เมื่อ : 24 มี.ค. 2565 , 426 Views
โรคผมผลัดหลังจากการติดเชื้อโควิด-19
โดย  พญ.ชินมนัส เลขวัต
รศ.นพ. รัฐพล ตวงทอง
รศ.นพ. พูลเกียรติ สุชนวณิช
รศ.ดร.พญ. รัชต์ธร ปัญจประทีป
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย

 
 
แนวทางการดูแลรักษาภาวะผมร่วงภายหลังการติดเชื้อ Corona Virus Disease 2019 (COVID-19) หรือโควิด-19 นานเกิน 12 สัปดาห์ขึ้นไป (Long-COVID-19) ส่วนใหญ่เกิดจาก “โรคผมผลัด (Telogen effluvium)” เนื่องจากการเจ็บป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ร่างกายเกิดความเครียดและมีการกระตุ้นให้เกิดการอักเสบที่รากผม ซึ่งส่งผลต่อวงจรชีวิตของผมทำให้มีการเปลี่ยนเร็วกว่าปกติ ทำให้เกิดการหลุดร่วงของเส้นผมได้มากกว่าปกติ นอกจากโรคผมผลัดแล้ว ยังมีรายงานผู้ป่วยโรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia areata) ที่เกิดขึ้นใหม่หรือในผู้ป่วยโรคผมร่วงเป็นหย่อมที่เป็นมากอยู่แล้วมีอาการมากขึ้นภายหลังจากมีการติดเชื้อโควิด-19 เนื่องจากภาวะเครียดจากการเจ็บป่วย อย่างไรก็ตามพบว่าในรายงานการศึกษาที่รวบรวมผู้ป่วยจำนวนมากพบว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ไม่ได้เป็นโรคผมร่วงเป็นหย่อมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติและผู้ป่วยโรคผมร่วงเป็นหย่อมที่เป็นน้อยไม่พบว่ามีอาการมากขึ้นภายหลังการติดเชื้อโควิด-19

 
   

โรคผมผลัดเป็นภาวะผมร่วงที่พบได้บ่อยที่สุดภายหลังการติดเชื้อโควิด-19 มีคำนิยามคือ ผมร่วงมากผิดปกติ (มากกว่า 100 เส้น/วันแต่ไม่มากเกิน 50% ของผมทั้งศีรษะ) ในระยะเวลา 2 - 3 เดือนภายหลังการติดเชื้อโควิด-19   แต่ในบางรายอาจจะเกิดได้เร็วประมาณ 1.5 เดือนภายหลังการติดเชื้อโควิด-19 ภาวะโรคผมผลัดโดยปกติแล้วสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่ โรคผมผลัดที่เป็นเฉียบพลัน (Acute telogen effluvium) และ โรคผมผลัดที่เป็นเรื้อรัง (Chronic telogen effluvium) จากการศึกษาในต่างประเทศ พบผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อโควิด-19  เกิดโรคผมผลัดหลังจากการติดเชื้อประมาณร้อยละ 25 ซึ่งใกล้เคียงกับข้อมูลของผู้ป่วยในประเทศไทยที่พบร้อยละ 23 นอกจากโรคผมผลัดหลังจากการติดเชื้อโควิด-19 โรคผมผลัดอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่น เช่น เกิดภายหลังจากเกิดภาวะการเจ็บป่วยที่เป็นมาก, มีภาวะเครียดมากหรือการขาดสารอาหารหรือเป็นโรคไทรอยด์หรือการรับประทานยาบางอย่าง โดยอาการอาจเป็นชั่วคราวหรือเป็นต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน

