เมื่อ : 30 มิ.ย. 2565 , 421 Views
“สภาองค์กรของผู้บริโภค” ก้าวสำคัญของอาเซียน พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตทุกคน


นับเป็นก้าวสำคัญของภูมิภาคอาเซียนในการที่ประเทศไทยมี สภาองค์กรของผู้บริโภค (Thailand Consumers Council -TCC) ที่ดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคในทุกด้าน ขยายฐานองค์กรสมาชิกในแต่ละภูมิภาคได้มากถึง 273 องค์กร และผลักดันการแก้ไขอุปสรรคของผู้บริโภคจากรากหญ้าสู่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเป้าหมายสูงสุดร่วมกัน คือ คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้บริโภค

ก้าวแรกในการทำงานปีแรก สภาองค์กรของผู้บริโภคจะนำตัวแทนของผู้บริโภคกว่า 300 คนจากองค์กรของผู้บริโภคที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกกว่า 273 องค์กรทั่วประเทศ มาพบกันในงาน “รู้จัก รู้จริง รู้ใจ งานประชุมใหญ่สมาชิก” ที่จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้มุ่งสู่อนาคตและสร้างพื้นฐานคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ในวันที่ 28 - 29 มิถุนายน 2565 ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมมือกันวางแผนช่วยเหลือผู้บริโภคอย่างทั่วถึง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพภายใต้แนวคิดที่ว่า “ทุกคนคือผู้บริโภคที่ต้องได้รับการคุ้มครองและยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น”

 

โดยนางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ย้ำถึงความล้ำหน้าของกฎหมายไทยที่เห็นความสำคัญของการคุ้มครองผู้บริโภค ให้มีการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค ที่เกิดขึ้นจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ต่อมาเป็นองค์กรตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ทำให้ประเทศไทยยืนอยู่แถวหน้าของการคุ้มครองผู้บริโภคของอาเซียนที่ยังไม่มีประเทศใดมีการจัดตั้งสภาฯ ในลักษณะเดียวกันนี้มาก่อน พร้อมทั้งให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เสนอต่อคณะรัฐมนตรีจัดสรรเงินอุดหนุนเป็นรายปี เพื่อทำให้การดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นไปอย่างครบถ้วน มีประสิทธิภาพ  

การยืนอยู่ในแนวหน้าของการคุ้มครองผู้บริโภคในภาวะที่เกิดกระบวนการหลอกลวงข้ามชาติด้วยกลวิธีต่าง ๆ ทั้งการค้าขายออนไลน์ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ของมิจฉาชีพข้ามพรมแดนต่าง ๆ
ในขณะเดียวกัน ปัญหาการละเมิดสิทธิผู้บริโภค การค้าที่ไม่เป็นธรรม การบริการที่ไม่ได้มาตรฐานในประเทศ ล้วนเป็นความท้าทายของสภาองค์กรของผู้บริโภค

ดังนั้น โครงสร้างของสภาฯ จึงมีการกำหนดไว้ให้มีการแก้ไขปัญหาผู้บริโภคใน 8 ด้าน ซึ่งภายในหนึ่งปีที่ผ่านมา คณะทำงานทั้งแปดด้านนี้ได้แก้ไขปัญหาผู้บริโภค พร้อมทั้งข้อเสนอ และวิสัยทัศน์ใหม่ ๆ ต่อการแก้ปัญหาทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค

 

ด้านนางสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สภาฯ มีหน้าที่ “เพิ่มประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภค” โดยปัจจุบันสภาฯ มีสมาชิก 273 องค์กรกระจายอยู่ทั่วประเทศ และยังมีหน่วยงานประจำจังหวัด 13 จังหวัดที่คอยทำหน้าที่คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ช่วยรักษาประโยชน์ผู้บริโภคทั่วประเทศ ทั้งในระดับพื้นที่ ชุมชน รวมทั้งกลุ่มคนเปราะบาง
 
 


นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค
 
สภาองค์กรของผู้บริโภคยังมีหน้าที่ช่วย “ลดปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคซ้ำซาก” โดยการทำข้อเสนอนโยบายหรือมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคต่อคณะรัฐมนตรี หน่วยงานต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาซ้ำซาก และสร้างความเท่าทันให้กับผู้บริโภคเพื่อป้องกันปัญหา อีกทั้งสภาฯ ยังทำหน้าที่ได้อย่างเป็นอิสระ ซึ่งหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค อาจมีข้อจำกัดหากเป็นหน่วยงานรัฐด้วยกันเอง นอกจากนี้สภาฯ ยังมีหน้าที่ “รายงานประชาชน” ซึ่ง พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 กำหนดให้สภาองค์กรของผู้บริโภครายงานปัญหาการคุ้มครองผู้บริโภค ไปยังหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานอื่นที่รับผิดชอบและเผยแพร่ให้ประชาชนทราบได้ ซึ่งหน่วยงานของรัฐด้วยกันเองอาจตรวจสอบกันเองได้อย่างจำกัด

 

“สภาองค์กรของผู้บริโภคไม่มีอำนาจโดยตรงในการจัดการกับผู้ประกอบการที่กระทำความผิดเหมือนหน่วยงานรัฐ เพียงแต่เราสามารถฟ้องคดีเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ดังนั้น สิ่งที่สภาฯ และองค์กรสมาชิกทำคือการกระตุ้นและส่งเสริมให้ผู้บริโภคลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตัวเอง เปรียบเหมือนซอฟต์พาวเวอร์ ที่ร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทย” นางสาวสุภาพร กล่าว

สอดคล้องกับความเห็นจากหัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดลำปาง นายสมศักดิ์ ชมภูบุตร โดยชี้ให้เห็นบทบาทของหน่วยงานเขตพื้นที่ว่า หน่วยงานประจำจังหวัดเป็นกลไกที่เกิดขึ้นตามกฎหมาย และก่อเกิดขึ้นพร้อมกับ “สภาองค์กรของผู้บริโภค” เป็นโครงสร้างสำคัญและเป็นนวัตกรรมของระบบการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีหน่วยงานประจำจังหวัดกระจายอยู่ทั่วภูมิภาค เพื่อเป็นตัวแทนของผู้บริโภคทุกด้าน สามารถดำเนินงานคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว เท่าทันสถานการณ์และความต้องการของผู้บริโภค

 เช่นเดียวกับนางสาวชยาพร สะบู่ม่วง หัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ได้ตอกย้ำกลไกการประสานความร่วมมือที่ประสบความสำเร็จของสภาองค์กรของผู้บริโภค โดยในฐานะของคนรุ่นใหม่ที่ก้าวเข้ามาทำงานเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มีความมุ่งหวังที่จะพัฒนางานคุ้มครองผู้บริโภคให้ขยายการรับรู้ไปสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยย้ำว่า “เจนแซด” (Gen Z) หรือ “คนรุ่นใหม่” เป็นผู้นำในการกำหนดบรรทัดฐานตัวบุคคล แนวทางในการประสานความร่วมมือให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่เหล่านี้จึงควรเปิดกว้าง เพื่อปรับให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่มีความแตกต่างหลากหลาย
ปิดท้ายด้วยแนวทางการขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเป็นรูปธรรม โดยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากนางสาวกชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และหัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร ย้ำความมั่นใจภายใต้การทำงานของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นองค์กรผู้บริโภคที่สามารถฟ้องคดีแทนผู้บริโภคได้ ตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และยังเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนสาธารณประโยชน์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ทำงานมาอย่างยาวนาน เรามั่นใจว่า เมื่อมีสภาองค์กรของผู้บริโภคแล้ว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และองค์กรอื่น ๆ ที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค สามารถทำหน้าที่ได้มากขึ้น มีประสิทธิภาพขึ้นภายใต้การสนับสนุนของสภาองค์กรของผู้บริโภค