เมื่อ : 31 ม.ค. 2565 , 624 Views
“เกษตรกรหญิงรุ่นใหม่” ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรวัยหวาน  นำความรู้คู่เทคโนโลยีพัฒนาธุรกิจแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกล้วย  ส่งต่อแรงบันดาลใจสู่ชุมชน

กรุงเทพ, ประเทศไทย, 28 มกราคม 2565“คงจะดีกว่านี้นะครับ ถ้าเรามีรถมารับของ เราจะได้ไม่ต้องแบกออกไปไกล” เป็นคำพูดของน้องชายที่กลายเป็นแรงผลักดันให้ ‘เปิ้ล - ปนิดา มูลนานัด’ ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรวัยหวาน ตัดสินใจเข้าร่วมการแข่งขัน และได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดโครงการ ‘ฟอร์ดเติมฝันเกษตรกรหญิงรุ่นใหม่’ คว้ารางวัลเงินทุนมูลค่า 1 แสนบาท พร้อมสิทธิ์ในการใช้งานรถกระบะพันธุ์แกร่ง ฟอร์ด เรนเจอร์ เป็นเวลา 3 เดือน 

ปนิดาจบการศึกษาจากโรงเรียนวังไกลกังวล ในพระบรมราชูปถัมภ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และได้รับแรงบันดาลใจในการพัฒนาชุมชนที่ตนอยู่อาศัยให้ดีขึ้นจากความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ จึงริเริ่มกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรวัยหวานขึ้นที่ชุมชนบ้านเกิดคือ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เพื่อแลกเปลี่ยนและแบ่งปันความรู้ ความคิดเห็น วัตถุดิบ กระบวนการผลิต และวิธีแก้ปัญหาต่างๆ เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ให้กับคนในชุมชนอย่างยั่งยืน 

ธุรกิจของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรวัยหวานคือการแปรรูปกล้วยหอมทอง ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าทางการเกษตรในรูปแบบไร้ขยะ กล่าวคือ การใช้ทุกส่วนของต้นกล้วยมาแปรรูปทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการแปรรูปผลกล้วยเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับบริโภคอย่างกล้วยตาก แยมกล้วย กล้วยกวนสามรส แป้งวาฟเฟิล การใช้หัวปลีในการทำขนมขบเคี้ยว หรือการนำต้นกล้วยไปผลิตสินค้าภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างเสื้อผ้าและกระเป๋าจากเส้นใยกล้วย 

“ชุมชนของเราต้องใช้เวลา ความคิดสร้างสรรค์ และพลังงานมากในการทำงานแต่ละครั้ง เราจึงได้นำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาประยุกต์ใช้กับการเกษตร รวมถึงส่งต่อความรู้ให้คนในชุมชนด้วย” ปนิดากล่าว 

 


 

ปนิดาใช้พื้นที่บางส่วนในการเพิ่มรายได้จากการทำการท่องเที่ยวเชิงเกษตร และสร้างศูนย์การเรียนรู้สำหรับผู้ที่สนใจด้านการเกษตรแปรรูป และการสร้างอาชีพด้วยตนเอง รวมถึงนำเทคโนโลยีการรดน้ำผ่านโทรศัพท์มือถือมาช่วยลดภาระในการทำงานของเกษตรกรในชุมชน 

“เปิ้ลอยากเห็นชุมชนของเปิ้ล ทั้งเกษตรกรในกลุ่มและเกษตรกรที่ส่งวัตถุดิบให้กับกลุ่มเติบโตด้วยตนเองได้อย่างยั่งยืน เปิ้ลจึงหาหนทางพัฒนาธุรกิจให้ทุกฝ่ายสามารถสร้างรายได้อย่างมีประสิทธิภาพและหาเครื่องทุ่นแรงในการขนย้ายวัตถุดิบเพื่อร่นระยะเวลาและการใช้แรงงานในการผลิต จนมีหลายครั้งที่คนในกลุ่มเริ่มเป็นห่วงที่เราทำงานหนัก แต่สำหรับเปิ้ล นั่นคือกำลังใจที่ทำให้เราสู้ต่อไป” ปนิดากล่าว “เปิ้ลเชื่อว่าการทำงานแต่ละครั้งไม่ได้ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก และย่อมมีอุปสรรค แต่ทุกอย่างจะผ่านไปได้ถ้าเรายืนหยัดพร้อมสู้ และสร้างเส้นทางในแบบของเราเอง” 

จากการรับฟังความคิดเห็นของคนในกลุ่มแม่บ้าน ปนิดาจึงได้วางแผนธุรกิจที่จะต่อยอดการแปรรูปต้นกล้วยให้เป็นเสื้อผ้าและกระเป๋า สนับสนุนเกษตรกร โรงงานปั่นเส้นด้าย และวิศวกรสิ่งทอ ด้วยการจัดหาอุปกรณ์ผลิตสินค้าจากใยกล้วยได้แก่ เครื่องตีเส้นใยและกี่ทอผ้ามาให้สมาชิก โดยกำไรที่ได้จากการประกอบธุรกิจจะนำมาปันผลให้กับสมาชิกกลุ่ม  เก็บเป็นเงินทุน  และใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์

 

   
 

ด้วยความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ และความมุมานะที่จะพัฒนาชุมชนตามเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปนิดาได้รับรางวัลชนะเลิศจากโครงการ ‘ฟอร์ดเติมฝันเกษตรกรหญิงรุ่นใหม่’ ที่ฟอร์ด ประเทศไทยจัดขึ้นเพื่อสนับสนุนเกษตรกรคนรุ่นใหม่ จากการนำเสนอแผนการพัฒนาธุรกิจที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ โดยได้รับเงินทุนสนับสนุนจำนวน 100,000 บาท ซึ่งปนิดานำไปใช้จัดหาเครื่องทอผ้าจากใยกล้วย รวมถึงได้ทดลองขับฟอร์ด เรนเจอร์ FX4 Max เป็นเวลา 3 เดือน โดย ปนิดาได้นำมาใช้ทุ่นแรงในการขนย้ายวัตถุดิบ พร้อมขยายขีดความสามารถในการทำงานให้เกษตรกรที่ได้ร่วมพัฒนาชุมชนมาด้วยกัน 

“เปิ้ลรู้สึกประทับใจในระบบช่วยขับขี่ต่างๆ ของฟอร์ด เรนเจอร์ ที่ทำให้ขับรถได้สะดวกสบาย และมั่นใจในความปลอดภัยบนทุกเส้นทาง รวมถึงเรื่องการบรรทุกที่ทำให้เราขนสินค้าได้จำนวนมากและเดินทางไปในเป็นเส้นทางที่ยากลำบากได้อย่างง่ายดาย และยังมีเทคโนโลยีแจ้งเตือนสถานะการใช้งาน เช่น การแจ้งเตือนระดับน้ำมันเชื้อเพลิง ที่เอื้อประโยชน์ให้บริหารและจัดสรรเวลาการทำงานที่ต้องใช้รถได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แม้จะเป็นเพียงช่วงระยะเวลาไม่นาน แต่ฟอร์ด เรนเจอร์ ก็เข้ามามีส่วนช่วยส่งเสริมให้การดำเนินธุรกิจของชุมชนเติบโตขึ้นด้วยดี ต้องขอขอบคุณโครงการดีๆ ของฟอร์ด ประเทศไทย” ปนิดากล่าวเสริม
 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