การวินิจฉัยโรคผมผลัด ส่วนใหญ่การวินิจฉัยขึ้นกับประวัติและการตรวจร่างกาย โดย 1.ประวัติ ผู้ป่วยมักมีอาการผมร่วงมากผิดปกติหลังจากที่พบเชื้อโควิด-19 ประมาณ 1.5 - 2 เดือน ซึ่งค่อนข้างเร็วกว่าภาวะผมผลัดจากสาเหตุอื่นแต่ในบางรายอาจมีอาการในระยะเวลานานกว่า 3 เดือนหลังการติดเชื้อโควิด-19 ถ้าผู้ป่วยมีผมร่วงหลังจากที่เป็นโรคโควิด-19 เกิน 6 เดือนอาจจะต้องแยกโรคผมผลัดที่เกิดจากสาเหตุอื่น อย่างไรก็ตามโรคนี้อาจเกิดจากปัจจัยกระตุ้นอื่นร่วมด้วยได้ แพทย์ผู้ตรวจรักษาจึงควรซักประวัติและควรตรวจหนังศีรษะ, รากผม, เส้นผมและเล็บ ด้วย โดยเฉพาะ 1. อาการของผมร่วง : วันที่เริ่มมีอาการ, ระยะเวลาที่ผมร่วง, ปัจจัยกระตุ้นอื่น 2.ลักษณะของผมร่วง: จำนวนผมที่ร่วงต่อวัน, ลักษณะผมร่วงเป็นแบบหลุดจากโคนหรือผมขาด 3.ประวัติทางการแพทย์: ประวัติการเจ็บป่วยล่าสุดหรือเรื้อรัง, การผ่าตัดใหญ่, น้ำหนักลดมากในระยะเวลารวดเร็ว, การจำกัดอาหาร, การคลอดบุตร, ประจำเดือนมามาก, โรคไทรอยด์, โรคแพ้ภูมิตัวเอง 4. ภาวะเครียดทางจิตใจ 5.ยารับประทานบางชนิด เช่น ยาคุม, ยารักษาโรคไทรอยด์, ยากันชัก, ยากันเลือดแข็งตัว (Anticoagulants), ยารับประทานวิตามินเอ (Oral retinoids), ยาทางจิตเวชชนิด Mood stabilizers และ Anti-depression และ ประวัติการสัมผัสสารพิษ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้ทำการรักษาก่อนเพื่อพิจารณาว่ายาเป็นสาเหตุหรือไม่ ผู้ป่วยไม่ควรหยุดยาหรือเปลี่ยนชนิดยาเอง

พญ.ชินมนัส  เลขวัต แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การดูแลรักษาโรคผมผลัดที่สำคัญที่สุดคือ การหาสาเหตุและแก้ไขสาเหตุ ถ้ามีปัจจัยกระตุ้นอื่นนอกเหนือจากภาวะเจ็บป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19 ก็ควรจะรักษาร่วมด้วย ถ้าผู้ป่วยเกิดภาวะผมร่วงภายหลังจากมีการติดเชื้อโควิด-19 โดยไม่มีปัจจัยอื่น โดยทั่วไป ผู้ป่วยที่มีโรคผมผลัดมักหายได้เองหลังจากสาเหตุหมดไปแล้วประมาณ 3 - 6 เดือน ในกรณีผู้ป่วยที่เป็นโรคผมผลัดหลังจากการติดเชื้อภายหลังการติดเชื้อโควิด-19 อาจจะหายได้เร็วกว่าที่ระยะเวลาประมาณ 2 เดือน การให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วย, แนะนำเทคนิคในการพรางผมบางและการติดตามการรักษามีส่วนช่วยทำให้ผู้ป่วยมีความกังวลลดลง

รศ.ดร.พญ.รัชต์ธร ปัญจประทีป กล่าวเสริมว่า ควรดูแลสุขภาพให้ดีแบบองค์รวมร่วมด้วย เช่น รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่, นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอและหลีกเลี่ยงความเครียด ในกรณีผมไม่หยุดร่วงใน 6 เดือน หลังจากที่หายจากโรคติดเชื้อโควิด-19 แล้วหรือถ้าผมร่วงมากเกินร้อยละ 50 ของผมบนศีรษะหรือมีอาการผมร่วงจนหมดศีรษะอาจเป็นโรคอื่น เช่น โรคผมร่วงเป็นหย่อมที่มีอาการรุนแรง แพทย์ควรส่งต่อผู้ป่วยเพื่อการวินิจฉัยและรักษากับแพทย์เฉพาะทางเพื่อติดตามการรักษา