เมื่อ : 06 มี.ค. 2568 , 90 Views
สานพลังสู่ธนาคารอาหารแห่งชาติ: เวทีขับเคลื่อนมาตรการสนับสนุนบริจาคอาหารส่วนเกิน

(5 มีนาคม 2568) ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ - สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SOS) และเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน จัด “ประชุมกลุ่มย่อยผู้ประกอบการอาหารด้านมาตรการส่งเสริมการบริจาคอาหารส่วนเกิน (Food surplus) ของประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งธนาคารอาหารแห่งชาติของประเทศ (Thailand’s Food Bank)” เป็นเวทีนำเสนอมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการบริจาคอาหารให้แก่ผู้ประกอบการที่ผลิตอาหารและที่เกี่ยวข้องได้เข้าร่วมบริจาคอาหารส่วนเกินให้กับโครงการ ทั้งในส่วนของมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคมจาก BOI มาตรการลดก๊าซเรือนกระจกจาก อบก. และการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon emission) ให้กับผู้ประกอบการจากโปรแกรม ITAP เพื่อขยายผลการส่งต่ออาหารส่วนเกินให้เกิดขึ้นทั้งประเทศอย่างยั่งยืน รวมถึงเป็นเวทีระดมความคิดเห็นจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ต่อมาตรการส่งเสริมการบริจาคอาหารส่วนเกิน

 

ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีส่วนร่วมในการพัฒนาเครื่องมือภายใต้โครงการการจัดตั้งธนาคารอาหารแห่งชาติของประเทศ (Thailand’s Food Bank) ด้วยกัน 4 เรื่อง โดย 2 เรื่องแรกดำเนินการแล้วเสร็จคือ แนวปฏิบัติด้านความปลอดภัยของอาหารบริจาค (Safety Guidelines for Food Donation) โดยไบโอเทค และส่วนที่ 2 เป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับจับคู่ผู้บริจาคและผู้รับบริจาค โดยเนคเทค ส่วนอีก 2 เรื่องที่กำลังดำเนินการคือ การจัดทำข้อมูล

 

การลดการปล่อยคาร์บอนจากการบริจาคอาหาร เพื่อผลักดันและสนับสนุนมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) ใน 2 โครงการ คือ โครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme) หรือ LESS และโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) หรือ T-VER โดยเป้าหมายปลายทางเพื่อนำไปสู่การซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากการบริจาคอาหารได้ในอนาคต และเรื่องที่ 4 คือ การจัดทำข้อมูลเพื่อเสนอมาตรการส่งเสริมการบริจาคอาหารครอบคลุมทั้งสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีของผู้บริจาค และมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการบริจาคอาหารอย่างยั่งยืน

 

รศ.ดร.เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. กล่าวว่า เอ็มเทค เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการ Thailand’s Food Bank ในด้านการจัดเตรียมฐานข้อมูลพื้นฐาน สำหรับข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอาหาร ซึ่งข้อมูลส่วนนี้ทาง อบก. จะสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลเพื่อสนับสนุนมาตรการ LESS และ T-VER ต่อไป โดยโครงการจัดตั้งธนาคารอาหารนี้นับเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน และเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

 

การประชุมกลุ่มย่อยครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการสานพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อสร้างระบบและแนวทางการบริหารจัดการอาหารส่วนเกินของประเทศไทย ในที่ประชุมมีการนำเสนอมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการบริจาคอาหาร ประกอบด้วย มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคมของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) โดยคุณสาธาสินี คำไชย นักวิชาการส่งเสริมการลงทุนชำนาญการ ซึ่งได้ให้ข้อมูลขอบข่ายในการสนับสนุนที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ ได้แก่ ด้านเกษตรและระบบน้ำ ผลิตภัณฑ์ชุมชน สิ่งแวดล้อม ท่องเที่ยวชุมชน สาธารณสุข และการศึกษา