เมื่อ : 06 พ.ค. 2565 , 792 Views
Wellness Tourism การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ยูนิคอร์นใหม่เศรษฐกิจไทย “ยุคโควิด”
ก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 กระแสการดูแลสุขภาพเริ่มเป็นที่สนใจของผู้คนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และการระบาดของเชื้อไวรัส ยิ่งกลายเป็นตัวกระตุ้นกระแสรักสุขภาพมากขึ้นเป็นเท่าทวีคูณไปทั่วโลก เพราะมนุษย์เริ่มตระหนักว่า หนึ่งในวิธีสำคัญที่จะต่อสู้กับเชื้อโรคผู้รุกราน นั่นก็คือ การทำให้ตัวเราแข็งแรง มีเกราะป้องกันที่มีคุณภาพที่สุด มีภูมิต้านทานสูงขึ้น ซึ่งการจะได้มาซึ่งสิ่งเหล่านี้ ต้องอาศัยความมีวินัย ความรู้ ในการหมั่นบำรุง ดูแลร่างกายของเราอยู่เสมอ เพราะกว่าจะได้รับสุขภาพดี ต้องใช้เวลา 
 
ปัจจัยอีกข้อหนึ่งที่ทำให้การดูแลสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญมากขึ้นและมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นก็คือ หลายประเทศทั่วโลกกำลังทยอยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ หรือ UN ในปี ค.ศ. 2020 ทั่วโลกมีประชากรผู้สูงอายุเกิน 60 ปี เฉลี่ยประมาณ 13.5% หรือเป็นจำนวนประมาณ 1,049 ล้านคนทั่วโลก และจะเพิ่มเป็น 21% หรือ 2,100 ล้านคนในปี ค.ศ. 2050 สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2564 เรามีผู้สูงอายุที่อายุเกิน 60 ปี ราวๆ 13 ล้านคน หรือประมาณ 20% ถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก และมีการประเมินว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า ปี พ.ศ. 2575 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสูงสุดคือ มีคนอายุเกิน 60 ปี สูงถึง 28% ซึ่งแน่นอนย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศไปในวงกว้าง ทั้งภาคเศรษฐกิจ ภาคสังคมและระดับครอบครัว 
 
“เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่” หมอแอมป์ - นพ.ตนุพล วิรุฬหการุญ นายกสมาคมแพทย์ฟื้นฟูสุขภาพและส่งเสริมการศึกษาโรคอ้วน กรุงเทพ (BARSO) และประธานคณะผู้บริหาร บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก (BDMS Wellness Clinic) กล่าวแสดงความกังวล “เพราะเมื่อผู้สูงอายุมากขึ้น แต่คนเกิดน้อยลง คนวัยทำงานจึงลดจำนวนลงด้วย ทำให้ต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อมาเลี้ยงดูทั้งครอบครัว ไม่ใช่แค่ ภรรยา สามีและลูก แต่รวมถึงคุณพ่อคุณแม่ ไปจนถึงรุ่นปู่ย่าตายาย” 

 
 
ในปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทยมีอัตราการเกิดน้อยกว่าอัตราการเสียชีวิต สิ่งนี้ส่งผลกระทบในวงกว้าง ตั้งแต่ระดับเล็กจนไปถึงระดับใหญ่ เมื่อประเทศมีคนทำงานน้อยลง ศักยภาพในการเดินหน้าผลักดันประเทศก็จะน้อยลงตามไปด้วย การจัดเก็บภาษี การจัดเก็บรายได้ก็จะน้อยลง ต้องพึ่งพาการนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศมากขึ้น ดังนั้นย่อมดีกว่า หากมีการวางแผนดูแลสุขภาพตัวเราและผู้ใหญ่ในบ้าน ให้อายุมากขึ้นแบบมีคุณภาพ ร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรครุมเร้า และช่วยเหลือตัวเองได้ 
 
