รายงานจาก Booking.com เผย ภาวะโลกร้อนกระตุ้นให้คนไทยตัดสินใจเดินทางอย่างยั่งยืนมากขึ้นในปี 2565 และอนาคต
เมื่อ : 22 เม.ย. 2565 ,
480 Views
● รายงานการเดินทางอย่างยั่งยืนประจำปี 2565 ของ Booking.com ชี้ว่าความต้องการที่จะเลือกตัวเลือกด้านการเดินทางที่มีความยั่งยืน และมีความตระหนักต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมนั้นมีเพิ่มมากขึ้น
● 94% ของผู้เดินทางชาวไทยยืนยันว่าการเดินทางอย่างยั่งยืนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับพวกเขา โดย 75% ระบุว่าข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น ส่งผลให้ตนตัดสินใจเลือกตัวเลือกด้านการเดินทางอย่างยั่งยืนมากขึ้น
● 90% ของนักท่องเที่ยวชาวไทยกล่าวว่าพวกเขามีแนวโน้มที่จะเลือกที่พักแบบยั่งยืนมากกว่า ไม่ว่าพวกเขาจะตั้งใจเลือกที่พักเหล่านั้นตั้งแต่ขั้นตอนแรกของการจองหรือไม่ก็ตาม
● ในปัจจุบันมีที่พักมากกว่า 100,000 แห่งทั่วโลกได้รับป้ายสัญลักษณ์ “ที่พักสำหรับเดินทางอย่างยั่งยืน” บน Booking.com เพื่อยืนยันและยกย่องแนวทางการดำเนินธุรกิจที่ยึดหลักความยั่งยืนของแต่ละที่พัก
กรุงเทพฯ 22 เมษายน 2565 - รายงานการเดินทางอย่างยั่งยืนประจำปี 2565 ของ Booking.com ที่รวบรวมข้อมูลเชิงลึกจากความคิดเห็นของผู้เดินทางกว่า 30,000 คนใน 32 ประเทศ เผยให้เห็นว่าเมื่อต้องพิจารณาถึงการออกเดินทาง ผู้เดินทางยังคงให้ความสำคัญกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากทริปของพวกเขามาเป็นอันดับแรก โดย 71% ของผู้เดินทางชาวไทยระบุว่า ต้องการเดินทางอย่างยั่งยืนมากขึ้นในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งจำนวนของผู้ที่ต้องการเดินทางอย่างยั่งยืนในปีนี้มีเพิ่มขึ้นถึง 10% เมื่อเทียบกับข้อมูลการสำรวจในปี 2564 ที่ผ่านมา นอกจากนั้น 94% ของผู้เดินทางชาวไทยยืนยันว่าการเดินทางอย่างยั่งยืนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับพวกเขา โดย 75% ระบุว่าข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น ส่งผลให้พวกเขาตัดสินใจเลือกตัวเลือกด้านการเดินทางอย่างยั่งยืนมากขึ้น
ด้วยเหตุนี้เอง 67% ของผู้เดินทางกล่าวว่า ความพยายามของผู้ให้บริการที่พักและบริการด้านการเดินทางในการปฏิบัติตามแนวทางเพื่อความยั่งยืนนั้น มีบทบาทอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจเลือกที่พักและตัวเลือกด้านการเดินทางแบบต่างๆ ของพวกเขา ซึ่งผลจากรายงานยังพบว่า 90% ของนักท่องเที่ยวชาวไทยมีแนวโน้มที่จะเลือกที่พักแบบยั่งยืนมากกว่าที่พักรูปแบบอื่นๆ ไม่ว่าพวกเขาจะตั้งใจเลือกที่พักเหล่านั้นตั้งแต่ขั้นตอนแรกของการจองหรือไม่ก็ตาม
มองหาที่พักสำหรับเดินทางอย่างยั่งยืนมากขึ้น
ในปัจจุบันผู้คนเริ่มรับรู้ถึงการมีอยู่ของที่พักรักษ์โลกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดย 64% ของผู้เดินทางชาวไทยยืนยันว่า เคยเห็นที่พักรักษ์โลก หรือที่พักที่มีแนวทางปฏิบัติเพื่อความยั่งยืนบนเว็บไซต์ออนไลน์ด้านการเดินทางในช่วงปีที่ผ่านมา และ 73% ระบุว่าตนตั้งใจมองหาข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการด้านความยั่งยืนของที่พักแต่ละแห่งก่อนที่จะทำการจอง ข้อมูลจากรายงานยังเผยให้เห็นถึงอนาคตอันสดใสของการเดินทางแบบยั่งยืน โดย 72% ของผู้เดินทางกล่าวว่า พวกเขาเคยเข้าพักในที่พักรักษ์โลกหรือที่พักที่มีแนวทางปฏิบัติเพื่อความยั่งยืนจริงๆ ในช่วงปีที่ผ่านมา โดยผู้เดินทางที่ได้สัมผัสประสบการณ์เข้าพักในที่พักรักษ์โลกในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมามีเหตุผลในการเลือกเข้าพักที่แตกต่างกันออกไปดังนี้:
