ยูโอบี ประเทศไทย เสริมสร้างทักษะความรู้การเงินแก่เยาวชนไทย ยกระดับชุมชนผ่านโครงการ UOB Money 101: Teen Edition วัยรุ่นเก่งการเงิน

กรุงเทพฯ 8 เมษายน 2568 – ยูโอบี ประเทศไทย มุ่งมั่นเปลี่ยนแปลงอนาคตทางการเงินของเยาวชนไทยยกระดับโครงการ “UOB Money 101: Teen Edition วัยรุ่นเก่งการเงิน” หลักสูตรการเงินออนไลน์ที่เสริมสร้างทักษะและความรู้ทางการเงินที่จำเป็นให้กับนักเรียนที่ขาดโอกาส โดยปีนี้ มุ่งขยายสู่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาอีก 2200 คนทั่วประเทศ พร้อมต่อยอดสู่โครงการประกวด “Money Coach Junior Contest’ เปิดโอกาสให้นักเรียนในโครงการ UOB Money 101: Teen Edition เขียนแผนให้ความรู้ด้านการเงิน โดยนำเนื้อหาจากหลักสูตรที่ได้เรียน มาพัฒนาและส่งต่อความรู้ให้กับชุมชนและคนรอบตัวอย่างสร้างสรรค์

ความก้าวหน้าโครงการ:
- ในปี 2567 นักเรียนระดับมัธยมศึกษามากกว่า 1900 คนจบหลักสูตรการเงินออนไลน์
- ดร.นภาพร พงษ์ขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 2 ปฏิบัติหน้าที่ ผู้อำนวยการสำนักขับเคลื่อนการแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน เป็นประธานในพิธีมอบเกียรติบัตรแก่นักเรียนและครูที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งจัดขึ้นที่หอประชุม ยูโอบี พลาซา กรุงเทพ
- นับตั้งแต่เปิดตัวในปี 2564 นักเรียนกว่า 5800 คนจาก 51 โรงเรียนใน 29 จังหวัดทั่วประเทศไทยได้ผ่านการฝึกอบรมอย่างครอบคลุมในแนวคิดการบริหารจัดการเงิน
หลักสูตรนี้เป็นการทำงานร่วมกับโครงการร้อยพลังการศึกษา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ UOB My Digital Space มุ่งขับเคลื่อนการศึกษาที่มีคุณภาพ และสร้างโอกาสในการเรียนรู้จากสื่อดิจิทัลแก่เด็กไทยที่ขาดโอกาส
นางสาวธรรัตน โอฬารหาญกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร ธนาคาร ยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า “เรามองว่าความรู้ทางการเงินเป็นทักษะสำคัญที่ช่วยให้เยาวชนสามารถกำหนดเส้นทางอนาคตของตนเองได้อย่างมั่นใจ ผ่านโครงการ UOB Money 101: Teen Edition เวอร์ชันปรับปรุงใหม่ เราต้องการมอบความรู้และทักษะให้กับนักเรียน เพื่อให้สามารถตัดสินใจทางการเงินได้อย่างมีข้อมูลและรอบคอบ การส่งเสริมให้เยาวชนเหล่านี้ถ่ายทอดความรู้ต่อไปยังผู้อื่น ไม่เพียงช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับตัวเองเท่านั้น แต่ยังเป็นการจุดประกายให้เกิดชุมชนที่มีความรู้ทางการเงิน พร้อมเติบโตและก้าวไปข้างหน้าร่วมกัน”
นางสาวกนกวรรณ โชว์ศรี ผู้อำนวยการโครงการร้อยพลังการศึกษา มูลนิธิยุวพัฒน์ กล่าวว่า “จากการทำงานร่วมกัน เราได้ต่อยอดหลักสูตรการเงินออนไลน์สู่โครงการ ‘Money Coach Junior Contest’ เพื่อส่งเสริมความรู้ทางการเงินสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะมีสถานะทางการเงินหรืออายุเท่าใด นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ Money Coach Junior Contest ได้ออกแบบโครงการของพวกเขาเพื่อแก้ไขปัญหาความรู้ทางการเงินที่แท้จริงในชุมชนท้องถิ่นของพวกเขา ซึ่งเป็นโอกาสให้พวกเขาได้นำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้ในสถานการณ์จริง นอกจากนี้ นักเรียนที่เข้าใจความรู้ทางการเงินอย่างแท้จริง จะช่วยให้พวกเขาสามารถค้นหาข้อมูลต่างๆ ได้อย่างอิสระ หลีกเลี่ยงการถูกหลอกลวง และเพิ่มโอกาสในการขยายความรู้ในอนาคต"