ปัจจัยอีกข้อหนึ่งที่ผลักดันให้มนุษย์หลายคนหันกลับมาวางแผนดูแลสุขภาพ ตั้งแต่ยังไม่เจ็บป่วย ก็คือโรคที่เกิดจากน้ำมือตัวเรา หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ Non-communicable diseases (NCDs)’ กลุ่มโรคนี้เป็นปัจจัยกระตุ้นให้คนทั้งโลกเริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพ 
 
คุณหมอแอมป์อธิบายว่า “เพราะกลุ่มโรค NCDs เปรียบเสมือน เพชฌฆาตเงียบ ที่ค่อยๆ คืบคลานเข้ามา แอบซ่อนเข้ามาในรูปแบบต่างๆ เช่น การนอนน้อย ความเครียดสะสม การรับประทานอาหารไม่ดี ไม่มีประโยชน์ เช่น  อาหารหวานจัด มันจัด เค็มจัด เนื้อสัตว์แปรรูป น้ำตาล High Fructose Corn Syrup (HFCS) ไขมันทรานส์ ไขมันอิ่มตัว การไม่ออกกำลังกาย การขยับตัวน้อยๆ ไปจนถึงสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษต่างๆ สุรา บุหรี่ และฝุ่นละออง PM 2.5 เป็นต้น”  
 
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO รายงานว่า ในปี พ.ศ. 2563 ผู้เสียชีวิตทั่วโลกจากกลุ่มโรค NCDs สูงถึง 71% หรือเป็นจำนวน 41 ล้านคนทั่วโลก และ WHO ยังรายงานอีกว่า ในปี พ.ศ. 2562 คนไทยเสียชีวิตด้วยกลุ่มโรค NCDs สูงถึง 76.58% มากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก หรือนับเป็นจำนวนเท่ากับ 351,880 คน “หากคำนวณง่ายๆ ทุกๆ 1 ชั่วโมง จะมีผู้เสียชีวิตจากโรค NCDs สูงถึง 44 คน” คุณหมอ แอมป์แสดงความกังวล
 
กลุ่มโรค NCDs หรือ กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ประกอบไปด้วยโรคต่างๆ ที่ส่วนใหญ่ เกิดมาจากหลายปัจจัย ทั้งพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิต แต่สิ่งที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ด้วยตัวเอง ตั้งแต่วันนี้คือ ‘วิถีชีวิต’ ขึ้นอยู่กับการประพฤติปฏิบัติตัวของเรา กลุ่มโรค NCDs ประกอบไปด้วย
 
1. โรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก หรือ Stroke โรคนี้คร่าชีวิตประชากรไทยเป็นอันดับหนึ่งในตระกูลโรค NCDs  2. โรคเบาหวาน 3. โรคความดันโลหิตสูง 4. โรคหลอดเลือดหัวใจ 5. โรคมะเร็งหลายชนิด 6. โรคทางเดินหายใจและปอด และ 7. โรคสุดท้าย คือ โรคอ้วน 
 
จากข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวมา ทำให้ “กระแสการดูแลสุขภาพ” เติบโตไปทั่วโลก สถาบันโกลบอลเวลเนส (Global Wellness Institute; GWI) ประเมินมูลค่าเศรษฐกิจสุขภาพทั่วโลก (Global Wellness Economy) พบว่ามีการเติบโตขึ้นอย่างมากตลอดหลายปีที่ผ่านมา มูลค่าการตลาดทางด้านสุขภาพทั่วโลก ในปี พ.ศ. 2560 อยู่ที่ 4.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ในปี พ.ศ. 2562 ขยับสูงขึ้นมาอยู่ที่ 4.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ  เฉลี่ยเติบโต ประมาณ 6-7 % ทุกปีติดต่อกันมาตลอดหลายปี จนมาถึงช่วงโควิดระบาด ส่งผลกระทบให้การเดินทางยากขึ้น หลายประเทศมีการปิดเส้นทางการเดินทาง ต้องอยู่แต่ในประเทศตัวเอง เพื่อการควบคุมโรค ทำให้มูลค่ารวมของกระแสธุรกิจทางด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นมาตลอด 10 ปี ร่วงลงไป ในปี พ.ศ. 2563 ร่วงลงมาอยู่ที่ 4.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ  

