สกสว.ทบทวนแผนพัฒนาเศรษฐกิจไทย มุ่งเพิ่มผลลัพธ์ให้แข่งขัน-พึ่งพาตัวเองได้

สกสว.จัดประชุมเชิงปฏิบัติการทบทวนแผน ววน. ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้มีความสามารถในการแข่งขัน และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมสู่อนาคต ควบคู่กับการปรับปรุงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 14 ร่วมกับสภาพัฒน์ หวังให้เกิดผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้น
วันที่ 21 พฤษภาคม 2568 ผศ. ดร.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การทบทวนแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ พ.ศ. 2566-2570” ร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุน ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้มีความสามารถในการแข่งขัน และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมสู่อนาคต โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท ซึ่งจัดโดยสำนักยุทธศาสตร์แผน ติดตามและประเมินผล สกสว. และสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดยมี รศ. ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ และ รศ. ดร.คมกฤต เล็กสกุล รองผู้อำนวยการ สกสว. พร้อมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่เข้าร่วม
รองผู้อำนวยการ สกสว. ระบุว่า ประเด็นสำคัญจากการจัดงานกระตุก GDP ไทยด้วยกองทุน ววน. ชี้ชัดว่าประเทศไทยยังมีโอกาสหากสามารถยกระดับการลงทุนวิจัยและนวัตกรรมให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตามด้วยบริบทและสถานการณ์ของประเทศและโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงการปรับเปลี่ยนนโยบายชาติ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ สกสว. และ สอวช. ต้องร่วมกันทบทวนแผนด้าน ววน. ให้มีความชัดเจน
การประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการทบทวน วิเคราะห์ และปรับปรุงให้แผนด้าน ววน. ของประเทศมีความทันสมัย ยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ และนำไปสู่การวางแผนในระยะถัดไป (พ.ศ. 2571–2575) อย่างมีประสิทธิภาพ และเชื่อมโยงกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ แผนด้าน ววน. ในระยะแรกกำหนดรากฐานจากสิ่งที่เรามีความเชี่ยวชาญ ทำให้เห็นมุมมองในการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้ความเข้มแข็งที่เรามีอยู่ โดยเฉพาะด้าน BCG ในวันนี้เป็นโอกาสดีที่จะได้สะท้อนข้อมูลที่คมชัดมากขึ้นจากประสบการณ์การดำเนินงาน เพื่อได้แนวทางการเริ่มต้นจากการพัฒนาแผนด้าน ววน.ฉบับใหม่
“จากมาตรการกีดกันทางภาษีการค้าในปัจจุบัน ยังมีโอกาสของไทยในเรื่องการแปรรูปอาหารที่จะเป็นจุดสำคัญของแผน ววน.ฉบับใหม่ ขณะที่ค่าเป้าหมายหลายแผนประสบความสำเร็จเกินคาด การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญจากการเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของประเทศไทยเป็นสิ่งที่น่ากังวล ซึ่งอยู่ในจังหวะการทบทวนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 14 ของสำนักงานสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ควบคู่กับการปรับปรุงและพัฒนาแผนด้าน ววน. ไปพร้อมกัน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายเรื่อง เช่น การทำแผนวิจัยตามเป้าหมายสำคัญตามยุทธศาสตร์ ววน. หรือการใช้ประโยชน์จากการวิจัยแบบจำเพาะเจาะจง เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ กองทุน ววน. เติบโตไปอย่างช้า ๆ ตามสภาพเศรษฐกิจ ดังนั้นเป้าหมายในระยะถัดไปจึงริเริ่มทำให้งบประมาณวิจัยเติบโต เป็นตัวสร้างความร่วมมือและขับเคลื่อนกับภาคเอกชนเพื่อสร้างการลงทุนร่วมกัน และเรียนรู้ประสบการณ์ไปด้วยกันเพื่อให้เติบโตในเชิงวิจัยและนวัตกรรมมากขึ้น” รองผู้อำนวยการ สกสว. ระบุ
ในโอกาสนี้ที่ประชุมได้หารือถึงความสำเร็จและความก้าวหน้าแผนงานของยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจไทยฯ ทั้งด้านสุขภาพการแพทย์ เกษตรและอาหาร การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พลังงาน เทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระบบโลจิสติกส์และระบบรางของประเทศ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และธุรกิจฐานนวัตกรรม รวมถึงนำเสนอความก้าวหน้า ข้อเสนอแนะต่อการปรับปรุงผลสัมฤทธิ์สำคัญ และจุดติดขัดหรือปัญหาอุปสรรคที่ผ่านมา ตลอดจนวิธีการบริหารจัดการและการดำเนินงาน กลยุทธ์สำคัญที่ทำให้แผนงานบรรลุเป้าหมายภายในปี 2570