โค้ชหนุ่ม - จักรพงษ์ เมษพันธุ์ ผู้ร่วมออกแบบหลักสูตร UOB Money 101: Teen Edition วัยรุ่นเก่งการเงิน กล่าวว่า “วันนี้ผมดีใจมากที่โครงการได้ทำงานสร้างเด็กไทยให้ความรู้เรื่องการเงิน อีกทั้งยังต่อยอดให้นักเรียนที่ได้เรียนหลักสูตร UOB Money 101: Teen Edition เป็น Money Coach Junior ซึ่งนับว่าเดินทางมาไกลมาก และเป็นการขยายความรู้เรื่องการเงินให้เบ่งบานทั่วประเทศไทย”
ครูรูลฮายยะห์ บากา โรงเรียนนราสิกขาลัย “ปีนี้เป็นปีที่ 3 นักเรียนก็รู้จักมากขึ้น รู้จักวิธีการใช้เงิน มีเอาคำพวกนี้ไปหยอกล้อกันในแต่ละวัน คืออย่างน้อยถึงเค้าพูดเล่น มันก็มีเรื่องการเงิน อยู่ในชีวิตตัวเค้าเอง อีกอันหนึ่งที่เห็นชัด คือ นักเรียน ม.5 มีนักเรียนที่เป็นแกนนำโครงงานคุณธรรม ซึ่งเค้านำเรื่องนี้ไปต่อยอดทำโครงงานคุณธรรม ซึ่งมีนักเรียน ม.4 รวมอยู่ด้วย 3-4 คน เค้าไปทำที่บ้านให้ผู้ปกครองจดรายรับรายจ่าย นอกจากนี้ นักเรียนแกนนำโครงงานคุณธรรมมีการนำความรู้ 6 Jars ไปนำเสนอโครงงานให้ครูฟังด้วย เพื่อให้ครูประเมิน ก็มีครูถามว่า เอาความรู้นี้มาจากไหน มาทำโครงงานได้ยังไง นักเรียนก็อธิบายว่า 6 Jars คืออะไร ให้คุณครูดูทีละอย่าง ครูบางคนไม่รู้จัก 6 jars ด้วยซ้ำ”
นางสาวแพรวา เทศงามถ้วน ชั้น ปวช. 2 วิทยาลัยอาชีวศึกษาศาสนบริหารธุรกิจ “ความรู้สึกที่ได้เรียน ครั้งแรกก็รู้สึกว่าเหมือนจะยาก ดูยุ่งยาก ดูวุ่นวาย ดูแบ่งเงินไม่ถูก ต้องเรียนเลขเยอะ แต่พอทำความเข้าใจแล้ว มันก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิด และรู้สึกสนุกที่ได้เรียน คือเราได้รู้การออม การเก็บ การออมระยะสั้น การออมระยะยาว ประโยชน์สำหรับตัวเองคือ หนูมีการแบ่งเงิน ค่ากิน ค่าเน็ต ค่าน้ำ เหลือเงิน หนูก็จะเก็บทุกเดือน เดือนละเท่านี้ๆ แยกเก็บไว้ก่อนเลย และถ้ามีเหลือจากการกิน หนูก็ออม เพราะทำกับข้าวไปกินเอง ตรงนั้นก็ไม่ได้ใช้”