 
 
แม้ว่าภาพรวมมูลค่าเศรษฐกิจจะตกลง แต่ยังมีอยู่ 4 สาขาที่ยังคงเติบโต สวนกระแส แม้กระทั่งช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด 19 นั่นคือ
          1. Wellness Real Estate หรือ อสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ เติบโตขึ้นมาในปี พ.ศ. 2563 มูลค่าสูงถึง 275,100 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ เติบโตกว่าปีก่อนหน้าถึง 22.1% ถึงแม้ว่าช่วงที่โควิดระบาดนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางไม่ได้  ธุรกิจโรงแรมเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบสูงมาก แต่อสังหาริมทรัพย์หลายที่ทั้งในกลุ่มโรงแรมและที่อยู่อาศัย ได้ปรับตัวเอง ให้เอื้อไปทางด้านสุขภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งเครื่องกรองอากาศ การฆ่าเชื้อ หรือปรับสถานที่ให้เอื้อกับผู้สูงอายุ นั่นคือหลักการที่ทำให้สาขานี้ เติบโตทั่วโลกสูงเป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มการดูแลสุขภาพมากถึง 22.1% ในปีที่ผ่านมา
          2. Mental Wellness เป็นสาขาที่เกี่ยวกับสุขภาพจิต การลดความเครียด การนอนที่มีคุณภาพ ไปจนถึง การนั่งสมาธิ หรืออื่นๆ ที่ช่วยในการดูแลจิตใจ เป็นสาขาที่เกิดมาใหม่ แต่เติบโตได้อย่างรวดเร็ว มูลค่าในปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา สูงถึง 131,200 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตมากถึง 7.2% เป็นอีกสาขาที่เติบโตสวนกระแสโควิด เพราะเมื่อมีโรคระบาด ผู้คนย่อมมีความเครียด ต้องหาวิธีในการจัดการ ควบคุม หรือระบายความเครียดออกไป ยิ่งดูแลสุขภาพจิตได้เร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งดี
          3. Public Health, Preventive and Precision Medicine หรือภาคสาธารณสุข เวชศาสตร์ป้องกัน และการแพทย์เฉพาะบุคคล เน้นการตรวจสุขภาพเชิงป้องกัน ดูแลร่างกายก่อนการเจ็บป่วย เพื่อที่จะทราบความเสี่ยงของโรค และวางแผนการดูแลตัวเองอย่างดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ สาขาดังกล่าวเติบโตทั่วโลก สูงถึง 4.5% มูลค่าในปี พ.ศ. 2563 อยู่ที่ 375,400 ล้านเหรียญสหรัฐ
          4. Healthy eating, Nutrition and Weight loss เกี่ยวข้องกับอาหารสุขภาพ อาหารที่รับประทานแล้วดีกับร่างกาย อาหารไขมันต่ำ อาหารน้ำตาลต่ำ อาหารโซเดียมต่ำ อาหารลดน้ำหนัก อาหารออร์แกนิค ในปีพ.ศ. 2563 สาขานี้มูลค่าสูงถึง 945,500 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตสูงขึ้น 3.6%
 
ทั้งหมดนี้คือ 4 สาขาที่เติบโตขึ้น แม้ว่า จะอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ส่วนสาขาที่มูลค่าลดลงมากที่สุดคือ Wellness Tourism เพราะข้อจำกัดทางด้านการเดินทางและการควบคุมโรคระบาด 
 
การท่องเที่ยงเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism)
 
ต่อไปคุณหมอแอมป์จะมาเจาะลึก Wellness Tourism หรือ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อสร้างความเข้าใจในรายละเอียด ว่าการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพคืออะไร 
 
