่ารักษาพยาบาลของประเทศลงได้อย่างมาก