• 44% กล่าวว่าตนเลือกที่พักแบบรักษ์โลกเพื่อช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
• 40% ต้องการสัมผัสประสบการณ์ที่เชื่อมโยงกับความเป็นท้องถิ่นมากขึ้น
• 38% เชื่อว่าที่พักแบบรักษ์โลกมีแนวทางปฏิบัติต่อชุมชนโดยรอบดีกว่า
แม้ว่า 95% ของผู้เดินทางชาวไทยตั้งใจว่าจะเข้าพักในที่พักแบบยั่งยืนอย่างน้อย 1 ครั้งในช่วงปีนี้ แต่ก็ยังมีอีกหลายสิ่งที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในแวดวงการท่องเที่ยวต้องดำเนินการเพื่อให้ทุกคนสามารถค้นหาตัวเลือกที่พักแบบยั่งยืนยิ่งขึ้นได้ง่ายดายมากขึ้น เพราะ 26% ของผู้ที่ไม่ได้เข้าพักในที่พักรักษ์โลกในช่วงปีที่ผ่านมา กล่าวว่าตนไม่รู้ว่ามีที่พักแบบนี้อยู่ และอีก 25% ของผู้เดินทางยอมรับว่าตนไม่ได้ตั้งใจมองหาข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางด้านความยั่งยืนของที่พักเหล่านั้นก่อนทำการจอง แต่หากข้อมูลดังกล่าวเข้าถึงได้ง่าย พวกเขาก็จะตรวจสอบ
เลือกไปเมืองรองและเดินทางนอกฤดูท่องเที่ยว
ผู้เดินทางต่างเห็นพ้องกันว่าต้องการหลีกเลี่ยงจุดหมายปลายทางที่มีความพลุกพล่าน และมีผู้คนไปเยือนมากเกินไป โดย 37% ของผู้เดินทางชาวไทยระบุว่า พวกเขาเลือกที่จะเดินทางนอกช่วงฤดูท่องเที่ยว และอีก 35% เลือกที่จะไปยังจุดหมายที่ผู้คนนิยมไปท่องเที่ยวน้อยกว่า หรือเมืองรอง ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหานักท่องเที่ยวล้น และเมื่อวางแผนถึงทริปเดินทางที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ผู้เดินทางชาวไทยมีเหตุผลในการเลือกที่พักที่แตกต่างกันออกไปดังนี้
• 46% กล่าวว่าตนเต็มใจที่จะเดินทางเฉพาะนอกช่วงฤดูท่องเที่ยวเท่านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหานักท่องเที่ยวล้น
• 84% เผยว่าตนจะหลีกเลี่ยงจุดหมายและแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยว เพื่อทำให้แน่ใจว่าผลกระทบและประโยชน์ที่เกิดจากการไปเยือนเมืองรองของตนนั้นกระจายตัวกันอย่างเท่าเทียมยิ่งขึ้น
• 42% เต็มใจอย่างมากที่จะเลือกไปเมืองรอง หรือทางเลือกอื่นๆ แทนจุดหมายที่ตนอยากไปมากกว่า เพื่อช่วยลดปัญหานักท่องเที่ยวล้น
เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมและชุมชนท้องถิ่น
ความต้องการในการช่วยฟื้นฟูสังคมและสิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจโดย 79% ของผู้เดินทางชาวไทยกล่าวว่าต้องการทำให้จุดหมายปลายทางที่พวกเขาไปเยือนนั้นดีขึ้นกว่าที่เคย และอีก 79% ต้องการสัมผัสประสบการณ์ที่สามารถเชื่อมโยงพวกเขาเข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง นอกจากนั้น 37% ของผู้เดินทางระบุว่า พวกเขาตั้งใจศึกษาค่านิยมและประเพณีท้องถิ่นของจุดหมายที่จะเดินทางไปล่วงหน้า ส่วนอีก 38% ของผู้เดินทางเต็มใจที่จะจ่ายเงินจำนวนมากขึ้นให้กับกิจกรรมใน ทริปการเดินทาง เพื่อทำให้แน่ใจว่าตนสามารถช่วยกระจายรายได้ไปยังชุมชนท้องถิ่น
ก้าวสู่จุดเปลี่ยนของรูปแบบการเดินทาง
ผู้เดินทางทั่วโลกต่างหันมาใส่ใจเรื่องระยะทางของจุดหมายที่จะเดินทางไป วิธีที่จะเดินทางไปยังจุดหมาย และรูปแบบการเดินทางที่จะใช้เพื่อท่องเที่ยวในจุดหมายนั้นๆ มากขึ้น โดยผู้เดินทางชาวไทยก็ให้ความสำคัญกับรูปแบบการเดินทางที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน โดยข้อพิจารณาของพวกเขามีดังนี้
• 27% เลือกที่จะเดินทางไปยังจุดหมายที่อยู่ใกล้บ้านมากขึ้นเพื่อลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์
• 31% ระบุว่าตนสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับระบบขนส่งสาธารณะและ/หรือตัวเลือกในการเช่าจักรยานในจุดหมายที่เลือกเดินทางไป
• 22% เลือกที่จะเดินทางด้วยรถไฟแทนการใช้รถยนต์สำหรับระยะทางที่ไกล