มูลค่าของ Wellness Tourism ในปี พ.ศ. 2561 มีมูลค่าสูงถึง 617,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปีต่อมาพ.ศ. 2562 เติบโตขึ้นถึง 720,400  ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 8.1% ต่อปี สูงกว่าค่าเฉลี่ยมูลค่าโดยรวมของสาขาธุรกิจเวลเนสทั้งหมดที่เติบโตปีละ 6.4% อย่างไรก็ตามปี พ.ศ. 2563 มาตรการควบคุมโรคโควิด 19 ทำให้มูลค่าตลาดเล็กลง เหลือเพียง 435,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ตกลงมาถึง 39.5% และมีการคาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา มูลค่าได้กลับมาเท่ากับ 652,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกลับมาเติบโต 20.9 % 
 
คุณหมอแอมป์แสดงความคิดเห็นว่า “ถ้ากลับมาเปิดประเทศ หรือโรคระบาดสามารถควบคุมได้ ความอันตรายลดลง การเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว จะช่วยให้กระแสการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพกลับมาแน่นอน”
 
จากการประเมินของ Global Wellness Institute การท่องเที่ยงเชิงสุขภาพ จะกลับมาเติบโตแบบก้าวกระโดด จากปีนี้ไปอีกหลายปี โดยเติบโตเฉลี่ยสูงถึงปีละ 20.9% และมูลค่าสาขานี้จะทะลุ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี พ.ศ. 2567 พอรู้อย่างนี้แล้ว ผู้ประกอบการสามารถเตรียมตัวให้พร้อมไว้ได้เลย 
 
จากรายงานของ Global Wellness Institute ในปี พ.ศ. 2561 อัตราการเติบโตของ Wellness Tourism ในทวีปเอเชีย สูงเป็นอันดับ 1 ของโลก เติบโตขึ้น 33% จาก 194 ล้านทริป เป็น 258 ล้านทริปภายในช่วงเวลาสองปี เช่นเดียวกับประเทศไทยซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำของนักท่องเที่ยวหลากหลายกลุ่มมาอย่างยาวนาน การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจะเป็นอีกหนึ่งอาวุธสำคัญที่เข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพของอุตสากรรมการท่องเที่ยวให้กับประเทศ เพราะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง มีจำนวนวันพักที่ยาวนาน และมีการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อการท่องเที่ยวแต่ละครั้งสูงกว่านักท่องเที่ยวแบบปกติ โดยข้อมูลจาก Global Wellness Institute รายงานว่านักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมีค่าใช้จ่ายต่อหัว ประมาณ 50,000 กว่าบาท ต่อการเที่ยวหนึ่งครั้ง ซึ่งสูงกว่านักท่องเที่ยวแบบปกติถึง 53%  และแน่นอนว่า เมื่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 จบลง หลายประเทศจะหันมาผลักดันตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพกันมากขึ้น 
 
“คิดภาพตามนะครับ ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบในหลายๆ ด้าน หากเราสามารถขยายฐานตลาดการท่องเที่ยวเพิ่มได้ สร้างแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวพักผ่อนใช้จ่ายในประเทศเรามากขึ้น เม็ดเงินก็จะไหลเวียนเข้าสู่เศรษฐกิจมากขึ้นด้วย เกิดประโยชน์ให้ประเทศได้ในหลายภาคส่วน” คุณหมอแอมป์กล่าว
 
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปี พ.ศ. 2560 ประเทศไทยเรามีนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสูงถึง 12.5 ล้านคนต่อปี สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวได้สูงถึง 409,000 ล้านบาท การจ้างงานสูงถึง 530,000 คน ประเทศเราติดอันดับ 4 ของเอเชีย ในด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รองจากจีน ญี่ปุ่น และอินเดีย เติบโตเป็นอันดับ 10 ของโลก และมีโอกาสไต่อันดับขึ้นมาได้อีก หากวางแผนรองรับนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจากทั่วโลกอย่างเหมาะสม ประเทศไทยยังมีปัจจัยอื่นๆที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยว
 
