สถิติเผยคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งวันละ 227 คน โรช จับมือแพทย์-ผู้ป่วย และหน่วยงานสุขภาพ สู่สังคมไทยไร้มะเร็ง รับวันมะเร็งโลก 2025 - United by Unique
เนื่องในวันมะเร็งโลก 4 กุมภาพันธ์ 2568 ภายใต้ธีม United by Unique หรือ“ร่วมกันในเป้าหมาย แต่แตกต่างในความต้องการ” สะท้อนถึงแนวคิดที่ว่า แม้ทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากโรคมะเร็งจะมีความต้องการและประสบการณ์ที่แตกต่างกัน แต่กลับมีเป้าหมายร่วมกันในการลดภาระจากมะเร็ง ปรับปรุงผลลัพธ์การรักษา และมีคุณภาพชีวิตที่ดี วันมะเร็งโลกในปีนี้ให้ความสำคัญกับผู้คนในชุมชนก่อนที่พวกเขาจะกลายเป็นผู้ป่วย สอดคล้องกับหนึ่งในภารกิจของโรช ในฐานะบริษัทด้านไบโอเทคชั้นนำของโลก ที่มุ่งเน้นการดูแลและเชื่อมโยงผู้ป่วยกับผู้ให้บริการด้านสุขภาพและชุมชนต่าง ๆ ตั้งแต่การตรวจและการรักษาเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในทางบวกในวงกว้าง ผนึกกำลังกับบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย ชมรมผู้ป่วย รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง สู่เป้าหมายเดียวกันที่จะสร้างความตระหนักรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันและการรักษาโรคมะเร็งให้คนไทยห่างไกลจากโรคมะเร็ง
องค์การอนามัยโลก (WHO) คาดการณ์ว่า จำนวนผู้ป่วยมะเร็งทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 77 ภายใน 25 ปีข้างหน้า ในขณะที่ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติระบุว่า แต่ละปีมีคนไทยป่วยเป็นมะเร็งรายใหม่ประมาณ 140000 คน เสียชีวิตประมาณ 83000 คน เฉลี่ยคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งวันละ 227 คน โดยมะเร็งที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งเม็ดเลือดขาว
สำหรับประเทศไทยที่ปัจจุบันคนในหลายพื้นที่เผชิญกับปัญหาฝุ่น PM2.5 การตรวจคัดกรองมะเร็งปอดจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ เพราะมะเร็งปอดกำลังคร่าชีวิตคนไทยในอัตราที่น่าตกใจถึงวันละ 40 ราย สูงกว่าการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยพบผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ยวันละ 48 คน ส่วนใหญ่มาพบแพทย์ในระยะลุกลาม เนื่องจากอาการเริ่มต้นไม่ชัดเจน แม้ผู้สูบบุหรี่มีโอกาสพบมะเร็งปอดมากกว่าผู้ไม่สูบ 10 เท่าแต่มลพิษทางอากาศโดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
คำแนะนำจากแพทย์ การตรวจคัดกรองช่วยคนไทยห่างไกลโรคมะเร็ง
นายแพทย์ ยศวัจน์ รุ่งโรจน์วัฒนา อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยา คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กล่าวว่า “โรคมะเร็งปอดสามารถเกิดได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย แต่หากตรวจพบตั้งแต่ระยะแรก มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ การตรวจสุขภาพเป็นประจำและการคัดกรองมะเร็งปอด จึงมีความสำคัญ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีช่วยให้การตรวจคัดกรองมีความแม่นยำมากขึ้น เช่น การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ Low-dose CT Scan ทำให้สามารถวินิจฉัยโรคได้เร็วขึ้น เพิ่มโอกาสในการรักษา นอกจากนี้ ความก้าวหน้าด้าน Targeted Therapy (การรักษาแบบมุ่งเป้า) และ Immunotherapy (ภูมิคุ้มกันบำบัด) ยังช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดผลข้างเคียงจากเคมีบำบัด และช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”
โรคมะเร็งนอกจากทำลายสุขภาพของผู้ป่วยแล้ว โรคมะเร็งยังส่งผลกระทบต่อครอบครัวและคนใกล้ชิดของผู้ป่วยด้วย ดังนั้น การรักษามะเร็งในปัจจุบันจึงไม่ใช่แค่การรักษาโรค แต่ยังหมายถึงการที่คนใกล้ชิดมีความรู้สามารถช่วยดูแลคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในระยะยาวได้อย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ การตรวจคัดกรองด้วย Low Dose CT Scan ถือเป็นความหวังในการช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ถึงร้อยละ 20 เนื่องจากสามารถตรวจพบโรคได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น และมีโอกาสรักษาหายขาดสูงกว่ามาก
เสียงสะท้อน ข้อคิด และความหวัง จากผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด
จากประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด คุณนุช นางธิยารัตน์ ธนาจิรวรพัฒน์ กล่าวว่า “ดิฉันอยู่ในครอบครัวที่ไม่มีใครสูบบุหรี่เลย ก่อนตรวจเจอโรคมะเร็งปอด ด้วยวิชาชีพพยาบาลเป็นคนที่ดูแลคนอื่น ไม่ค่อยได้ดูแลตัวเอง มีความเครียดจากการทำงาน และพักผ่อนไม่เป็นเวลา การตรวจเจอมะเร็งทำให้กลับมาดูแลสุขภาพกายและใจของตัวเอง คิดบวก และปล่อยวางมากขึ้น หันกลับมาดูแลเรื่องอาหารการกิน และพักผ่อนอย่างเพียงพอ อยากฝากถึงทุกคนว่า ตอนนี้พวกเราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้เรามีโอกาสเป็นโรคเกี่ยวกับปอดมากขึ้น ดังนั้น ถ้าพบว่าตัวเองหรือคนในครอบครัวมีอาการผิดปกติ ให้รีบพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายทันที สิ่งสำคัญที่อยากให้ประเทศไทยมีคือ ระบบคัดกรองคนไข้ที่เข้าเกณฑ์เสี่ยงเป็นมะเร็งปอด เช่น คนอายุ 50 ปีขึ้นไป หรือมีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งปอด หรือมีอาการไอ น้ำหนักลด อยากให้คนกลุ่มนี้มีโอกาสได้ตรวจคัดกรองตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะหากตรวจพบโรคระยะแรกๆ ค่ารักษาจะลดลงมาก นอกจากนี้ เทคโนโลยีทางการแพทย์และยาในปัจจุบันก้าวหน้าไปมาก ช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวขึ้นด้วย”
เสียงจากคุณนก ศุภาทร กัลยาณสุต ผู้ช่วยแพทย์แผนไทย และเป็นประธานชมรมผู้ป่วยมะเร็งปอด ของ TCS และอยู่ร่วมกับโรคมะเร็งปอดในฐานะผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะ 4 ชนิด Non-small cell ปัจจุบันในวัย 56 ปีกำลังอยู่ระหว่างการรักษาด้วยยามุ่งเป้า หลังจากมะเร็งปอดกลับมาลุกลามอีกครั้ง นางศุภาทร เล่าว่า “ดิฉันเป็นคนที่ดูแลสุขภาพตัวเองดีมาตลอด ออกกำลังกายทุกวัน และตรวจสุขภาพประจำปีตามปกติ ดิฉันประเมินว่า ฝุ่นในอากาศอาจมีส่วนทำให้เป็นมะเร็ง เพราะดิฉันออกกำลังกายกลางแจ้งเป็นประจำ แม้ตอนนั้นยังไม่มีใครพูดถึง PM 2.5 ก็ตาม แต่ปัจจุบันกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลต่อสุขภาพของคนไทย ดังนั้น จึงอยากแนะนำให้ทุกคนสวมหน้ากากป้องกัน เมื่อต้องเผชิญกับฝุ่นจิ๋ว นอกจากนี้ อยากส่งเสริมให้ทุกคนตรวจสุขภาพประจำปีเป็นประจำ ส่วนผู้ป่วยมะเร็งก็อยากแนะนำว่า หากยังมีวิธีรักษา ก็ควรจะรักษา เพราะตอนนี้มียาที่มีประสิทธิภาพดี ควรทานอาหารให้หลากหลาย ออกกำลังกาย และที่สำคัญ คือ อย่าหมดกำลังใจ”
ภารกิจของโรช สอดคล้องกับคอนเซ็ปต์ United by Unique หรือ“ร่วมกันในเป้าหมาย แต่แตกต่างในความต้องการ” ของวันมะเร็งโลกในปีนี้ นายแมทธิว โคทส์ ผู้จัดการทั่วไป โรช ไทยแลนด์ เมียนมาร์ กัมพูชา และลาว กล่าวว่า “โรช มุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมการรักษาเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยทั่วโลกมาตลอด 129 ปี โดยในทศวรรษที่ผ่านมา เราได้ให้การรักษาผู้ป่วยชาวไทยไปแล้วกว่า 3 ล้านคน และมียาถึง 13 รายการในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วย พร้อมกันนี้ เรายังได้ดำเนินการวิจัยทางคลินิกในประเทศไทย โดยมีผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการกว่า 1300 คน และมีเงินลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนากว่า 600 ล้านบาท ที่สำคัญเรามีแผนเพิ่มการลงทุนด้านพัฒนางานพัฒนาและวิจัย (R&D) ร้อยละ 5 ในทุก ๆ ปี เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการแพทย์ที่จะเปลี่ยนชีวิตผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น" นายมิไฮ อีริเมสซู กรรมการผู้จัดการ โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า “การตรวจพบมะเร็งในระยะเริ่มต้นเป็นกุญแจสำคัญที่จะมอบโอกาสให้ผู้ป่วยหายขาด โรชมุ่งมั่นที่จะช่วยให้คนไทยเข้าใจความสำคัญของการตรวจคัดกรองตั้งแต่เนิ่น ๆ และใช้โอกาสนี้อย่างเต็มที่ การทำเช่นนี้ไม่ใช่แค่การป้องกันโรค หากแต่เป็นการลงทุนในคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสำหรับผู้คน และช่วยลดภาระจากโรค รวมถึงค่าใช้จ่ายทางสังคมและเศรษฐกิจสำหรับสังคมไทย ผู้ป่วยแต่ละคนมีความต้องการที่แตกต่างกัน และโรชมุ่งมั่นที่จะสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการเหล่านั้น เพื่อชีวิตที่ดีกว่าสำหรับทุกคน"
โรชเชื่อมั่นว่า ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนจะช่วยให้การดูแลผู้ป่วยมะเร็งมีความก้าวหน้า และภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาระบบสุขภาพในประเทศไทย
ทั้งนี้ การหลอมรวมพลังจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ เอกชน บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย และประชาชนคนไทย เป็นกุญแจสำคัญสู่ระบบสุขภาพที่เท่าเทียมและยั่งยืน เพราะแม้เราจะมีความต้องการและเส้นทางที่แตกต่างกัน แต่เราต่างมีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือ การสร้างอนาคตที่ทุกคนสามารถเข้าถึงการดูแลสุขภาพได้อย่างมีคุณภาพ United by Unique หรือ ’ร่วมกันในเป้าหมาย แต่แตกต่างในความต้องการ’