• 54% กล่าวว่าตนรู้สึกไม่ดีที่จะโดยสารเครื่องบินไปยังจุดหมายปลายทาง เพราะผลกระทบที่จะเกิดกับสิ่งแวดล้อม
เมื่อต้องจองบริการด้านการโดยสารหรือเดินทางของตน 73% ของผู้เดินทางชาวไทย ตั้งใจมองหาข้อมูลด้านความยั่งยืน แม้อีก 24% จะเผยว่าตนไม่ได้ตั้งใจมองหาตัวเลือกการเดินทางที่ยั่งยืนมากกว่า แต่ข้อมูลด้านความยั่งยืนยังคงส่งผลต่อพฤติกรรมการจองและความพึงพอใจของลูกค้า
เดินหน้าต่อบนเส้นทางสู่การเดินทางที่ยั่งยืนยิ่งขึ้นสำหรับทุกคน
ในปัจจุบันมีที่พักมากกว่า 100,000 แห่งทั่วโลกได้รับป้ายสัญลักษณ์ “ที่พักสำหรับเดินทางอย่างยั่งยืน” บน Booking.com เพื่อยืนยันและยกย่องแนวทางการดำเนินธุรกิจที่ยึดหลักความยั่งยืนของแต่ละที่พัก ซึ่ง Booking.com ได้พัฒนามาตรฐานการรับรองเพิ่มเติมด้วยการเพิ่มจำนวนใบรับรองและป้ายกำกับพิเศษจากหน่วยงานด้านความยั่งยืนต่างๆ โดยที่พักที่เข้าเกณฑ์ของใบรับรองดังกล่าวจะได้รับป้ายสัญลักษณ์ “ที่พักสำหรับเดินทางอย่างยั่งยืน” ไปโดยอัตโนมัติ นอกเหนือจากใบรับรองและป้ายกำกับพิเศษที่ได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการโดย Global Sustainable Tourism Council (GSTC), Green Tourism และ EU Ecolabel แล้ว ขณะนี้ Booking.com ได้รวมการรับรองและป้ายกำกับพิเศษที่ได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการโดย Green Seal, Nordic Swan Ecolabel, Green Hospitality Ecolabel, Ibex Fairstay, Fair Trade Tourism, LEED และ Edge เพิ่มเข้ามาในแพลตฟอร์มอีกด้วย
นางสาวมิเชล เกา ผู้จัดการประจำภูมิภาคประจำกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขงของ Booking.com กล่าวว่า “ด้วยวิกฤตด้านปัญหาทรัพยากรธรรมชาติที่ทุกคนต้องเผชิญ และรูปแบบการใช้ชีวิตของเราที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผลักดันให้ Booking.com ทุ่มเทเต็มร้อยเพื่อชักนำให้อุตสาหกรรมการเดินทางพัฒนาไปบนเส้นทางที่มีความรับผิดชอบ และใส่ใจยิ่งขึ้น เพื่ออนาคตของแวดวงการเดินทาง เรามีเป้าหมายที่ต้องอาศัยความมุ่งมั่นอย่างมากเพื่อทำสิ่งที่เราต้องการทำให้สำเร็จ แต่เมื่อได้รับความร่วมมือจากคู่ค้าทั่วทั้งแวดวงและด้วยความทุ่มเทของพนักงานผู้มีความริเริ่มของเรา เราจึงสามารถเดินหน้าต่อเพื่อช่วยให้ทุกคนออกไปสำรวจโลกกว้างได้ง่ายดายยิ่งขึ้นในลักษณะที่มีความรับผิดชอบและใส่ใจมากขึ้น”
Booking.com ยังคงดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักความเป็นกลางทางคาร์บอน และได้เปลี่ยนไปใช้ไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 100% แบบเต็มรูปแบบในช่วงปลายปี 2564 แผนปฏิบัติการที่เกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ Booking Holdings เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนจากบริษัทออนไลน์ด้านการเดินทางแห่งใดก็ตาม และทำหน้าที่เป็นกรอบแนวคิดเชิงกลยุทธ์สำหรับความตั้งใจของ Booking Holdings ที่จะทำให้การดำเนินงานและบริการของบริษัท ตลอดการขับเคลื่อนแวดวงการเดินทางนั้นเป็นไปอย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญในการช่วยให้บริษัทสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 95% ภายในปี 2573 ทั้งทางตรง จากการทำกิจกรรมต่างๆ (สโคป 1) และทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (สโคป 2) รวมทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากกิจกรรมอื่นๆ (สโคป 3) ลง 50% ภายในปี 2573 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้สำเร็จภายในปี 2583
หากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ Booking Holdings โปรดไปที่ https://www.bookingholdings.com/sustainability/