          1. การวิจัยจากมหาวิทยาลัย John Hopkins ให้ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 6 ของโลก หรือที่ 1 ของเอเชีย จาก 195 ประเทศทั่วโลก ในเรื่องดัชนีความมั่นคงทางด้านสุขภาพ
          2. ประเทศไทยเป็น Medical Hub ในการให้บริการทางการแพทย์ระดับโลก และมีโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรอง JCI สูง ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความมั่นใจว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน คุณภาพของการรักษาพยาบาลประเทศในประเทศไทยสามารถดูแลรักษาตัวเขาหรือครอบครัวของเขาได้
          3. ติดอันดับที่ 2 ของโลก จากการโหวตให้เป็นประเทศเป้าหมายที่อยากคนอยากมาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รองจากออสเตรเลีย จากการจัดอันดับของ Wellness Tourism Initiative 2020 
          4. กรุงเทพฯ ได้รับการจัดเป็นอันดับที่ 1 ของโลก สำหรับสถานที่เหมาะสำหรับทำงานไปด้วยท่องเที่ยวไปด้วย หรือที่เรียกว่า Workation จาก Holidu Magazine UK ตามมาด้วย เชียงใหม่ ภูเก็ต ได้อันดับ 10 ของโลก
          5. ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่อันดับ 5 ของโลก จาก Money UK เป็นสถานที่ที่คนเกษียณอายุอยากไปอยู่ที่สุด 
          6. กรุงเทพมหานคร ได้อันดับ 1 ของ Best Cities จากการสำรวจ Readers’ Choice Awards 2022 ของนิตยสาร DestinAsian  
 
ประเทศไทยถือว่ามีจุดแข็งในเรื่องของเอกลักษณ์วัฒนธรรม ประเพณี อาหารไทย อย่างแกงมัสมั่น ต้มยำกุ้ง และส้มตำ (ถูกจัดอันดับ 50 อาหารที่ดีที่สุดในโลกโดย CNN) ภูมิปัญญาท้องถิ่น เกษตรอินทรีย์  นวดแผนโบราณ ซึ่งจัดเป็น อำนาจอ่อน (Soft Power) ที่สามารถนำมาใช้ส่งเสริมภาคการท่องเที่ยว เพื่อดึงดูดให้คนเดินทางเข้าสู่ประเทศ ซึ่งประเทศไทยถูกจัดให้อยู่อันดับที่ 35 จาก Global Soft Power Index 2022 จัดทำโดย Brand Finance

 
 
แม้ว่าความหมายของนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจะแตกต่างกันในรายละเอียดของแต่ละประเทศ แต่จะมีส่วนหลักๆ ที่คล้ายกัน คือ ‘คนที่มาเที่ยวไม่ได้ป่วย’ แต่เน้นการเที่ยวแบบดูแลสุขภาพไปด้วย “อาจมีการพบแพทย์ เพื่อตรวจสุขภาพ ตรวจระดับไขมัน ระดับน้ำตาลในเลือด ไขมันพอกตับ การแพ้อาหาร หรือเจาะรหัสพันธุกรรม เพื่อดูความเสี่ยงของโรคต่างๆในอนาคต ก่อนกลับประเทศก็มาฟังผลตรวจสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการดูแลสุขภาพ” คุณหมอแอมป์อธิบายให้เราเห็นภาพมากยิ่งขึ้น
 
นักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพบางกลุ่ม ต้องการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ อาหารเกษตรอินทรีย์ อาหารท้องถิ่นที่มีเรื่องราว ผู้ประกอบการสามารถเพิ่มมูลค่าของอาหารได้จากตรงนี้ เมื่ออาหารมีเรื่องราว จะมีความน่าสนใจ น่ารับประทานมากขึ้น อาหารจะต้องไม่หวานจัด เค็มจัด มันจัด หรือเป็นอาหารแปรรูปต่างๆ ควรเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ 
 
ส่วนบางกลุ่มต้องการมาดูแล ลดความเครียด ผ่อนคลายสุขภาพจิต ประเทศไทยมีทางเลือกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคอร์สนั่งสมาธิ การปฏิบัติธรรม การเดินจงกรม การเล่นโยคะ การเล่นไทเก๊ก ไปจนถึงการนวดไทย แพทย์แผนไทย ลูกประคบ สิ่งต่างๆเหล่านี้ สามารถดูแลสุขภาพจิตและสุขภาพกายของนักท่องเที่ยวได้ 
 
นักท่องเที่ยวบางกลุ่มต้องการเสพงานศิลปะ เรียนรู้ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วัดวาอาราม ลงรายละเอียดของแต่ละสถานที่แทนการไปเที่ยวหลายๆที่ในวันเดียว ต้องการผู้รู้หรือคนท้องถิ่น มาเล่าให้ฟัง แบบนั้นก็เรียกว่า การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเช่นกัน เพราะเป็นการท่องเที่ยวแบบได้ผ่อนคลาย ไม่เร่งรีบจนเกินไป 
 
นักท่องเที่ยวบางกลุ่ม ต้องการมาเที่ยวและหากิจกรรมออกกำลังกายต่างๆ เช่น เดินป่า ปีนเขา เที่ยวชมธรรมชาติ ดำน้ำ  พายเรือ หรือผจญภัยที่ต่างๆ บางกลุ่มอาจต้องการสัมผัสวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น มาพักโฮมสเตย์ (Home stay) เรียนรู้วัฒนธรรม ประเพณี การใช้ชีวิตของชาวบ้านอย่างใกล้ชิด ได้ผ่อนคลายท่ามกลางธรรมชาติที่เงียบสงบ หลีกหนีจากชีวิตสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบ รวมถึงการดูแลสุขภาพด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น การใช้สมุนไพร แช่น้ำพุร้อน เพื่อเพิ่มการไหลเวียนโลหิต 
 
นอกเหนือจากกิจกรรมต่างๆแล้ว นักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ต้องการที่พักที่ปลอดภัย เช่น ที่พักที่มีราวจับและแผ่นกันลื่นในห้องน้ำ หรือตอนกลางคืน มีไฟส่องสว่างแบบอัตโนมัติ เวลาขยับตัว ไฟจะติดได้เอง ลดโอกาสการสะดุดหกล้ม เวลาเดินไปห้องน้ำ ที่พักต้องมีเครื่องกระตุกหัวใจ (AED) ติดไว้ตามจุดต่างๆ ในยามเกิดเหตุฉุกเฉิน ก็สามารถช่วยชีวิตได้ 

 
 
สุดท้ายคุณหมอแอมป์ได้ฝากข้อแนะนำสำหรับผู้ประกอบการหรือผู้สนใจอยากวางแผนดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพให้ได้ลองไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจของตนเอง
 
1. ภาคโรงแรม อสังหาริมทรัพย์ เกสต์เฮาส์ ที่พักต่างๆ  
          - ร่วมมือกับสถานพยาบาล คลินิค โรงพยาบาล ออกแบบบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถมาพักผ่อน ร่วมกับการตรวจร่างกายประจำปี การดูแลสุขภาพอย่างครบวงจร ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและทีมงานมืออาชีพ
          - ปรับสถานที่ให้เอื้อกับนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ให้มีที่จับ ราวจับ ตามที่ต่างๆ เพื่อป้องกันการหกล้ม เช่น ในห้องน้ำ ในห้องอาบน้ำ ทางขึ้นลงบันได และมีการติดสติ๊กเกอร์สะท้อนแสง ในบริเวณที่ต่างระดับ 
          - ไฟส่องสว่างยามค่ำคืน แบบเซนเซอร์ ป้องกันการสะดุด เตะโต๊ะหรือเตียง 
          - ปรับพื้นที่ป้องกันการลื่นหกล้ม เช่น พื้นห้องน้ำไม่ให้ลื่นจนเกินไป ลดพื้นที่ต่างระดับทั้งภายในและภายนอกที่พักอาศัย เพิ่มทางลาดเอียงสำหรับรถเข็นและให้สะดวกสำหรับผู้สูงอายุ
          - เตียง ฟูก หมอน มีหลายระดับ ความแข็งความนุ่มตามความต้องการของแขกผู้มาพัก เพราะบางคนมีข้อจำกัดทางสุขภาพ เช่น ปวดหลัง ปวดคอ หรือความชอบที่ต่างกัน มีการแจกที่อุดหู ป้องกันเสียงรบกวน ผ้าม่านกันแสงแดดป้องกันแสงไม่ให้เล็ดลอดเข้ามาภายในห้อง ทำให้การนอนหลับมีคุณภาพ สุขภาพแข็งแรง
          - ในกรณีมีที่พักหลายชั้น มีติดตั้งลิฟท์ ให้ผู้สูงอายุเข้าถึงง่ายขึ้น 
          - อาจเพิ่มเติมอุปกรณ์ ออกกำลังกายภายในห้องพัก เช่น ที่ยกน้ำหนัก ลูกตุ้ม จักรยาน ลู่วิ่งอยู่กับที่ เสื่อโยคะ แม้ว่าการออกกำลังกายกลางแจ้งหรือภายในห้องออกกำลังจะดีกว่า แต่บางครั้งผู้เข้าพักอาจไม่สะดวก การเพิ่มทางเลือกให้ออกกำลังกายภายในห้องพักได้ จะเป็นที่น่าสนใจมากขึ้น
          - มีการฝึกพนักงานในการช่วยชีวิต ปั๊มหัวใจกรณีฉุกเฉิน ติดตั้งเครื่องกระตุ้นหัวใจ AED เพื่อเพิ่มความปลอดภัย และรักษาชีวิตได้
          - มีรถเข็นไว้คอยบริการผู้สูงอายุ
          - ใช้ผลิตภัณฑ์จำพวก สบู่ แชมพูสระผม ที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ ปราศจากสารเคมี
          - ลดการใช้พลาสติก เพื่อสุขภาพของโลก หันมาใช้หลอดกระดาษ น้ำขวดแก้ว เป็นต้น
 
2. ร้านอาหารต่างๆ
          - เลือกใช้วัตถุดิบที่มาจากท้องถิ่น เป็นของดีมีคุณภาพ ดีต่อสุขภาพ จำพวกพืชผักสวนครัว ธัญพืช ผลไม้ เกษตรอินทรีย์ ที่มาจากภูมิปัญญาชาวบ้าน
          - อาหารกลุ่มเกษตรอินทรีย์ ปราศจากยาฆ่าแมลงและสารเคมี สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้มาก
          - ทำอาหารที่ดีต่อสุขภาพลดการใช้น้ำตาล หรือ เกลือที่มากเกินไป เน้นธัญพืช ผัก ผลไม้ บำรุงสุขภาพแทน ของทอด ของมัน อาหารแปรรูป เนื้อสัตว์แปรรูป น้ำตาล High Fructose Corn Syrup (HFCS) ซึ่งเป็นของอันตรายสำหรับผู้ที่รักษาสุขภาพ
          - เนื่องจากนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ มักเป็นกลุ่มคนที่มีอายุเฉลี่ย 50 ปีขึ้นไป หรือที่เรียกกว่ากลุ่ม Silver age มีที่มาจากเส้นผมที่เริ่มเป็นสีเงิน ซึ่งจัดเป็นวัยที่มีอิสระ มีเงิน มีเวลา ร้านอาหารสามารถปรับเมนูเป็นตัวหนังสือใหญ่ขึ้น รูปภาพมากขึ้น ทำให้สะดวกในการอ่าน มีข้อมูลโภชนาการ เช่น ปริมาณพลังงาน ไขมัน น้ำตาล และเกลือ แสดงให้เห็นว่าเป็นร้านอาหารที่สนับสนุนเรื่องสุขภาพ
 
3. การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สามารถเพิ่มเติมบริการทางสุขภาพทั้งทางกาย และจิตใจ
           - การท่องเที่ยวเชิงออกกำลังกายต่างๆ เช่น เดินป่า ปีนเขา ดำน้ำ ไทเก๊ก พายเรือ หรือผจญภัยที่ต่างๆ โดยอาจเสริมการพบแพทย์เพื่อเจาะเลือดในวันแรกของการมาเที่ยว แล้วต่อด้วยการทำกิจกรรมการออกกำลังกายในวันถัดไปของการเข้าพัก
          - การให้บริการการดูแลสุขภาพจิต เช่น นั่งสมาธิ เดินจงกรม โยคะ ไทเก๊ก โดยผู้ประกอบการสามารถเพิ่มมูลค่าได้ทั้งหมดเมื่อเอาเรื่องสุขภาพเข้ามาเกี่ยวข้อง
          - บริการสปาเพื่อสุขภาพ เพื่อผ่อนคลายร่างกายและจิตใจ ผู้ประกอบการสามารถเพิ่มบริการการนวดเพื่อสุขภาพ เช่นการนวดไทย การนวดสากล การแช่ตัวด้วยน้ำพุร้อน อ่างน้ำวน การอบสมุนไพร หรือการดูแลผิวพรรณต่างๆ
 
4. การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ สร้างงานให้ชุมชนท้องถิ่น พาชมพร้อมเรียนรู้ ศิลปะวัฒนธรรมของประเทศ จัดเป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพราะดีต่อสุขภาพจิตเช่นกัน
 
5. การท่องเที่ยวเชิงวิถีชุมชน เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้าน นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์จากวัฒนธรรมท้องถิ่น นักท่องเที่ยวได้ผ่อนคลายท่ามกลางธรรมชาติที่เงียบสงบ หลีกหนีจากชีวิตสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบ 
          - การท่องเที่ยวเชิงเกษตร เรียนรู้วิถีเกษตรกรรมของชุมชน สัมผัสประสบการณ์จริง ของการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และเก็บเกี่ยวผลผลิต เช่น ทดลองดำนา  ไถนา เก็บไข่ไก่ จากการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความเข้าใจว่า พืชเติบโตมาด้วยวิธีการใด ดูแลรักษาอย่างไร รวมถึง พบเห็นสิ่งแปลกใหม่ เช่น พืชผักเฉพาะถิ่น สินค้าทางการเกษตรเฉพาะถิ่น
          - โฮมสเตย์ (Home stay) ในแง่ของการท่องเที่ยวสัมผัสวิถีชีวิตชุมชน นักท่องเที่ยวจะอาศัยร่วมกับเจ้าของบ้าน สัมผัสวัฒนธรรม ประเพณี การใช้ชีวิตของชาวบ้านอย่างใกล้ชิด เจ้าของบ้านจะต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยความเป็นมิตร ท่ามกลางบรรยากาศแบบชนบทที่เงียบสงบ จัดเตรียมอาหารเฉพาะถิ่นที่มีความแปลกใหม่ เป็นประสบการณ์พิเศษจากการท่องเที่ยว

 
 
6. แพทย์แผนไทย และสมุนไพรไทย ช่วยยกระดับให้การท่องเที่ยวมีคุณภาพและเข้าถึงกลิ่นอายของประเทศไทยได้มากขึ้น เช่น การนวดไทย ลูกประคบ สมุนไพรไทย บำรุงสุขภาพ เช่น กระชาย ขมิ้นชัน มะขามป้อม มะกรูด กะเพรา และพืชอีกหลายชนิด ซึ่งล้วนดีต่อสุขภาพทั้งสิ้น หรือการแช่น้ำพุร้อน เพื่อเพิ่มการไหลเวียนโลหิต การพอกโคลนที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุเพื่อดูแลสุขภาพผิว เป็นต้น
 
สุดท้ายนี้คุณหมอแอมป์เน้นย้ำว่า การจะทำทุกอย่างที่กล่าวมาให้ประสบความสำเร็จ และทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ใครคนใดคนหนึ่ง หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ไม่สามารถทำเพียงลำพังได้ ต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุกคนทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการธุรกิจ นักวิชาการ ประชาชน เจ้าของพื้นที่ หรือคนในท้องถิ่นนั้นๆ จนกระทั่งภาครัฐบาล รวมไปถึงนโยบายต่างๆ ต่างต้องร่วมกันคนละไม้คนละมือ ผลักดันให้ประเทศชาติเรา เป็นที่น่าดึงดูด ให้คนทั้งโลกมาเที่ยวและได้รับสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจกลับไป